เข้าใจคอนเซปต์โดยรวม แต่เข้าไม่ถึงเนื้อหาและรายละเอียดระหว่างทาง
น่าจะเป็นสิ่งที่สรุปความรู้สึกโดยรวมหลังจากดู Tenet ผลงานเรื่องล่าสุดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน รอบแรกได้ดีที่สุดสำหรับเรา เพราะเหมือนเป็นการเข้าไปดูภาพรวม ตื่นตาตื่นใจกับการดีไซน์ฉากแอ็กชันที่ใช้ลูกเล่นของ ‘เวลา’ มาเป็นเครื่องมือ แต่เราไม่สามารถอธิบายได้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
Tenet ว่าด้วยภารกิจสำคัญของสายลับนิรนาม (จอห์น เดวิด วอชิงตัน) กับปรากฏการณ์ Time Invertion ที่สามารถควบคุมการ ‘ไหลกลับ’ ของ Entropy (ค่าความยุ่งเหยิงของสรรพสิ่งบนโลกที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าตลอดเวลา) จนสามารถเชื่อมโยงเวลาระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งเป็นกลไกที่มีคนต้องการใช้ทำลายมนุษยชาติ และฝั่งพระเอกต้องใช้กลไกเดียวกันหยุดยั้งให้ได้
ไม่ใช่แค่ตัวละครในเรื่องที่ใช้ปรากฏการณ์ Time Invertion ปฏิบัติภารกิจ แต่เป็นตัวโนแลนที่ใช้เงื่อนเรื่องการไหลกลับมาเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง และเล่นงานคนดูจนอยู่หมัดด้วยฉากแอ็กชันเท่ๆ ไอเดียล้ำ บางฉากถึงกับอ้าปากค้าง แต่ได้แค่ตื่นตาตื่นใจ เพราะสุดท้ายเราแทบไม่เข้าใจอะไรเลยว่าความน่าตื่นตาตื่นใจเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
โดยเฉพาะช่วงที่ปฏิบัติภารกิจแบบ ‘คู่ขนาน’ ระหว่างการไหลกลับ ที่ตัวละครมากมาย (แถมยังใส่หน้ากาก) ตัดสลับภาพไปมา จนไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใครเป็นคนทำ อยู่ในช่วงเวลาไหน ต่อให้พยายามจดจ่อมากเท่าไร ก็ยังตามตัวละครเหล่านั้นไปปฏิบัติภารกิจไม่ได้อยู่ดี รู้ตัวอีกที ตู้ม ระเบิด เท่ ตื่นเต้น แล้วกลับมางงต่ออีกรอบ
ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่า Tenet เป็นหนังที่ไม่ดี เรายังรู้สึกว่านี่คืออีกหนึ่งเรื่องที่ดีมากๆ ทั้งของโนแลนและวงการภาพยนตร์ อย่างน้อยก็ในแง่ความตื่นตาตื่นใจ เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการดูหนัง และมีแค่ไม่กี่คนในวงการภาพยนตร์ที่บ้า กล้า และเก่งมากพอที่จะทำออกมาได้ขนาดนี้
เพียงแต่ในครั้งนี้โนแลนอาจจะ ‘เล่นแรง’ และหนักข้อไปหน่อย ถ้าเป็นหนัง High Concept เรื่องอื่นๆ ผู้กำกับอาจใจดี พยายามย่อยเรื่องให้คนดูเข้าใจได้บ้าง แต่เราไม่รู้สึกถึงความพยายามนั้นจาก Tenet ที่ถ้าไม่นับการอธิบายสั้นๆ ในบางช่วง เราก็แทบสัมผัสไม่ได้ถึงความไม่ประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น
ราวกับว่ามีเพียงแค่โนแลนและ ‘ตัวละคร’ ทั้งหมดในเรื่องเท่านั้นที่คุยกันรู้เรื่อง คนดูเป็นแค่คนที่สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ถ้าใครไม่เข้าใจจะไม่มีการขยายความช่วยเหลือ เป็นหน้าที่ของคนดูเองด้วยซ้ำที่ต้องตั้งใจ หาความรู้ หาข้อมูลเพิ่มเติมจากทุกที่ เพื่อที่จะพูดคุยและฟังพวกเขารู้เรื่อง ก่อนที่จะกลับเข้าไปดู Tenet อีกรอบ
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ อาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร โพสต์ความรู้สึกหลังดูเอาไว้ว่า “คุณเรียกตัวเองว่าดูหนังเรื่อง Tenet แล้วไม่ได้จนกว่าคุณจะได้ดูมันอีกรอบ” และเรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ
ผ่านไปสองวันหลังดูรอบแรกจบ และได้ลองเสิร์ชหาข้อมูลทฤษฎีเกี่ยวกับเวลาเพิ่ม และอ่านบทสนทนาของคนที่ได้ดูแล้วมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าแต่ละฉากเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำให้เรายังพอเชื่อได้ว่าเราจะสามารถทำความเข้าใจลูกเล่นเกี่ยวกับ ‘เวลา’ ในการดูครั้งที่สอง สาม สี่ ห้า หรือรอบใดรอบหนึ่งได้ในที่สุด
รวมทั้งเรื่องความรู้สึกของตัวละครในเรื่องที่เราแอบรู้สึกว่าถูกเทคนิคและวิธีการเล่าเรื่องที่โนแลนให้ความสำคัญมากๆ มาแย่งความโดดเด่นไปหมด จนรู้สึกว่า Tenet เป็นหนังที่ค่อนข้างแห้งแล้งในเรื่องมิติและความสัมพันธ์ของตัวละคร ไม่เหมือนกับตอนดู Inception หรือ Interstellar ที่รู้สึกอยากเอาใจช่วยมากกว่านี้
ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่เราจะค้นพบได้จากการดูซ้ำในรอบต่อๆ ไป แล้วถึงจะกลับมาได้อีกครั้งว่า Tenet คือหนังที่เราชอบจริงๆ
รับชมตัวอย่างภาพยนตร์ Tenet ได้ที่
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า