×

กองทุน Thai ESG หนุนการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน

05.12.2023
  • LOADING...

ในปัจจุบัน การให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและการลงทุนของหลายๆ องค์กรไปแล้ว ซึ่งก็เป็นไปตามกระแสการตอบโจทย์ความท้าทายที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อนำพาธุรกิจและผลตอบแทนจากการลงทุนไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว 

 

สำหรับภาคการลงทุนของไทยนั้น เราได้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับประเด็น ESG ของทั้งหน่วยงานกำกับ ภาคเอกชน และผู้ลงทุน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง 

 

ในส่วนของหน่วยงานกำกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยแพร่ Thailand Taxonomy หรือมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระยะที่ 1 ออกมาเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เน้นใช้กับภาคพลังงานและขนส่งซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงก่อน และในอนาคตก็จะจัดทำ Taxonomy ที่ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น ด้วยความคาดหวังให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิง เพื่อกำหนดนโยบายและเป้าหมายการปรับตัวได้ชัดเจนขึ้น ขณะที่ธนาคารก็จะสามารถจัดสรรเงินทุนให้ได้ตรงจุดขึ้น 

 

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ THSI แสดงรายชื่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประเด็น ESG เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยในการจัดทำรายชื่อครั้งล่าสุดปี 2566 นี้ ตลท. ได้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก ‘รายชื่อหุ้นยั่งยืน’ เป็น ‘หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings’ เป็นปีแรก พร้อมยกระดับการประกาศผลประเมินในรูปแบบ Ratings ซึ่ง Ratings สูงสุด คือ AAA รองลงมา ได้แก่ AA, A และ BBB ตามลำดับ โดยมี 193 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับ SET ESG Ratings นอกจากนี้ ตลท. ยังนำผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ไปใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกสมาชิกในดัชนี SETESG เพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน และใช้ในการคัดเลือกรางวัล SET Awards กลุ่ม Sustainability Excellence เพื่อเฟ้นหาบริษัทจดทะเบียนต้นแบบด้านความยั่งยืนด้วย ขณะที่ภาคเอกชนในธุรกิจต่างๆ ทยอยประกาศจุดยืนการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประเด็น ESG อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อมาดูที่ภาคธนาคารก็พบว่า ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ด้าน ESG เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนเช่นกัน 

 

ล่าสุดก็มีข่าวดีจากภาครัฐ เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้อนุมัติมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) รวมทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ พร้อมๆ กับการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างเสถียรภาพให้ตลาดทุนไทย 

 

ใจความสำคัญของมาตรการนี้คือ ให้บุคคลธรรมดาที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือ Thai ESG) ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ (สำหรับเงินได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575) และกำหนดให้ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุน Thai ESG คืน มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีที่ถือหน่วยลงทุนนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน

 

SCB WEALTH มองว่า มาตรการทางภาษีนี้จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้ลงทุนเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มี ESG ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อไปยังภาคธุรกิจที่ต้องการระดมทุนให้ต้องเร่งปรับใช้แนวคิด ESG ในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อไม่ให้กลายเป็นบริษัทนอกสายตาของผู้ลงทุน ทั้งนี้ SCB WEALTH เองก็มีความพร้อมอย่างมากในการเป็นผู้สนับสนุนการขายกองทุน Thai ESG เพราะเรามองว่า นอกจากกองทุน Thai ESG จะทำให้นักลงทุนได้มีส่วนร่วมสร้างผลเชิงบวกต่อโลกแล้ว ยังมาพร้อมโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีด้วย 

 

นอกจากความพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการขายกองทุน Thai ESG แล้ว ทีมงานของ SCB WEALTH ก็ยืนหยัดในการนำประเด็น ESG มาใช้พิจารณาคัดกรองผลิตภัณฑ์การลงทุนโดยรวม ก่อนนำเสนอเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุน อย่างไรก็ตาม แม้ผลิตภัณฑ์จะผ่านการคัดกรองมาแล้ว แต่เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นว่ากำลังลงทุนในหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงประเด็น ESG อยู่ เราแนะนำให้ผู้ลงทุนติดตามและตรวจสอบข้อมูลการดำเนินการด้าน ESG ของบริษัทต่างๆ ที่ได้เข้าไปลงทุนเพิ่มเติมด้วยอีกทางหนึ่ง ทั้งจากรายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน รวมถึงเว็บไซต์ของบริษัทที่ได้เผยแพร่นโยบาย แนวทางการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้าน ESG รวมถึงข้อมูล ESG Rating ที่หน่วยงานภายนอกดำเนินการประเมินและเผยแพร่ไว้

 

ทั้งนี้ ประเด็นการดำเนินงานด้าน ESG ที่สำคัญที่อยากให้ผู้ลงทุนติดตามกันอย่างใกล้ชิดก็คือ การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพราะเป็นวาระเร่งด่วนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอยู่ และเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของเราและคนรุ่นต่อไป ถือเป็นประเด็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สามารถกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังผลตอบแทนการลงทุนได้ โดยระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ประจำปี 2566 หรือ COP28 ที่เอ็กซ์โปซิตี้ ดูไบ ซึ่งผมมองว่า ความคืบหน้าที่จะเกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้อาจมีผลต่อเนื่องมายังโลกการลงทุนนับจากนี้ด้วย ส่วนการประชุมจะเป็นอย่างไร และมีผลต่อการลงทุนเช่นไรบ้าง ผมก็จะมาอัปเดตกับท่านในอนาคต

 

หมายเหตุ: 

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุน Thai ESG กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษี จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน (และอาจมีเงินเพิ่ม) รวมถึงควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตนและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้ 
  • เงินลงทุนในกองทุน Thai ESG นำไปลดหย่อนภาษีได้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องเป็นไปตามกฎหมายและประกาศที่กำหนดโดยกรมสรรพากร 
  • สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising