×

Tesla ทิ้งแผนตั้งโรงงานในไทย?

07.08.2024
  • LOADING...

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุม OPEC ที่สหรัฐอเมริกา และมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงาน Tesla

 

ซึ่งเศรษฐาได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารของ Tesla และได้ข้อสรุปว่า Tesla จะตัดสินใจลงทุนในไทยได้ในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยสื่อหลายสำนักรายงานข่าวตรงกันว่า Tesla ต้องการให้รัฐบาลปลดล็อก ‘เงื่อนไขพื้นที่ลงทุน’ ซึ่งต้องใช้พื้นที่ 2,000 ไร่ที่เป็นผืนเดียวกัน 

 

ทว่าเมื่อต้นสัปดาห์ก็มีกระแสข่าวว่า Tesla ได้พับแผนการลงทุนตั้งโรงงานในไทยไปแล้ว

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ล่าสุดวันนี้ (7 สิงหาคม) แหล่งข่าวระดับสูงในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากการที่เคยได้พูดคุยกับผู้บริหารของ Teslaก่อนหน้านี้ Teslaไม่เคยมีการพูดถึงแผนและไม่เคยแสดงความสนใจที่จะเข้าลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ ขณะเดียวกันส่วนตัวเข้าใจว่าปัจจุบัน Teslaยังไม่มีแผนลงทุนตั้งโรงงาน EV ในอาเซียนด้วยเช่นกัน

 

“เท่าที่ทราบข้อมูล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยเดินทางไปทาบทามให้ Teslaเข้ามาตั้งโรงงานผลิต EV ในไทย รวมถึงรัฐบาลของหลายประเทศก็พยายามจีบ Teslaให้มาลงทุนในประเทศของตัวเอง อาทิ อินโดนีเซีย ซึ่งถึงปัจจุบัน Teslaก็ไม่เคยออกมาประกาศว่ามีแผนจะลงทุนในไทยและอาเซียนเลย ซึ่งเท่าที่เคยคุยกับผู้บริหารของ Teslaก็ไม่เคยพูดถึงแผนการลงทุนตั้งโรงงาน EV ในไทยด้วย”

 

โดยช่วงที่ผ่านมาในปี 2565 Teslaได้จัดตั้งบริษัท เทสลา (ประเทศไทย) แต่บริษัทนี้ก็ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ EV กับธุรกิจสถานีชาร์จเป็นหลัก โดย Teslaไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เนื่องจาก Teslaนำเข้ารถมายังประเทศไทยจากต้นทางคือ Gigafactory Shanghai ประเทศจีน ซึ่งจีนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีน (FTA)

 

Tesla กำลังสูญเสียตลาดทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน

 

เมื่อดูสถานการณ์ตลาด EV ของ Teslaก็พบว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายของ Teslaเป็นอย่างมาก เพราะกำลังสูญเสียตลาดทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน นับตั้งแต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ยอดขายของ Teslaในสหรัฐอเมริกาลดลง 8% แย่กว่าตลาดยุโรปที่ลดลง 13%  

 

สาเหตุแรกๆ นอกจากเศรษฐกิจชะลอแล้ว หากดูราคาและรุ่นยังคงมีออปชันให้เลือกจำกัดและค่อนข้างเก่า โดยรุ่น Model 3 เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่เมื่อปีที่แล้ว ส่วน Model Y มีอายุ 5 ปี และ Model S ก็ตั้งแต่ปี 2553

 

บวกกับการแข่งขันก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรปที่ Teslaกำลังได้รับแรงกดดันจากแบรนด์เยอรมนีระดับพรีเมียมและการเข้ามาของ EV จีน เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ อย่าง Ford และ Rivian รวมทั้งแบรนด์สัญชาติเกาหลีใต้เองก็กำลังแข็งแกร่งในประเทศ ส่วนรถรุ่นใหม่ล่าสุดของ Teslaอย่าง Cybertruck ก็ยังไม่เป็นที่นิยมในแง่ของยอดขายในสหรัฐฯ ขณะนี้ก็ทำได้เพียง 11,300 คัน  

 

ส่วนยอดขายรวมเดือนเมษายน-มิถุนายนขายได้ 443,956 คัน ลดลง 4.8% จากยอดขาย 466,140 คันในช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

 

ขณะที่ตลาดจีน แม้ว่าปีที่ผ่านมา Teslaจะสามารถทำสงครามราคาในจีนได้ แต่วันนี้กลับไม่น่าดึงดูดอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากมีรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์อื่นเข้าสู่ตลาดมากขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศจีน ที่สำคัญแบรนด์คู่แข่งอย่าง BYD หรือแม้แต่ XPENG และ NIO ก็พัฒนารถยนต์ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยไม่หยุดและราคาไม่แพง

 

Teslaถูกกดดันหนักขึ้นจากหลายปัจจัยทั้งราคาและที่สำคัญคือ ‘สงครามการค้า’ ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จึงเห็นข่าวคราวการขยายธุรกิจและการมองหาฐานการผลิตนอกจีน พื้นที่เอเชียใต้ และอาเซียน ออกมาเป็นระยะ ส่งผลให้รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามสบช่องออกมาตรการดึงดูดให้ Teslaเข้ามาตั้งโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นอินเดียที่เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวลือว่า Teslaเตรียมจัดส่งทีมสำรวจประเมินความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามูลค่า 2-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอินเดีย

 

เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียที่พยายามจีบ อีลอน มัสก์

 

อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เพื่อนบ้านและคู่แข่ง EV

 

นับตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ขอให้ อีลอน มัสก์ สร้างโรงงาน EV ในอินโดนีเซีย ด้วยความพร้อมของแหล่งสำรองนิกเกิลและวัสดุอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ EV ครั้งนั้นมัสก์แสดงความสนใจที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับอินโดนีเซีย โดยยอมรับถึงศักยภาพตลาด

 

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ได้หารือเกี่ยวกับการลงทุนกับมัสก์ทางออนไลน์ในเดือนกรกฎาคม ปี 2566

 

รวมถึงนายกรัฐมนตรีของไทย เศรษฐา ทวีสิน ที่ได้พบกับมัสก์ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และในการประชุม OPEC มีการคาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนในไทยรวมอย่างน้อย 5 พันล้านดอลลาร์จากTesla 

 

เศรษฐามุ่งมั่นดึงดูดการลงทุน EV ต่อเนื่อง ทั้งค่ายรถ EV จีน และ Teslaซึ่งในแง่ของ Teslaรัฐบาลระบุว่า ประเทศไทยพร้อมรองรับคลื่นการลงทุนจากจุดแข็ง 2 เรื่อง คือ 

 

  1. อานิสงส์ของสงครามการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ไทยพร้อมเป็นหมุดหมายปลายทางบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต

 

  1. ไทยมีพลังงานที่พร้อม โดยเฉพาะพลังงานสะอาด ‘คือข้อได้เปรียบที่ไม่มีใครสู้ได้’

 

นอกจากนี้ EEC หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ก็เคยนำเสนอแพ็กเกจสูงสุดเพื่อดึงดูด Teslaเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีการลงทุนต่างๆ สูงสุด 15 ปี และยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ​ทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วน ให้วีซ่า​ระยะยาวในการพำนักในไทยสูงสุด​ 10 ปี​ทั้งในกลุ่มแรงงาน​และนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกันแพ็กเกจดังกล่าวจะเป็นแพ็กเกจพิเศษที่มากกว่า BOI ที่ยกเว้นภาษีการลงทุนสูงสุดที่ 8 ปี

 

รวมไปถึงการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Flat Rate) เหลือ 17% และปรับอัตราค่าเช่าพื้นที่สร้างโรงงาน คาดว่าจะให้เช่า​ได้สูงสุด​ 99 ปี

 

ทว่าปัจจุบันก็ยังไม่มีรายงานว่า Teslaจะมีแผนลงทุนในไทยอย่างไรต่อไป ส่วนยอดขายในไทยนั้น ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนอยู่ที่ 1,896 คัน ปรับตัวลดลงจากปีที่แล้ว 104% Teslaในไทยจึงมีเพียงความคืบหน้าของ Tesla Cybertruck รถกระบะไฟฟ้าล้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ได้เผยโฉมครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งยังไม่มีแผนวางจำหน่ายในประเทศไทย ณ เวลานี้ 

 

อย่างไรก็ตาม โรฮัน พาเทล ผู้บริหารระดับสูงของ Teslaกล่าวย้ำว่า Teslaยังให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มการเติบโตของ EV อย่างมาก บริษัทยังคงมองหาโอกาสขยายการลงทุน แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า Teslaจะเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานประเทศใด 

 

 

ชะลอแผนทั่วโลก จนกว่าจะรู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

ที่ผ่านมาบ่อยครั้งที่ อีลอน มัสก์ มักจะบอกว่า Teslaจำเป็นต้องมีโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่ง เพื่อกระจายสายป่านการผลิตและการขายรถยนต์ในระยะยาว รวมถึงเลี่ยงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 6 แห่ง โดยมีสหรัฐฯ 4 แห่ง, จีน 1 แห่ง และเยอรมนีอีก 1 แห่ง 

 

“เพราะการมีไข่ในตะกร้าใบเดียวหรือมีกำลังการผลิตที่มากเกินไปและขึ้นอยู่กับรัฐบาลเดียวไม่ใช่เรื่องดีนัก” 

 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Teslaจะมองหาโอกาสสร้างโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศอื่นๆ มากขึ้น  

 

แต่เวลานี้หากดูจากแถลงการณ์ของ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Teslaที่บอกกับนักลงทุนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า บริษัทจะชะลอการลงทุนในภาคเหนือของเม็กซิโก จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากภาษีศุลกากร หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้ง ก็มีผลต่อแผนกลยุทธ์ธุรกิจ ก็อาจสื่อได้ว่า อีลอน มัสก์ ต้องการชะลอการพิจารณาการลงทุนทั่วโลกในระยะนี้ออกไปก่อน จนกว่าจะได้รับทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X