“…ตื่นเถิดทรามวัยดวงใจของพี่
รุ่งสางสว่างแล้วนี้ ตื่นเถิดคนดีอย่ามัวนิทรา
พี่แบกคันไถไล่ควายไปสู่ท้องนา
น้องจงหุงข้าวคอยท่า กลับมาแล้วจะได้กิน
เหน็ดเหนื่อยเพียงไร ทนไปไม่บ่น
เมื่อยล้ากายาเหลือทน พี่จะผจญเพื่อแม่ยุพิน
ถูกแดดถูกลม เหงื่อโทรมท่วมกายไหลริน
แล้วพลันมลายหายสิ้น เห็นหน้ายุพินช่างสุขทุกยาม…”
ข้อความข้างต้นเป็นบางส่วนของเนื้อเพลงที่คอเพลงลูกทุ่งมักรู้จักกันเป็นอย่างดี
เพลง สวรรค์ชาวบ้าน ขับร้องโดย มงคล หอมระรื่น หรือที่รู้จักกันในวงการคือ ก้าน แก้วสุพรรณ
เนื้อเพลงถือเป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตของชาวนาในพื้นที่ชนบทได้เป็นอย่างดี เล่าถึงตัวละครผู้ชายชาวนาคนหนึ่งที่ต้องตื่นแต่เช้านำควายออกไปไถนาอย่างมีความสุข (ถ้าเข้าใจตามเนื้อเพลง) แล้วก็บอกกล่าวกับคนรักของตนเองให้เตรียมข้าวปลาอาหารรอ จะได้กลับมากินข้าวร่วมกัน มาถึงเนื้อเพลงท่อนนี้หลายคนอาจจะงงๆ ว่าทำไมเอาควายออกไปไถนาแล้วกลับมากินข้าว ทำไมไม่กินข้าวแล้วออกไปไถนา
เพลงลูกทุ่งบอกเล่าวิถีชีวิต
ผู้เขียนในฐานะเป็นลูกของชาวนาคนหนึ่ง พ่อผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่าเวลาเราจะทำนา เราจะเอาตัวเราเป็นที่ตั้งอย่างเดียวไม่ได้ ฉันอยากทำเวลานี้ตอนนี้ไม่ได้ สำคัญที่สุดคือเราต้องเข้าใจธรรมชาติของควายด้วย พูดง่ายๆ คือต้องทำนาตามอารมณ์ของควาย
พ่อผู้เขียนเล่าว่าเวลาทำงานของควายจะเริ่มตั้งแต่ประมาณตี 4 ตี 5 แล้วควายจะหยุดพักทำงานช่วงประมาณสายๆ 9 โมงถึง 10 โมงเช้า อาจจะเพราะหิวและร้อน พอถึงเวลาพักควายก็จะหยุดทำงานทันที คือเหมือนควายก็รู้เวลาตัวเองตามสัญชาตญาณ แล้วเราก็ต้องเอาควายไปพักกินน้ำกินหญ้า ส่วนตัวเราก็กลับมาพักกินข้าวกินปลาที่พ่อแม่ หรือตามเนื้อเพลงก็ที่คนรักเตรียมรอไว้กินพร้อมกันที่บ้าน แล้วค่อยเริ่มกลับมาไถนาอีกทีก็ตอนบ่ายแก่ๆ ถึงค่ำๆ แล้วก็จูงควายกลับบ้าน
จากประสบการณ์ชีวิตของพ่อผู้เขียนก็พอจะทำให้เข้าใจเนื้อเพลงท่อนนี้ได้ดีมากขึ้นว่าทำไมต้องเอาควายไปไถนาก่อนกลับมากินข้าวที่บ้าน
ในส่วนของดนตรีก่อนเข้าเนื้อเพลงก็น่าสนใจ เริ่มต้นจากเสียงขลุ่ย (ในเวอร์ชันของยอดรัก สลักใจ) แล้วตามด้วยเสียงไก่ขัน เอ้ก อี เอ้ก เอ้ก… ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเสียงที่สะท้อนความเป็นชนบทได้ชัดเจน ยิ่งเสียงขลุ่ยถือเป็นภาพลักษณ์สำคัญของชาวชนบทเลยก็ว่าได้ ละครทีวีที่เล่าถึงภาพคนในชนบท พระเอกหลายคนก็มักจะมีขลุ่ยและควายเป็นของคู่กาย
ระฆังวัด ระฆังชีวิต
แต่สิ่งที่ขาดหายไป ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าคือ ‘เสียงระฆังวัด’ เพราะถือว่าเป็นเสียงเตือนของการเริ่มต้นชีวิตในอีกวันหนึ่ง หรือพูดง่ายๆ คือเป็นระฆังชีวิต
พ่อผู้เขียนเล่าว่าเมื่อก่อนวัดที่บ้านจะเริ่มตีระฆังกันประมาณตี 4 ตี 5 ปลุกพระเณรขึ้นมาทำกิจของสงฆ์ เมื่อมีเสียงระฆังเตือน ผู้คนก็จะตื่นจากการหลับใหล เริ่มเตรียมควายออกไปไถนา ส่วนผู้หญิงก็จะเริ่มเตรียมหุงข้าวหุงปลา
นอกจากจะบอกเตือนถึงการเริ่มต้นวิถีชีวิต เสียงระฆังยังเป็นเครื่องเตือนเวลาด้วย เพราะปกติวัดจะตีตอนเช้าและเย็น เช่น ตอนตี 4 และ 5 โมงเย็น หรือตอนตี 5 และ 6 โมงเย็น แล้วแต่วัดในพื้นที่นั้นๆ จะกำหนดกัน ส่วนเที่ยงวันจะเป็นเสียงกลองเพล
เพราะฉะนั้นชาวบ้านในสมัยก่อนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีบอกเวลาเหมือนในปัจจุบัน เสียงระฆังวัดและเสียงกลองวัดถือเป็นเครื่องบอกเวลาด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าเสียงระฆังวัดและเสียงกลองเพลนั้นมีคุณค่า มีประโยชน์ และมีบทบาทสำคัญกับคนในอดีตอย่างยิ่ง
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวน่าสนใจข่าวหนึ่งที่มีการร้องเรียนวัดย่านพระราม 3 ว่าตีระฆังดังตอนตี 3 ตี 4 รบกวนการนอนของคนในคอนโดฯ หรูที่อยู่ติดกับวัด จนมีคำสั่งจากสำนักงานเขตให้พระตีเบาๆ ทั้งนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ มันคือภาพสะท้อนของการปะทะกันระหว่างคุณค่าของคนยุคเก่าที่วิถีชีวิตจะเริ่มต้นด้วยเสียงระฆังวัดกับคุณค่าของคนในปัจจุบัน
เสียงระฆังวัดกับความเป็นสมัยใหม่
ในสังคมปัจจุบัน วิถีชีวิตของคนได้เปลี่ยนไปอย่างมาก เช่น ความเป็นเมืองที่เติบโตขึ้น ระบบเวลาทำงานแบบสมัยใหม่ คนต้องทำงานตามระบบงานแบบสมัยใหม่ เข้าเช้า (8 โมงเช้า) ออกเย็น (5-6 โมงเย็น) หรือเข้าสายออกค่ำ ซึ่งต่างจากวิถีชีวิตของคนในอดีต ไม่ได้ทำนา ทำไร่ ทำสวน แบบคนในอดีตหรือคนบ้านนอกชนบท
แม้แต่ทุกวันนี้การทำนาในชนบทก็เปลี่ยนไป เพราะไม่ต้องใช้ควายแล้ว แต่ใช้รถไถนา (ควายเหล็ก) แทน รวมถึงการขยายตัวของเทคโนโลยีเครื่องเตือนเวลาสมัยใหม่ ทั้งนาฬิกาปลุก ทั้งสมาร์ทโฟน สิ่งเหล่านี้มันทำให้วิถีชีวิตของคนในโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป และทำให้เสียงระฆังที่เคยเป็นทั้งเรื่องของทั้งวัดและบ้านกลายเป็นเพียงเรื่องของคนในวัดอย่างเดียว
ฉะนั้นระฆังวัดจึงกลายเป็นสิ่งที่ขัดกับวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ของคน โดยเฉพาะคนในเมือง (กรุง) ที่เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีเครื่องเตือนเวลา ทำให้เสียงของระฆังวัดมีคุณค่าน้อยกว่าเสียงนาฬิกาปลุกหรือสมาร์ทโฟน เสียงระฆังวัดจึงกลายเป็นเสียงที่ไร้ค่าและไร้ประโยชน์ กลายเป็นเสียงรบกวนหรือเป็นมลพิษทางเสียงในโลกของคนในสังคมปัจจุบันจนเกิดการร้องเรียนอย่างที่เป็นข่าว
แต่อย่างไรก็ตาม แม้เสียงระฆังวัดจะเริ่มหมดบทบาทของการเป็นเครื่องเตือนการเริ่มต้นของชีวิตวันใหม่หรือเครื่องเตือนเวลาแล้ว เสียงระฆังถูกเปลี่ยนบทบาทใหม่ให้ไปสัมพันธ์กับเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ การอธิษฐาน และการบนบานศาลกล่าว ซึ่งเชื่อกันว่าสามารถตอบสนองคุณค่าทางโลกในแบบวิถีชีวิตของคนในสังคมสมัยใหม่ได้
เช่น เราจะเห็นวัดดังๆ หรือวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มักจะมีระฆังอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะข้างทางเดินหรือจุดสำคัญๆ เพื่อให้คนได้ตี โดยคนที่ตีระฆังก็มักจะมีความเชื่อในแบบของตนเองว่าตีแล้วขอให้ชื่อเสียงดังกังวานเหมือนเสียงระฆัง ไม่ว่าจะชื่อเสียงของธุรกิจหรือตัวบุคคล ตีแล้วทำให้พ้นเคราะห์โศกโรคภัยต่างๆ นานา หรือตีแล้วขอให้ร่ำรวยบ้าง เป็นต้น
คุณค่าที่เปลี่ยนแปลงจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในโลกปัจจุบัน เสียงระฆังได้เปลี่ยนแปลงคุณค่า เปลี่ยนบทบาท เปลี่ยนความหมายไปตามบริบทยุคสมัยและบริบทเชิงพื้นที่ ระฆังวัดจากที่เคยเป็นเครื่องเตือนเวลา เครื่องเตือนการเริ่มต้นชีวิตวันใหม่ของคนในอดีตหรือคนในชนบทกลายเป็นเสียงที่มีคุณค่าเฉพาะคนในวัด กลายเป็นมลพิษทางเสียงที่รบกวน ก่อกวนวิถีชีวิตของคนในยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะคนกรุง
แต่อย่างไรก็ตาม เสียงระฆังกลับถูกปรับบทบาทใหม่ให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไว้ขอพร ไว้บนบานศาลกล่าวไป
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่เป็นข่าว เสียงระฆังวัดที่กลายเป็นเสียงรบกวนและต้องถูกจัดระเบียบใหม่ก็เป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถามต่อไปว่าสังคมเราจะจัดการอย่างไรให้คุณค่าแบบสมัยเก่ากับคุณค่าสมัยใหม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อกัน ไม่กำจัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งทิ้งไปเพียงเพราะมองจากประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
ภาพประกอบ: Karin Foxx
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์