รู้หรือไม่ว่า? ‘ไทยคว้าแชมป์ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก’ นี่คงจะเป็นการได้แชมป์ที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไร และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะสละตำแหน่งให้เร็วที่สุด ยิ่งได้ฟังข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ถึงปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในประเทศไทยมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี โฟมบรรจุอาหารประมาณ 6,758 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวน 9,750 ล้านใบต่อปี เมื่อไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล คำว่า ‘วิกฤต’ ดูจะเหมาะสมกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในตอนนี้ที่สุด
ถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่เราจะร่วมกัน ‘ตระหนัก’ ถึงปัญหาที่เร่งด่วนและใหญ่เกินกว่าแค่ใครคนใดคนหนึ่งจะลงมือทำ หากแต่ต้องร่วมมือกันจากทุกคน ทุกภาคส่วน ที่จะเริ่มคิดใหม่ ลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ดั่งเจตนารมณ์ของ เทสโก้ โลตัส ที่ต้องการจะลดผลกระทบจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง กลายเป็นที่มาของแนวคิด Rethinking Packaging ปรับแล้วเปลี่ยนกระบวนการตั้งแต่การออกแบบ การผลิต พฤติกรรมการใช้บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วนำกลับเข้าสู่ระบบปิด เพื่อรีไซเคิลอย่างถูกต้องผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง ใช้วัสดุที่เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณสมบัติที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
จริงๆ แล้วเจตนารมณ์ของ เทสโก้ โลตัส เรื่องการลดผลกระทบจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งดำเนินการมากว่า 10 ปี (โครงการงดให้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน เริ่มเมื่อปี 2010) เรียกว่าเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกเจ้าแรกเลยก็ว่าได้ที่ให้แต้มกับลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก เพียงแต่ในช่วงแรกที่เริ่มดำเนินการ กระแสการลดการใช้ถุงพลาสติกยังไม่จริงจังเท่ากับปีที่ผ่าน ข่าวสัตว์ทะเลตายจากถุงพลาสติกเริ่มกระตุ้นเตือนให้คนหันมาใส่ใจกับปัญหานี้มากขึ้น ประกอบกับภาคธุรกิจต่างๆ หันมาจับมือกันรณรงค์ให้ทุกวันที่ 4 ไม่แจกถุงพลาสติก เทสโก้ โลตัส เองก็ส่งคืนกำไรให้ลูกค้าเพิ่ม จากให้แต้ม 25 แต้ม เพิ่มเป็น 50 แต้มทุกครั้งที่ไม่รับถุง
ล่าสุด เทสโก้ โลตัส ใช้โอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด โดยเริ่มทยอยเปลี่ยนจากโฟมมาใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และจะยกเลิกบรรจุภัณฑ์โฟมทุกรูปแบบได้ 100% ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ พร้อมเปิดตัวหลายโครงการเพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียว (single-use packaging) และขยะพลาสติก ภายใต้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของเทสโก้ โลตัส ผ่านโครงการแบบครบวงจร และมุ่งสู่การสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ (closed loop packaging system) พร้อมจับมือพันธมิตรเพื่อขยายผล
สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจกรรมบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของทุกคน ประเทศไทยมีขยะที่ทิ้งลงทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ในฐานะผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีร้านค้ากว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ เทสโก้ โลตัส ตระหนักดีถึงบทบาทในการช่วยบรรเทาปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของการตั้งเจตนารมณ์ที่จะดูแลผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของเราเอง และช่วยลูกค้าให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย พัฒนากลายเป็นแนวคิด Rethinking Packaging คิดใหม่ ทำใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และการดำเนินงานที่ครอบคลุมตลอดทั้งวงจร ตั้งแต่กระบวนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การผลิต การบริโภค การนำกลับเข้าระบบ และกระบวนการรีไซเคิลที่ใช้คำว่า ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ เพราะเมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่าต่างคนต่างทำในเรื่องการทำงานของสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าต่างคนต่างทำมันก็ไม่ได้ผลที่ยั่งยืน โครงการนี้จึงจับมือกับหลายภาคส่วน และคิดใหม่ให้ครบวงจร คิดตั้งแต่ต้นทางคือการออกแบบ ไปจนถึงการลดการใช้คือกลางทาง พอใช้แล้วเก็บมารีไซเคิลเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ทรัพยากรที่เราใช้ไปมันกลับมาใช้ใหม่ได้ นั่นคือปลายทาง”
โครงการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ เทสโก้ โลตัส เปิดตัวในวันสิ่งแวดล้อมโลกนั้น ดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 3R ได้แก่ Redesign, Reduce และ Recover & Recycle
Redesign ออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อลดการใช้ทรัพยากร
เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% แทน หรือที่เรียกว่า ถาดเธอร์โมฟอร์ม (Thermoform) สำหรับใส่เนื้อสัตว์และผลไม้พร้อมทาน แทนถาดพลาสติกและฟิล์มแบบเก่า จะช่วยลดการใช้พลาสติกมากกว่า 400 ตันต่อปี เทียบเท่าขวดพลาสติก 600 มิลลิลิตร จำนวน 26.6 ล้านขวด
นอกจากนั้น เทสโก้ โลตัส ยังร่วมมือกับพันธมิตร SCG จัดตั้ง Green Corner จำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบรนด์ เฟสท์ (Fest) มีความปลอดภัย สามารถนำมาใส่อาหารได้โดยตรงโดยที่ไม่ต้องรองพลาสติก เพราะมีคุณสมบัติกันน้ำ มีหลายขนาด ตอบโจทย์ความต้องการ และเป็นทางเลือกที่จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการใช้โฟม ลดการใช้พลาสติก หันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่นำมารีไซเคิลได้ มีจำหน่ายที่ เทสโก้ โลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาทั่วประเทศ
Reduce ลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ใช่แค่ถุงพลาสติกเท่านั้น
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ลูกค้าและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เปลี่ยนสาขาให้เป็นร้านค้าปลอดถุงพลาสติก เริ่มจากร้านค้าเอ็กซ์เพรสที่ตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ปัจจุบันมี 5 สาขา และในเดือนกรกฎาคมนี้จะเพิ่มอีก 3 สาขาบนเกาะช้าง
ทุกวันที่ 4 ของทุกเดือน เทสโก้ โลตัส ทั้ง 2,000 สาขาทั่วประเทศ งดให้ถุงพลาสติก ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง พร้อมทั้งมอบแต้มคลับการ์ด 50 แต้มให้ทุกวันเมื่อไม่รับถุงพลาสติก เป็นการกระตุ้นเตือนให้ลูกค้ารู้ว่าต้องเริ่มนำถุงผ้ามาใส่สินค้า รวมถึงนโยบาย Bring Your Own Containers ให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่อาหารแทนการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาทิ มุมสลัดบาร์และแผนกเบเกอรี โดยพนักงานพร้อมให้บริการชั่งน้ำหนักภาชนะเปล่าและตัดน้ำหนักออก และในสาขาเอ็กซ์เพรสและศูนย์อาหาร หากนำแก้วมาใส่น้ำเองจะได้รับแต้มคลับการ์ด 50 แต้ม
Recover & Recycle นำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบปิดเพื่อนำไปรีไซเคิล
ปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส ติดตั้งเครื่องรีไซเคิล Reverse Vending Machine หรือเครื่องรีไซเคิลขวดพลาสติกและกระป๋องกระจายตามสาขาต่างๆ จำนวน 10 เครื่อง เพื่อให้ลูกค้านำขวดพลาสติกและกระป๋องอะลูมิเนียมมารีไซเคิลได้ที่ตู้ จะได้รับแต้มคลับการ์ด 25 แต้ม จากนั้น SCG จะนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วผลิตเป็นถุงช้อปปิ้งให้ลูกค้านำกลับมาใช้แทนถุงพลาสติก ตามแนวคิดแบบครบวงจรและมุ่งสู่การสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ (closed loop packaging system)
ไม่เพียงเท่านั้น เทสโก้ โลตัส และ SCG ยังร่วมมือกันในการหมุนเวียนกระดาษ ถุงพลาสติก นำมารีไซเคิลใหม่กลายเป็นถุงกระดาษช้อปปิ้งของเทสโก้ โลตัส
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ เทสโก้ โลตัส ได้เริ่มทำเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมของเรา และนับจากนี้ไป เทสโก้ โลตัส ยังคงเดินหน้าเพื่อผลักดันนโยบายและโครงการต่างๆ ในอนาคต รวมถึงขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อลูกหลานและอนาคตที่ดีของทุกชีวิต
“เราทำในสิ่งที่เราทำได้ แต่การที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ต้องอาศัยทุกภาคส่วนจริงๆ นอกจากผู้ประกอบการอย่างเราแล้ว ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเองก็ต้องร่วมมือกันด้วย” สลิลลา กล่าวทิ้งท้าย “ปรับเปลี่ยนทีละนิด ทำสะสมคนละหน่อยก็ช่วยโลกได้แล้ว เราเริ่มแล้ว และอยากให้ทุกคนมาเริ่มกับเราในการคิดใหม่ ทำใหม่ และใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่เป็นของเราไปพร้อมกัน”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า