โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ คือสุดยอดตำนานตลอดกาลของวงการเทนนิสที่แม้จะอำลาชีวิตการเป็นนักกีฬาอาชีพไปแล้วร่วม 2 ปี (ในวันที่แฟนเทนนิสทั่วโลกเสียน้ำตามากที่สุดวันหนึ่ง) แต่ก็ยังคงได้รับเชิญให้มาปรากฏตัวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนเสมอ
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเฟเดอเรอร์ได้รับเกียรติสูงสุดจากมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธที่มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตในสาขา Doctor of Humane Letters Degree ให้แก่นักเทนนิสชาวสวิตเซอร์แลนด์ผู้ทำความดีความงามมากมายตลอดชีวิต
และในโอกาสนี้เอง ‘ดร.โรเจอร์’ ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่น่าประทับใจให้แก่เหล่าบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธจำนวนกว่า 11,000 คน
เฟเดอเรอร์เรียกวิชาของเขาว่า ‘Tennis Lessons’ และผมขออนุญาตเอามาฝากคุณผู้อ่านทุกคนในวันนี้ครับ
แต่ก่อนจะเริ่มตำนานนักเทนนิสเจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 20 สมัย เล่าในช่วงแรกของการขึ้นกล่าวว่า ตลอดชีวิตของเขาเคยขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยมาเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ดังนั้นเขารู้สึกตื่นเต้นมาก
ส่วนการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในชีวิตของเขาเกิดขึ้นตอนที่เขาอายุได้เพียง 17 ปี ซึ่งเป็นการกล่าวในแคมป์เทนนิสทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์
ในตอนนั้นเขาพูดได้เพียงแค่ 4 คำเท่านั้น
“Happy-to-be-here”
ผมมีความสุขที่ได้อยู่ที่นี่
มาถึงวันนี้ เวลาผ่านมา 25 ปี เขาพูดได้ยาวขึ้นนิดหน่อย
“ผมมีความสุขที่ได้อยู่ที่ตรงนี้! ได้อยู่กับพวกคุณทุกคน บนสนามหญ้าสีเขียวแห่งนี้ ทุกคนคงรู้ว่าคอร์ตหญ้าคือสนามโปรดสำหรับผม”
สำหรับเหตุผลที่ได้มาอยู่ที่ตรงนี้นั้น ไม่ได้มาเพราะ Beer Pong (เกมยอดนิยมของชาวดาร์ตมัธ) แต่เป็นเพราะ โทนี ก็อดสติก ที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่ในปี 1993 ซึ่งเป็นทั้งหุ้นส่วนทางธุรกิจ เป็นเอเจนต์ส่วนตัวให้เขา เป็นหนึ่งในเพื่อนที่เฟเดอเรอร์สนิทที่สุด
และที่สำคัญที่สุดคือเขาเป็นพ่อที่กำลังภูมิในใจความสำเร็จของอิซาเบลลา ที่สำเร็จการศึกษาที่ดาร์ตมัธในปีนี้ และนั่นเป็นกุญแจนำทางให้เฟเดอเรอร์ได้รับปริญญาที่นี่ ได้กลายเป็น ‘ดร.โรเจอร์’ ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์นิดๆ หน่อยๆ ให้ทุกคนได้ฟัง
เขาขอเรียกมันว่า Tennis Lessons ที่กลั่นจากประสบการณ์ชั่วชีวิตของเขา และหวังว่ามันจะเป็นประโยชน์กับทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่ได้มาฟังอยู่ที่ดาร์ตมัธในเวลานี้เท่านั้น
1. “ไม่ต้องพยายาม” แปลว่ายิ่งต้องพยายาม
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เฟเดอเรอร์เป็นนักเทนนิสที่เป็นขวัญใจของแฟนๆ ทั่วโลกนั้น ไม่ได้มาจากเรื่องของความสำเร็จเพียงอย่างเดียว
แต่มาจากลีลา ท่วงท่าในการเล่นของเขาที่เนี้ยบทุกจังหวะ และเล่นทุกช็อตได้แบบแทบไม่ต้องพยายาม
“Effortless is a myth”
เฟดเอ็กซ์บอกว่าความจริงแล้วกว่าที่จะดูเหมือนไม่ต้องพยายามนั้น เบื้องหลังแล้วเขาต้องพยายามอย่างหนักมาก (และทำให้หงุดหงิดเวลาใครบอกว่าเขาแทบไม่เสียเหงื่อในการเล่นเหมือนไม่ต้องพยายาม) ใช้เวลาหลายปีในการทุ่มเท เสียหยาดเหงื่อและน้ำตา ขว้างปาแร็กเก็ตทิ้งไปไม่รู้กี่ครั้ง เพื่อแลกมาเพื่อการเรียนรู้ถึงสิ่งที่สำคัญ
สิ่งนั้นคือการรักษาความเยือกเย็น
เพราะในช่วงวัยรุ่นนั้นเฟเดอเรอร์เป็นนักเทนนิสที่อารมณ์พลุ่งพล่านอย่างน่ากลัว แต่เขามารู้ตัวและได้สติในการแข่งเทนนิสรายการอิตาเลียนโอเพน เมื่อถูกคู่แข่งตั้งคำถามถึงการควบคุมสภาพจิตใจ โดยบอกว่า “โรเจอร์จะเป็นตัวเต็งสำหรับช่วง 2 ชั่วโมงแรก แต่ผมจะเป็นตัวเต็งหลังจากนั้น”
คำพูดนี้เขาฟังไม่เข้าใจในทีแรก แต่มาพบคำตอบของปริศนาธรรมเวอร์ชันเทนนิสในเวลาต่อมาถึงสิ่งที่คู่แข่งพยายามบอกคือ ใน 2 ชั่วโมงแรกของการแข่งทุกคนจะเล่นได้ดี ยังฟิต ยังเร็ว ยังอ่านเกมได้ชัดเจน แต่ผ่าน 2 ชั่วโมงไปแล้วขาจะเริ่มล้า จิตใจจะไม่นิ่ง และวินัยในการเล่นก็จะเริ่มตกลง
มันทำให้เขาเข้าใจว่า เขายังต้องฝึกฝนตัวเองอีกมาก พร้อมสำหรับการเดินทางในเส้นทางสายนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีคนบอกเขามาหลายคนทั้งพ่อแม่ โค้ช โค้ชฟิตเนส ที่พูดถึงเรื่องของการควบคุมจิตใจ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ชัดเจนของเฟเดอเรอร์
ตอนนี้เขารู้แล้วว่าพรสวรรค์อย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งที่จะทำให้เขาไปได้ไกลคือความทุ่มเท และการซ้อมอย่างหนักที่ซ่อนอยู่หลังฉากนั้น ทำให้เขาพบกับชัยชนะด้วยลีลาการเล่นที่ดูเหมือนแทบไม่ต้องพยายามอะไร
ทั้งๆ ที่ความจริงพยายามแทบตาย
ในชีวิตการเรียนก็เช่นกัน เราอาจสงสัยว่าทำไมเพื่อนคนนี้ได้ ‘A’ ง่ายจัง ส่วนเราทำไม่ได้ แต่ในช่วงกลางคืนเราออกไปเที่ยว เช้าตื่นมาอัดกาแฟ แล้วก็นั่งเครียดว่าทำไมเราถึงทำไม่ได้แบบนั้น
ความจริงแล้วคนที่ทำได้เขาก็พยายามอย่างหนักเช่นกัน
และถ้าเขาพยายามได้ เราก็พยายามได้ ขอแค่มีความเชื่อในตัวเอง
แต่ทำอย่างไรถึงจะเชื่อในตัวเองได้? ความเชื่อเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ได้มาเพียงแค่พูดหรือคิด แต่ต้องลงมือทำเพื่อให้คู่ควรที่จะได้มา
ครั้งหนึ่งเฟเดอเรอร์ลงเล่นในรายการ ‘เอทีพีไฟนอลส์’ ในปี 2003 ซึ่งเป็นรายการที่คัดตัวท็อปของโลกมา 8 คนเพื่อแข่งขันกัน ซึ่งเป็นรายการที่เขาได้ทดสอบขีดความสามารถของตัวเอง
ก่อนนั้นเขาจะวางกลยุทธ์ในการแข่งด้วยการเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับจุดแข็งของคู่แข่ง แต่ในรายการนั้นเฟเดอเรอร์ตั้งใจมาจากบ้านแล้วว่า คนไหนตีโฟร์แฮนด์เก่งเขาจะตีสู้ คนไหนแบ็กแฮนด์เก่งเขาจะสู้ ใครตีจากเบสไลน์เก่งเจอกันหน่อย ใครชอบเล่นสไตล์บุกดุดันเจอกันได้ ใครเทพหน้าเน็ตขอวัดหน่อย
จริงๆ เขาไม่ต้องทำแบบนั้นก็ได้ แต่การทำแบบนั้นเป็นการพยายามทดสอบตัวเอง ทดสอบความแข็งแกร่งของตัวเอง ปรับจูนการเล่นและเพิ่มทางเลือกในการเล่น
รายการนั้นทำให้เฟเดอเรอร์พบว่าตัวของเขาเองมีขีดความสามารถมากกว่าที่เขาเคยคิด และวิธีที่จะเอาชนะไม่ได้มีแค่แบบเดียว
ต่อให้ร่างใกล้จะแหลก มันจะมีสักทางที่เขาหาทางเอาชนะคู่แข่งได้เสมอ และชัยชนะในวันที่ยากลำบากที่สุดคือชัยชนะที่น่าภาคภูมิใจที่สุด
เทนนิสก็เหมือนชีวิต
เขาไม่เถียงเลยถ้าใครจะบอกพรสวรรค์ (Gift) สำคัญ
แต่ความอดทน (Grit) ก็สำคัญ
พรสวรรค์ไม่ได้หมายถึงแค่คนที่ตีโฟร์แฮนด์หนักหรือเสิร์ฟแรงเหมือนจรวดเท่านั้น
การมีวินัย การเชื่อใจตัวเอง การยินดีที่จะค่อยๆ เรียนรู้และเติบโต การจัดการชีวิต การจัดการตัวเอง สิ่งเหล่านี้ก็นับเป็นพรสวรรค์เช่นกัน
สำหรับคนที่เรียนจบที่ดาร์ตมัธ (หรือที่ไหนก็ตาม) ถ้าใครเขาจะมองว่าจบจากที่นี่แล้วชีวิตทุกอย่างเลยง่าย
ปล่อยให้เขาเชื่อแบบนั้นต่อไป ตราบใดที่ใจเรารู้ว่าเราพยายามสักแค่ไหนถึงจะมีวันนี้
2. แค่แต้มเดียว
แต่ในชีวิตของเฟเดอเรอร์เขาไม่ได้เป็นผู้ชนะเสมอไป
มันมีวันที่พยายามถึงที่สุดแล้ว…แต่ก็ยังแพ้
เทนนิสเป็นกีฬาที่โหดร้าย ทุกรายการมีตอนจบเหมือนกันหมดคือ มีคนหนึ่งที่ได้แชมป์ ส่วนคนที่เหลือนั่งเครื่องบินกลับบ้าน นั่งมองหน้าต่างแล้วคิดว่า “พลาดช็อตนั้นไปได้ไงนะ”
ดังนั้นเขาจึงพยายามอย่างหนัก ‘ที่จะไม่แพ้’ แต่เพราะไม่มีใครไม่เคยแพ้ และบางครั้งก็เป็นการแพ้ที่เจ็บปวดมาก
ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเฟเดอเรอร์ คือการแพ้ให้แก่ ราฟาเอล นาดาล ในนัดชิงวิมเบิลดัน ในปี 2008 ซึ่งเป็นแมตช์ที่ได้รับการยกย่องว่า “เป็นหนึ่งในแมตช์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล”
แต่มันจะยอดเยี่ยมแค่ไหน ก็ไม่มีอะไรดีเท่ากับการที่เป็นผู้ชนะแล้วได้แชมป์
วิมเบิลดันคือที่สุดของเทนนิส การเดินลงเซ็นเตอร์คอร์ตเหมือนการไปมหาวิหาร ในปีนั้นเฟเดอเรอร์กำลังลุ้นทำสถิติคว้าแชมป์ติดต่อกัน 6 ปี ซึ่งไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน แต่บทสรุปสุดท้ายก็เป็นอย่างที่ทุกคนรู้ ทั้งคู่แข่งกันยาวนานเกือบ 5 ชั่วโมง ตลอด 7 เซ็ต
ทุกคนอาจจดจำช่วงท้ายที่เป็นการตัดสินเกม แต่สำหรับเฟเดอเรอร์แล้ววันนั้นเขาแพ้ตั้งแต่แต้มแรก
ก่อนหน้านั้น ‘เฟด vs. นาดาล’ ไปแล้วในรายการเฟรนช์โอเพน ซึ่งคู่แข่งแห่งชีวิตเอาชนะเขาได้อย่างง่ายดาย และทำให้เขาเริ่มคิดว่านาดาลมีความกระหายในชัยชนะมากกว่าเขา และในนัดชิงวิมเบิลดันปีนั้นกระทิงหนุ่มชาวสเปนได้ 2 เซ็ตแรกไป
จนเซ็ตที่ 3 เฟเดอเรอร์ถึงเริ่มคิดได้ว่า “นี่เราก็แชมป์ 5 สมัย เล่นบนคอร์ตหญ้าของโปรดด้วย”
แต่มันสายเกินไป สุดท้ายนาดาลได้แชมป์ เฟเดอเรอร์เจ็บปวดเพราะเขาไม่ได้เสียแค่แชมป์ แต่เสียโอกาสจะสร้างประวัติศาสตร์ที่เขารู้ดีว่าคงไม่มีอีกแล้วในชีวิตนี้ (ซึ่งก็ไม่มีจริงๆ) และเสียตำแหน่งมือ 1 ของโลกด้วย
แต่เฟเดอเรอร์รู้ว่าสิ่งที่เขาต้องทำคือพยายามต่อไป สุดท้ายก็กลายเป็นคู่แข่งที่ผลัดกันช่วงชิงความเป็นหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ยุคสมัย
ทีนี้มาถึงเรื่องสำคัญ
ตลอดชีวิตการเล่นเฟเดอเรอร์ลงแข่งมาแล้ว 1,526 ครั้ง เขาชนะเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ แต่คำถามคือ เขาได้แต้มเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์ในวันที่ชนะ?
คำตอบคือแค่ 54% หรือพูดง่ายๆ คือนักเทนนิสในระดับสูงสุดเองก็ได้แต้มแค่เกินครึ่งมานิดเดียว ห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบมาก แต่ตรงนี้แหละที่สำคัญ
อย่าฝังใจกับแต้มใดแต้มหนึ่ง
ต่อให้เขาจะตีช็อตมหัศจรรย์เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมทั้งสนามได้ มันก็เป็นเพียงแค่แต้มเดียว (It’s only a point)
หรือต่อให้เขาพลาดง่ายๆ หมูหกแค่ไหน “มันก็เป็นเพียงแค่แต้มเดียว”
นั่นไม่ได้หมายความว่าแต่ละแต้มไม่สำคัญ ในทางตรงกันข้ามทุกแต้มสำคัญที่สุด เพียงแต่ถ้ามันไม่เป็นอย่างที่คิด อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ต้องปล่อยให้มันผ่านไป เพราะถ้าไม่อย่างนั้นเราจะคิดวนอยู่กับความผิดพลาด และทำให้ไม่มีสมาธิสำหรับแต้มต่อไป
แต้มข้างหน้าสำคัญกว่าแต้มที่ผ่านไปแล้วเสมอ
ในชีวิตก็เช่นกัน มันอาจมีวันที่เราแพ้ มีวันที่ชนะ ชีวิตมีขึ้นมีลง ความเสียใจ การสงสัยในตัวเองเป็นเรื่องธรรมชาติ เพียงแต่คนอื่นๆ เขาก็เป็นเหมือนกับเรานี่แหละ
พลังงานในแง่ลบคือพลังงานที่เปล่าประโยชน์ อย่าเก็บไว้กับตัว
คนที่เก่งที่สุดในโลกนั้นเขาไม่ได้เก่งเพราะเขาชนะในทุกแต้ม แต่เพราะเขารู้ว่าในเวลาที่แพ้ ครั้งแล้วครั้งเล่า เขาจะจัดการรับมือกับมันได้อย่างไร ยอมรับมันอย่างไร ปล่อยความรู้สึกผ่านน้ำตาอย่างไรเพื่อจะได้ยิ้มออก
ผ่านแล้วผ่านไป จงเป็นคนที่ลุกขึ้นใหม่ได้เสมอ ปรับตัวและเติบโต ทุ่มเทและพยายามทำงานอย่างฉลาด
นั่นคือสิ่งที่อยู่ในหัวและหัวใจของ ‘แชมเปียน’
3. ชีวิตยิ่งใหญ่กว่าแค่ในคอร์ต
คอร์ตเทนนิสเป็นพื้นที่เล็กๆ แค่ 2,106 ตารางฟุต ขนาดพอๆ กับห้องนอนในหอที่ดาร์ตมัธนี่แหละ
แต่เฟเดอเรอร์ก็วิ่งในพื้นที่เล็กๆ นี้มาไม่รู้ระยะทางเท่าไรแล้ว
ถึงจะวิ่งมาไกลแค่ไหน ระยะทางก็คงไม่ได้ไกลจนวนรอบโลกได้ โลกใบนี้ยิ่งใหญ่กว่ามาก ซึ่งในวันที่เขาเริ่มค้นพบความจริงในเรื่องนี้ เขาก็รู้ได้ทันทีว่าถึงเทนนิสจะทำให้เขาได้เห็นโลก แต่เทนนิสไม่อาจเป็นโลกทั้งใบของเขา
ดังนั้นถึงจะเต็มที่กับการซ้อมและการแข่งแค่ไหน ตลอดชีวิตการเป็นนักเทนนิสที่ยืนยาวถึงอายุ 41 ปี เฟเดอเรอร์ไม่เคยลืมที่จะ ‘ใช้ชีวิต’ ด้วย
เขาให้รางวัลชีวิตตัวเองด้วยการท่องเที่ยว เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ พบเจอเพื่อนใหม่ ให้เวลากับครอบครัว แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่เคยลืมรากเหง้าของตัวเอง ไม่เคยลืมว่าเป็นใครมาจากไหน
หนุ่มน้อย โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ออกผจญภัยในโลกกว้างตั้งแต่อายุ 14 ปี ไปเก็บตัวเรียนวิชาเทนนิสก่อนเทิร์นโปรในภูมิภาคส่วนที่เป็นฝรั่งเศสของสวิตเซอร์แลนด์ คิดถึงบ้านใจแทบขาดแต่ก็เรียนรู้ที่จะรักกับชีวิตที่ต้องเดินทาง
เขาตื่นเต้นกับการได้ท่องโลกเสมอ แต่ไม่ใช่แค่ในแบบของนักท่องเที่ยว เขาได้เรียนรู้ว่าคนอย่างเขาจะสามารถช่วยเหลือผู้คนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารับมาจากคุณแม่ที่เป็นชาวแอฟริกาใต้ ทำให้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือคนที่ยากไร้ในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีเด็กๆ กว่า 75% ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา
เฟเดอเรอร์ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่อายุ 22 ปี
ดังนั้นนอกจากการเดินทางไปแข่งขัน เฟเดอเรอร์ใช้เวลาในการเดินทางไปเพื่อช่วยเหลือผู้คนด้วย
ยิ่งเดินทางมากเท่าไร เขาก็รู้ว่าโลกใบนี้ใหญ่กว่าคอร์ตเทนนิสแค่ไหน (Life is bigger than the court)
การได้นั่งเล่านิทานให้เด็กๆ ฟังในภาษาเลโซโท (ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา)
การอธิบายว่าเทนนิสเขาเล่นอย่างไรให้เด็กๆ ในชนบทของแซมเบียฟัง หลังจากที่ถามเด็กๆ ว่ารู้จักเทนนิสไหมแล้วได้คำตอบว่า “ที่ตีลูกบอลบนโต๊ะใช่ไหม”
นี่คือช่วงเวลาที่ล้ำค่าและสอนอะไรหลายอย่างให้กับเฟเดอเรอร์
ดังนั้นในขณะที่เราใช้ชีวิตบนเส้นทางของเราเอง ในเวลาเดียวกันเมื่อพร้อม เราสามารถที่จะอุทิศเวลา พลัง และความคิด ในการทำอะไรสักอย่างที่มีความหมายมากกว่าแค่ตัวเราเองได้
เพราะชีวิตจริงๆ นั้นยิ่งใหญ่กว่าแค่ในคอร์ตมากนัก
คนที่เรียนที่ดาร์ตมัธทุกคนมีวิชาเอกที่ศึกษาอย่างลงลึก แต่ในเวลาเดียวกันเราก็เรียนรู้ได้กว้างไกลกว่านั้นด้วย
วิศวกรก็สามารถเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ นักกีฬาร้องเพลงแบบอะแคปเปลลา (ร้องประสานเสียงโดยไม่ใช้เครื่องดนตรี) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อาจเรียนภาษาเยอรมัน
เราเป็นได้มากกว่าที่เราคิด และเราให้อะไรกับโลกใบนี้ได้มากกว่านั้น
ครั้งหนึ่งโค้ชทีมอเมริกันฟุตบอลในตำนานของดาร์ตมัธ บัดดี ทีเวนส์ เคยหานักกีฬาเข้าทีมด้วยการบอกกับพ่อแม่ผู้ปกครองว่า
“ลูกชายของคุณจะเป็นนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ในเวลาแข่ง เป็นนักเรียนที่ยอดเยี่ยมในเวลาเรียน แต่จะเป็นคนที่ดีตลอดไป”
ก่อนที่เฟเดอเรอร์จะอวยพรนักศึกษาทุกคนเป็นการปิดท้าย
“ไม่ว่าจะเลือกเล่นเกมแบบไหน ขอให้ทำอย่างดีที่สุด
“เล่นเต็มที่ เล่นอย่างมีอิสระ พยายามทำทุกอย่าง
“และเหนืออื่นใด จงอ่อนโยนต่อผู้อื่น
“ขอให้สนุกในโลกกว้าง!”
อ้างอิง:
- ขอบคุณคุณลุงทอมมีที่ช่วยเนรมิตสนามหญ้าสีเขียวขจีได้ทันเวลาพอดี!
View this post on Instagram