เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ‘เทสโก้ โลตัส’ เป็นเหมือนลูกที่ขายไปฝากให้คนอื่นเลี้ยงตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง Tesco จึงมีสถานะเหมือนพ่อเลี้ยง ที่วันนี้นึกอยากเปลี่ยนเกมแล้วขายลูกกลับคืนให้พ่อที่แท้จริง
เส้นทางชีวิตของพ่อเลี้ยงอย่าง Tesco น่าสนใจมาก หลังจากขยายตัวอย่างรวดเร็วสู่ตลาดเอเชีย สหรัฐอเมริกา และยุโรปในช่วงปี 90 Tesco ยอมทิ้งความทะเยอทะยานในต่างประเทศเพื่อกลับมาเน้นการต่อสู้ที่บ้านเกิดในสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะการแข่งขันกับคู่แข่งดาวรุ่งที่เน้นขายสินค้าราคาประหยัดเพื่อดึงดูดประชาชนชาวอังกฤษ
นักสังเกตการณ์บางสำนักยังวิเคราะห์ว่า ห้างซูเปอร์มาร์เก็ตของสหราชอาณาจักรมียอดขายเติบโตสูงสุดในรอบหลายปี เพราะราคาสินค้าที่สูงขึ้น ผลจากอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนลงภายหลังจากภาวะ Brexit
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า Tesco เป็นองค์กรที่มีศักยภาพระดับทองแท้ หรือคือทองปลอมที่ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง
ขายธุรกิจอุตลุด
หากมองข้ามประวัติศาสตร์ 122 ปี หลังจาก แจ็ค โคเฮน ก่อตั้ง Tesco จนมีรายได้ 4 ปอนด์ในวันแรก มาเป็นบริษัทที่มีรายได้มากกว่า 2 ล้านล้านบาท ภาพจำที่เด่นที่สุดของ Tesco ยุคใหม่คือการตัดสินใจกลับบ้านเกิด หลังจากขยายตัวอย่างรวดเร็วสู่ตลาดเอเชีย สหรัฐอเมริกา และยุโรปในปี 90
Tesco ตัดสินใจขายแบรนด์ Fresh & Easy ธุรกิจใหม่ในสหรัฐอเมริกาทิ้งในปี 2013 โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทำให้ Tesco มองว่าควรม้วนเสื่อออกไปก่อนจะเจ็บหนักกว่านี้
หลังจากนั้น Tesco ก็ประกาศถอนตัวจากจีน เพราะล้มเหลวในการเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีนเช่นกัน
การขายนี้เกิดขึ้นก่อนจุดหักเหใหญ่ของบริษัทในปี 2014 ปีนั้นคือปีมหาวิปโยคที่กลุ่ม Tesco ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการจากสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (Serious Fraud Office) ข้อหาหลักคือ Tesco แสดงบัญชีไม่ตรงกับการดำเนินการจริง การแต่งบัญชีให้สวยผิดธรรมชาติทำให้หุ้นของกลุ่ม Tesco ลดลงจนขาดทุน 3.1 แสนล้านบาทในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังเกิดเรื่อง
เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่ม Tesco จึงตัดสินใจขายกิจการในหลายประเทศ รวมถึงประเทศมาเลเซีย และ เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย เพื่อนำเงินไปชำระหนี้สินและพยุงสถานะทางการเงินของกลุ่มบริษัท
Photo: ฐานิส สุดโต / THE STANDARD
อย่างไรก็ตาม เวลานั้นกลุ่ม Tesco กลับเปลี่ยนใจปฏิเสธการขายกิจการในไทยและมาเลเซีย เนื่องจากเป็นฐานรายได้หลักนอกประเทศอังกฤษของกลุ่ม Tesco บนจำนวนสาขารวม 2 ประเทศ 2,000 แห่ง และพนักงาน 60,000 คน สัดส่วนรายได้ 13% ของกำไร Tesco
เวลานั้น Tesco เปิดตัวแผนกู้วิกฤตบริษัทเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในสหราชอาณาจักร ขณะเดียวกันก็เทขายธุรกิจในเกาหลีใต้ด้วยมูลค่า 4.2 พันล้านปอนด์ในปี 2015
สำหรับการขายธุรกิจในไทยและมาเลเซียรอบนี้ เดฟ ลูอิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Tesco ระบุว่า “ดีลนี้จะทำให้ Tesco ก้าวไปข้างหน้าและโฟกัสธุรกิจหลักได้ง่ายขึ้น” เพราะการเหลือสาขาในสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และยุโรปกลางเท่านั้น (โปแลนด์และฮังการี) จะทำให้สามารถลดหนี้และเพิ่มความคล่องตัว ทำให้สามารถเทสมาธิบริหารงานในพื้นที่ไข่แดงของบริษัทได้แข็งแกร่งขึ้น
แต่ดีลนี้ปรากฏขึ้นในวันที่ซีอีโอลูอิสเตรียมลงจากตำแหน่งในปีนี้ โดยจะมีการตรวจสอบบัญชี Tesco ครั้งใหญ่ย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ลูอิสรับผิดชอบบริษัท เวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ลูอิสผ่าตัด Tesco ด้วยการปรับโครงสร้าง ตัดทิ้งงานหลายพันตำแหน่งเพื่อลดต้นทุน ร่วมกับการควบรวมกิจการกับ Booker ผู้ค้าส่งในประเทศ
จนทำให้ลูอิสได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำให้ Tesco ทำกำไรได้อีกครั้งหลังจากเข้ารับตำแหน่งในปี 2014 โดยเปลี่ยนจากการขาดทุน 6.4 พันล้านปอนด์ในปี 2014 เป็นกำไร 2 พันล้านปอนด์ในปี 2019
เดฟ ลูอิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Tesco ผู้พลิกธุรกิจให้กลับมาฟื้นอีกครั้ง
สารพันปัญหา Tesco
แม้จะเห็นกำไรแล้ว แต่นักลงทุนมอง Tesco ว่าเป็นองค์กรปัญหาเยอะ เนื่องจากการใช้เงินมหาศาลกับการเปิดร้านซูเปอร์มาร์เก็ตใหม่ที่อังกฤษและพื้นที่อื่น ซึ่งผลตอบแทนกลับไม่ได้หวือหวาพอจะทำให้ผู้คนชื่นชมว่าการลงทุนนั้นยอดเยี่ยม
ปัญหาของ Tesco ยังมีประเด็นการแข่งขัน แรงกดดันจากคู่แข่งในตลาดค้าปลีกสะท้อนว่า Tesco มีจุดอ่อนไม่น้อยที่ต้องแก้ไขให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปัญหาต่อมาคือพฤติกรรมลูกค้าที่เคยเป็นตัวชูโรงให้ Tesco มีรายได้เพิ่มขึ้นมาหลายสิบปี แต่สัญญาณล่าสุดสะท้อนว่ายุคทองของซูเปอร์มาร์เก็ตร้านใหญ่กำลังหมดลง
ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายประจำจากการเปิดร้านซูเปอร์มาร์เก็ตยังทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของ Tesco ไม่เติบโตเท่าที่ควร วันนี้ผู้คนยังสงสัยว่า แท้จริงแล้ว Tesco ทำเงินรายได้เท่าใด กลายเป็นประเด็นไม่เชื่อใจที่ต่อเนื่องจากการปกปิดบัญชีในปี 2014
ยังมีตัวเลขกระแสเงินสดที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน สะท้อนความหนี้ท่วมของบริษัท ทั้งที่เป็นหนี้ใหญ่และหนี้แฝง
เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ Tesco มีทางออก 3 ทาง เริ่มจากต้องหยุดภาวะยอดขายและกำไรขาลง และพยายามดันตัวเลข 2 ขาให้เติบโตอีกครั้ง นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนกำไรให้เป็นกระแสเงินสดที่คล่องกว่านี้ ที่สำคัญต้องไม่ลืมชำระหนี้ ซึ่งถ้า 3 ส่วนนี้สำเร็จ Tesco จึงจะถูกจัดเข้าทำเนียบ ‘แข็งแรงอย่างยั่งยืน’
3 สิ่งที่ Tesco ต้องทำให้ได้
สิ่งแรกคือการหยุดภาวะยอดขายและกำไรขาลง สามารถทำได้เมื่อ Tesco เป็นบริษัท Sales-led หรือบริษัทที่เติบโตด้วยยอดขาย มากกว่าการเป็นบริษัทที่เติบโตได้เพราะการลดค่าใช้จ่าย การจะทำโจทย์ข้อนี้ให้ได้นั้น Tesco ต้องกลับมาชนะใจลูกค้าเก่าที่ตอนนี้หันไปซื้อสินค้ากับร้านอื่น
3-4 ปีก่อน Tesco มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 30% ในตลาดของชำอังกฤษ แต่แล้วก็เสียส่วนแบ่งให้กับคู่แข่งที่จำหน่ายสินค้าราคาต่ำกว่าอย่าง Aldi และ Lidi ดาวรุ่งจากเยอรมนีที่ร้อนแรงมากจนเพิ่มยอดขายต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009
กำไรที่เพิ่มขึ้นบนโครงสร้างบริษัทที่ไม่ซับซ้อน ทำให้ Aldi ผงาดจนโดดเด่นกว่าบริษัทผู้ให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ 4 รายในตลาดเมืองผู้ดี ทำให้นักลงทุนมองว่าผู้เล่นรายใหม่อย่าง Aldi มีศักยภาพดีกว่าเพราะมีหนี้น้อยกว่าและมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่าในอนาคต
เดิมพันที่ 2 ที่ Tesco ต้องทำให้ได้คือ การสร้างกระแสเงินสดให้คล่องตัวขึ้น จิ๊กซอว์ตัวนี้ดูจะเข้าคู่กันกับดีลขายโลตัสกลับคืนให้ CP ซึ่งจะเป็นยาแรงที่ทำให้ Tesco หายใจคล่องขึ้น อย่างไรก็ตาม ยานี้ต้องกินคู่กับการปรับพฤติกรรมที่ Tesco จะต้องลดการลงทุนลง แนวโน้มนี้เห็นชัดว่า Tesco รู้ดีและพยายามตัดภาระรอบตัวทิ้งไปเพื่อให้ตัวเองลงทุนน้อยที่สุด
ดีลขายโลตัสกลับคืนให้ CP จะช่วยให้ Tesco ชำระหนี้ได้เร็วเหมือนเมื่อครั้งขายธุรกิจในเกาหลีใต้ นอกจากนี้นักวิเคราะห์บางรายยังมองว่า Tesco อาจจะขายทิ้งธุรกิจอื่นในยุโรปอีกก็ได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดหนี้ได้ชัดเจน
Photo: ฐานิส สุดโต / THE STANDARD
อย่างไรก็ตาม Tesco เป็นบริษัทที่มีหนี้แฝงจากสัญญาการเช่าระยะยาวในพื้นที่ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งทั่วอังกฤษ ซึ่งยังเป็นความท้าทาย เพราะการลดหนี้กลุ่มนี้ต้องใช้เงินและพลังมากกว่า เพราะจัดการได้ยากกว่าหนี้ทั่วไป
สิ่งที่ยังรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ คือการฟื้นตัวระยะยาวจนทำให้ราคาหุ้น Tesco กลับมาสดใสอีกครั้ง ประเด็นนี้หลายฝ่ายลุ้นกันมาก โดยเฉพาะเมื่อ Tesco ต้องพบกับนายใหม่อย่าง เคน เมอร์ฟี ตัวเต็งผู้รับไม้ต่อจากซีอีโอคนปัจจุบัน
เมอร์ฟีมีดีกรีเป็นมือดีของบริษัทค้าปลีกสินค้าสุขภาพและความงามอย่าง Boots ความจริงนี้ทำให้เมอร์ฟีมีภาพผู้เชี่ยวชาญงานค้าปลีกที่เข้าใจการลดต้นทุน
แต่ความท้าทายคือ เมอร์ฟีจะต้องใช้ทักษะในการกระตุ้นยอดขายออร์แกนิกในยุคที่ฝืดเคืองกว่ายุคของลูอิส และเกมการตัดราคานั้นจะเข้มข้นขึ้นอีกเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์เกิน 122 ปีของ Tesco
122 ปีจากดินสู่ดาว
จุดเริ่มต้นของ Tesco นั้นเกิดขึ้นเมื่อ 122 ปีก่อน ผู้ก่อตั้ง Tesco อย่างโคเฮนนั้นเริ่มเปิดร้านชำเมื่อปี 1919 ด้วยเงินปลดประจำการหลังจากสิ้นสงคราม 30 ปอนด์จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โคเฮนเป็นบุคคลที่มีเลือดผู้ประกอบการเต็มตัว เพราะแม้จะอายุมากและสุขภาพไม่ดี แต่โคเฮนก็ยังไปเยี่ยมดูร้านค้าในรถโรลส์-รอยซ์ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 1979 เมื่ออายุ 81 ปี
แบรนด์ Tesco นั้นเกิดในปี 1924 เมื่อโคเฮนได้พบกับ T.E. Stockwell หุ้นส่วนในธุรกิจใบชา เวลานั้นโคเฮนซื้อใบชามากกว่า 500 หีบ แล้วตั้งชื่อแบรนด์ว่า Tesco Tea กลายเป็นชื่อแบรนด์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการช้อปปิ้งในสหราชอาณาจักรอย่างชัดเจน
ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา Tesco รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจและสงครามด้วยหลักการ ‘กองสินค้าให้มากแล้วขายในราคาถูก’ Tesco ยังเจาะตลาดที่เศรษฐกิจไม่ดีด้วยการเริ่มผลิตสินค้าแบรนด์ Tesco ทำให้บริษัทสามารถลดราคาให้ต่ำลงโดยยังมีกำไร
ดาวรุ่งอย่าง Tesco เตะตานักลงทุนในยุคนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย แม้แต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็เคยซื้อหุ้นของ Tesco เช่นกัน แต่เมื่อเกิดวิกฤตปี 2014 เจ้าพ่อหุ้นอย่างบัฟเฟตต์ก็ยังไม่ทน และตัดสินใจเทขายหุ้น Tesco ทิ้งกว่า 245 ล้านหุ้นในเวลานั้นเพราะผิดหวังในผลประกอบการ และการตกแต่งบัญชีของบริษัทที่มีผู้บริหารระดับสูงมีส่วนรู้เห็น
จากราคาหุ้น Tesco ที่ตกลงมาเกือบ 50% ในปีเดียว ซีอีโอคนปัจจุบันอย่างลูอิสคือคนที่เข้ามากอบกู้บริษัทขึ้นจากเหว การสูญเสียลูอิสจึงถูกประเมินว่าเป็นเรื่องใหญ่ของ Tesco เพราะแม้จะประเมินได้ยากว่าลูอิสมีอิมแพ็กต่อ Tesco มากขนาดไหน แต่การที่ลูอิสสามารถพลิกผลประกอบการขาดทุนยับเยินมาเป็นกำไรได้นั้นถือว่าเป็นผลงานที่หลายคนยอมรับ
สิ่งที่ Tesco ต้องพิสูจน์ให้ได้ในช่วง 100 ปีนับจากนี้คือ ชีวิตเหลือเชื่อของตัวเองไม่ใช่ภาพลวงตา แต่เป็นการฟื้นตัวจากโคม่าได้ยั่งยืนของจริง
รู้หรือไม่:
- ห้างซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ 4 อันดับ หรือ ‘Big Four’ ของอังกฤษ ได้แก่ Tesco, Sainsbury’s, Asda และ Morrisons โดยห้างทั้ง 4 มีส่วนแบ่งตลาด 69.3% ในปี 2017 ลดลงจาก 76.3% เมื่อ 5 ปีก่อน มีการคาดการณ์ว่าส่วนแบ่งตลาดของห้างทั้ง 4 จะลดลงอีกในระยะเวลาอันใกล้ ขณะที่ห้างขายสินค้าราคาถูก เช่น Aldi และ Lidl จะมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น
- ภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินปอนด์ที่อ่อนลงภายหลังจาก Brexit ทำให้มีการประเมินว่าผู้บริโภคอังกฤษจะต้องจับจ่ายสินค้าแพงขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 138 ปอนด์ต่อปีทีเดียว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.sharescope.co.uk/philoakley_article55.jsp
- https://www.investorschronicle.co.uk/comment/2019/04/16/tesco-recovery-has-gone-well-but-is-it-sustainable/
- https://www.bbc.com/news/business-49905470
- https://www.businessinsider.com/timeline-the-rise-and-fall-of-tesco-2015-4
- https://www.longtunman.com/9516
- https://www.bbc.com/news/business-49903696
- https://www.hackneygazette.co.uk/news/well-street-traders-say-tesco-failed-to-install-promised-jack-cohen-plaque-1-6453131
- https://www.thisismoney.co.uk/money/markets/article-7287195/The-spirit-Jack-Cohen-reigns-supreme-Tesco-says-boss-Dave-Lewis.html
- https://www.thejc.com/lifestyle/features/tesco-s-100th-birthday-jack-cohen-remembered-1.483941