ภูมิธรรมเตรียมเชิญ Influencer ในต่างแดน ช่วย Live ขายสินค้าไทยกว่า 500 รายการ ตั้งเป้าเพิ่มส่งออกกว่า 1,500 ล้านบาท หลังในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยขาดดุลการค้าจีนไปแล้วกว่า 19,967 ล้านดอลลาร์ ยืนยันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติมีทั้งโอกาสและความท้าทาย
วันนี้ (13 สิงหาคม) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุผ่าน Facebook ว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมจัดมหกรรม Live Commerce ในช่วงเดือนกันยายน โดยให้ Influencer จากต่างประเทศเข้ามาคัดเลือกสินค้าไทย นำไป Live เพื่อขายสินค้าจากประเทศไทยไปยังผู้บริโภคในประเทศจีน ซึ่งขณะนี้มีการสำรวจสินค้าไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของคนจีนจำนวนกว่า 500 รายการสินค้า เพื่อทำการซื้อขายดึงเม็ดเงินจากการส่งออกสินค้าเข้าสู่ประเทศ โดยมีเป้าหมายครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท
ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยขาดดุลการค้าจีน 19,967.5 ล้านดอลลาร์แล้ว นับเป็นการขาดดุลมานานหลายปีติดต่อกัน
เนื่องจากจีนเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของการนำเข้ารวม (24.6%) และเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 2 ของไทย ซึ่งในปี 2566 มูลค่าส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วน 12%
มองแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติมีทั้งโอกาสและความท้าทาย
ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า การเข้ามาของ Temu ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก ในประเทศไทยถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการอีคอมเมิร์ซอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เนื่องจาก Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง ซึ่งผมคิดว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ SMEs
การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าใหม่โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) การปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นความตระหนักที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องให้ความสำคัญ เพื่อความอยู่รอดและการเติบโตในตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีบทบาทหลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมการค้าออนไลน์ให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืนในภาพรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใดๆ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราจัดประชุมร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงการคลัง, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อหารือและพิจารณาถึงผลกระทบของผู้บริโภค และผู้ประกอบการจากอีคอมเมิร์ซทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งเข้ามานั้นได้มาตรฐานตามข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่ เช่น มาตรฐาน มอก. และมาตรฐานของ อย. เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
รวมทั้งยังพิจารณาถึงการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีอย่างถูกต้อง และไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ
การค้าของโลกในปัจจุบันกำลังปรับเปลี่ยน ผมคิดว่าเมื่อเราต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องอยู่ในคลื่นของการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีมาตรการคุ้มครองตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้อยู่ในสถานะที่มีความสามารถแข่งขันได้ หลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้แต่มุ่งแสวงหาความร่วมมือ อันน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการค้าในโลกปัจจุบัน
การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติต่างๆ ในประเทศไทยนั้น รัฐบาลกำลังเร่งออกมาตรการเพื่อช่วยปกป้องดูแลภาคธุรกิจไทย และพิจารณาให้ครอบคลุมเพื่อรับมือกับผลกระทบและส่งเสริมโอกาสที่เกิดขึ้น เพื่อการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภค การสนับสนุน SMEs และการส่งเสริมการค้าเสรีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว
“ขอให้มั่นใจรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์จะเร่งประสานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนที่สุด”