ลองนึกภาพแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์ที่ราคาสินค้าต่ำมากจนดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ลูกค้าสามารถค้นหาทุกอย่างตั้งแต่เสื้อผ้าแฟชั่นไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นักช้อปจะได้รับประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ให้ความรู้สึกสนุกเหมือนเล่นเกม นี่ไม่ใช่แค่ภาพฝัน แต่เป็น Temu ปรากฏการณ์อีคอมเมิร์ซที่กำลังจะสร้างกระแสในตลาดไทย
Temuถือกำเนิดมาจากการแข่งขันสุดหฤโหดในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซจีน โดยเป็นบริษัทที่แยกตัวจาก Pinduoduo (PDD) ซึ่งเป็นบริษัทที่กล้าท้าทายยักษ์ใหญ่เช่น Alibaba ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ปัจจุบัน Temuพร้อมแล้วที่จะนำโมเดลที่ปฏิวัติวงการมาสู่ผู้บริโภคชาวไทย และส่งสัญญาณที่ทำให้หลายๆ คนในโลกธุรกิจต้องเฝ้าระวัง
ท่ามกลางความน่าเกรงขามของ Temuที่อาจเป็นเรื่องที่หลายคนรู้แล้ว คำแนะนำที่คนทำธุรกิจในไทยต้องใส่ใจเพื่อรับมือกับ Temuนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องขยายให้ชัดเจน ซึ่งจากการวิเคราะห์ เราพบว่าพ่อค้าจีนมีจุดเด่นต่างจากพ่อค้าชาติอื่นเรื่องมุมมองการทำ ‘โปรโมชัน’ โดยเฉพาะการจัดเต็มที่มักไม่ค่อยมีเงื่อนไขหยุมหยิม เพื่อดึงกองทัพผู้คนให้เข้าร้านแบบพายุ
นี่เองอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ Temuต่างจากแอปซื้อขายสินค้าออนไลน์ทั่วไป ที่การหมุนวงล้อมักจะมอบรางวัลที่ไม่ดึงดูดใจมากพอ แต่สำหรับแอป Temuแล้ว การหมุนวงล้อมักจะได้รับรางวัลที่ดีที่สุดเสมอ
เมื่อเราโชคดีตลอดเวลา เราจึงช้อปกระจาย
สูตรลับของ Temuในการปฏิวัติโลกค้าปลีก คือโมเดลธุรกิจที่เน้นมอบ ‘ดีลที่ดูดีมาก’ ให้นักช้อปรู้สึกถึงความโชคดีอยู่ตลอดเวลา จนนำไปสู่การช้อปกระจาย ซึ่งจากการศึกษาในฐานะคนนอก พบว่าหัวใจสำคัญของความสำเร็จ Temuคือ 4 แนวคิดต่อไปนี้ที่ผลักดันให้มูลค่าตลาดของ PDD ต้นสังกัดของ Temuสามารถแซงหน้าของ Alibaba และขึ้นเป็นบริษัทจีนที่มีมูลค่าสูงสุดที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา
แนวคิดแรกคือการตั้งราคาขายให้ได้ต่ำที่สุด สิ่งที่ Temuทำมาแล้วในประเทศอื่นๆ คือการตัดคนกลางออก ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมต่อกับผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งหมายความว่าราคาบน Temuมีโอกาสทำให้นักช้อปตาโตได้มาก
แนวคิดที่ 2 คือการช้อปปิ้งแบบเล่นเกม เห็นได้จากการที่ Temuเลือกเดินตามบริษัทแม่ เพื่อเปลี่ยนการช้อปปิ้งให้กลายเป็นเกมที่ผู้ใช้สามารถรับส่วนลดได้โดยการเชิญเพื่อนหรือเข้าร่วม การขายแบบแฟลชเซลส์ และทำให้การตามหาส่วนลดเป็นเรื่องสนุกน่าติดตาม
แนวคิดที่ 3 คือการขับเคลื่อนด้วย AI เพราะแอปของ PDD จะเรียนรู้ความชอบของลูกค้า และแสดงให้ลูกค้าเห็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มที่จะซื้อ ก่อนที่ใครจะรู้ว่ากำลังต้องการสินค้านั้น
และแนวคิดที่ 4 คือการตลาดเชิงรุก เห็นได้จากการที่ Temuไม่ลังเลที่จะทุ่มเงินจำนวนมากในการโฆษณา โดยมักจะโฆษณาบนโซเชียลมีเดียและเสนอส่วนลดสุดคุ้มให้กับผู้ใช้รายใหม่
ทั้ง 4 แนวคิดนี้คือฐานที่ทำให้ PDD สร้างความมั่งคั่งตลอดปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด ‘โคลิน หวง’ (Colin Huang) ผู้ก่อตั้ง PDD กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 2 ในจีนด้วยทรัพย์สินสุทธิ 52,300 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2023)
อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดนั้นมาพร้อมกับต้นทุนการตลาดที่สูงขึ้น โดยสถิติตัวเลขการใช้จ่ายด้านการตลาดของ Temuคาดว่าจะอยู่ที่ 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2023
เฉพาะตลาดแดนลุงแซม รายงานระบุว่าการใช้จ่ายด้านโฆษณาของ Temuในสหรัฐฯ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 เติบโตขึ้น 15 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คาดว่าเป็นการใช้จ่ายโฆษณาผ่าน Meta (ต้นสังกัด Facebook) ประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 โดยค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาดรวมของ PDD เพิ่มขึ้น 50% ต่อปีเป็น 26,640 ล้านหยวน
การขยายตัวของ Temuนี้เกิดขึ้นในเวลาที่สถิติการเติบโตของ PDD พุ่งทะยาน ก่อนหน้านี้ PDD ใช้เวลาเพียง 2 ปีหลังจากก่อตั้ง และทำยอดขายทะลุ 100,000 ล้านหยวนต่อปี (13,900 ล้านดอลลาร์) ได้ในปี 2017 โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงปี 2018 เพียง 4 ปีหลังจากการ IPO ของ Alibaba
รายได้ของ PDD ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2023) อยู่ที่ 88,880 ล้านหยวน (12,350 ล้านดอลลาร์) สำหรับ Temuรายงานล่าสุดพบว่าตั้งเป้าเพิ่มยอดขายอีก 3 เท่า เป็น 60,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลกในปี 2024
จากสหรัฐฯ สู่ไทย Temu ไม่ใช่คู่เทียบ Shopee
Temuเปิดตัวครั้งแรกในสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน 2022 และสร้างแรงกระเพื่อมถึงเจ้าตลาดในถิ่นทันที ภายในไม่กี่เดือน Temuกลายเป็นแอปช้อปปิ้งที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุด ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ เช่น Amazon ต้องตั้งใจแข่งอย่างจริงจังกว่าเดิม
ในเวลานั้นข้อมูลอินไซต์เรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ในไตรมาส 3 ปี 2022 พบว่าชาวเน็ตใช้เวลาเฉลี่ยบน Temuและ SHEIN นานกว่าบน Amazon ในสหรัฐฯ ถึง 30% โดยสถิติล่าสุดชี้ว่าฐานผู้ใช้ Temในสหรัฐฯ นั้นมีผู้ใช้รายเดือนที่ใช้งานจริง 63.7 ล้านคน (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2023) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว Amazon มีผู้ใช้รายเดือนที่ใช้งานจริงประมาณ 300 ล้านคนในสหรัฐฯ ในเดือนนั้น
ตั้งแต่นั้นมา Temuขยายกิจการไปยังกว่า 45 ประเทศภายในเวลาเพียง 1 ปีหลังจากเปิดตัว ปัจจุบันดำเนินการใน 51 ตลาดทั่วโลก โดยทุกตลาดจะทำตามสูตรราคาต่ำสุดและจัดเต็มประสบการณ์การช้อปปิ้งที่น่าดึงดูดใจสไตล์ Temuซึ่งขณะนี้เมื่อ Temuก้าวเข้าสู่ตลาดประเทศไทย ธุรกิจจึงได้รับคำเตือนให้รับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งกลุ่มผู้ขายออนไลน์รายย่อยไปจนถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ที่ครองพื้นที่อยู่
แม้ Temuจะดูเหมือนกำลังแข่งขันโดยตรงกับ Shopee, Lazada, SHEIN และอีกหลายแอปอีคอมเมิร์ซในตลาดไทย แต่ความต่างคือ Temuจะเน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตในจีน เป็นการเชื่อมโยงผู้บริโภคกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีประสบการณ์ในการจัดหาสินค้าให้กับแบรนด์ชั้นนำ ซึ่งจะสามารถขายตรงถึงผู้บริโภคผ่าน Temuได้
สิ่งนี้ทำให้ Temuไม่ใช่คู่แข่งของ Shopee โดยตรง เนื่องจาก Shopee เน้นผสมผสานระหว่างสินค้าจากผู้ขายรายบุคคล ธุรกิจขนาดเล็ก และแบรนด์ใหญ่ แต่ Temuเน้นทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตเป็นหลัก และแทนที่จะเก็บเหรียญหรือเข้าเช็กอินรายวัน ประสบการณ์การช้อปปิ้งกึ่งเกมของ Temuจะเน้นการแชร์บนโซเชียลเพื่อรับส่วนลด ทำให้ Temu อาจดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ไวต่อราคาและมองหาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ซ้ำใคร
นอกเหนือจากการเป็นแพลตฟอร์มการขายแล้ว Temuยังมีโมเดลธุรกิจที่ช่วยให้ซัพพลายเออร์สามารถปรับปรุงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค Temuจะช่วยให้ซัพพลายเออร์สามารถตอบสนองความต้องการและสร้างผลิตภัณฑ์ยอดนิยมในราคาที่เอื้อมถึงได้สำหรับการผลิตในอนาคต
ใครบ้างนั่งไม่ติด
โมเดลการทำธุรกิจของ Temuที่เกิดในต่างประเทศซึ่งกำลังขยายเข้ามาที่ไทยกำลังทำให้กลุ่มผู้ค้าปลีกรู้สึกว่านั่งไม่ติดและไม่สามารถเพิกเฉยต่อการมาของ Temuได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงได้รับผลจากแรงกดดันด้านราคา
เนื่องจากราคาจำหน่ายที่ต่ำของ Temuอาจบังคับให้ผู้ค้าปลีกรายอื่นต้องลดอัตรากำไรหรือเสี่ยงต่อการสูญเสียลูกค้า ผลจากความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และนักช้อปชาวไทยอาจเริ่มคาดหวังกับราคาและข้อเสนอระดับ Temuจากผู้ค้าปลีกทุกราย
นอกจากนี้ ผู้ที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการยิงแอดโฆษณาออนไลน์อาจพบว่าต้นทุนการโฆษณาอาจมีราคาแพงขึ้นในขณะที่ Temuเร่งทำการตลาด ขณะเดียวกันบางธุรกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากโมเดลการขายตรงจากผู้ผลิตของTemu อาจหยุดชะงักห่วงโซ่อุปทานแบบดั้งเดิมได้
แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะการมาถึงของ Temuยังนำมาซึ่งโอกาสอย่างน้อย 4 กลุ่ม กลุ่มแรกที่เห็นชัดที่สุดคือผู้บริโภคที่จะมีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้นในราคาที่ถูกกว่า กลุ่มที่ 2 คือผู้ผลิต เนื่องจากผู้ผลิตจะมีช่องทางใหม่ในการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง กลุ่มที่ 3 คือธุรกิจที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ซึ่งจะมีโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและค้นหาวิธีใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากกว่าแค่ราคาที่ถูกกว่า
และกลุ่มที่ 4 คือภาพรวมระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซของไทย เพราะ Temuคือตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นยอดสำหรับการปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมในหลายด้าน คาดว่าการเปิดตัวของ Temuในไทยจะทำให้ภูมิทัศน์ของอีคอมเมิร์ซในไทยเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ นักช้อปที่ชาญฉลาด หรือเพียงแค่ผู้ที่สนใจอนาคตของการค้าปลีก
ท่าไหนใช้สู้ได้
ผู้ประกอบการชาวไทยที่ต้องการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ Temuบุก ควรพิจารณาเปิดรับอีคอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มากขึ้น โดยอาจพัฒนาหรือเพิ่มการปรากฏตัวออนไลน์ของแบรนด์ คู่ไปกับการพิจารณาโอกาสด้านอีคอมเมิร์ซทั้งในและต่างประเทศ
ขณะเดียวกันก็อาจวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน เพื่อค้นหาวิธีให้กำหนดราคาแข่งขันได้โดยไม่กระทบต่อคุณภาพ หรือการขยับมาซื้อแบบกลุ่มหรือซื้อจำนวนมาก เพื่อจะได้สามารถเสนอราคาที่ดีกว่าให้กับผู้บริโภค
นอกจากจะต้องพยายามสร้างสรรค์นวัตกรรมในการดึงดูดลูกค้า หรือหาทางลดเวลาการจัดส่งและลดต้นทุนได้ทันตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลง ธุรกิจยังควรให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้ และปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป คู่กับการหาทางใช้ประโยชน์จากความเข้าใจลึกซึ้งในตลาดไทย จึงจะสามารถวางตำแหน่งตัวเองเพื่อแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Inside-PDD-China-s-e-commerce-titan-behind-Temu-and-Pinduoduo
- https://fashionweekdaily.com/temu-and-shein-a-deep-dive-into-their-differences/
- https://www.wsj.com/business/media/temus-push-into-america-pays-off-big-time-for-meta-and-google-f2721b32
- https://www.reuters.com/technology/low-cost-e-commerce-giant-pdd-holdings-beats-quarterly-revenue-estimates-2024-03-20/
- https://edition.cnn.com/2024/05/23/business/pinduoduo-temu-us-ecommerce-bargains-intl-hnk/index.html
- https://www.ft.com/content/54eadb20-dbe1-49f7-b29a-0c905cbef91e
- https://fortune.com/asia/2024/03/21/temu-owner-pdd-spooked-china-ecommerce-giants-almost-doubled-annual-profits/
- https://technode.com/2024/04/29/temu-aims-to-triple-sales-to-60-billion-globally-in-2024-report/
- https://channelx.world/2024/03/temu-records-revenue-of-27bn-in-2023/