×

สำรวจเทรนด์เทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบที่จะเปลี่ยนโลกในปี 2021 หลังการระบาดของโควิด-19

28.12.2020
  • LOADING...
สำรวจเทรนด์เทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบที่จะเปลี่ยนโลกในปี 2021 หลังการระบาดของโควิด-19

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • โรคระบาดกลายเป็น ‘ตัวเร่ง’ (Accelerator) ที่กระตุ้นให้มนุษย์เรานำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาแก้ปัญหาแทบทุกรูปแบบ หรือไม่ก็สร้างขึ้นใหม่เพื่อตอบโจทย์ของโลกที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าปฏิกิริยาที่ถูกเร่งให้เร็วขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไป และนี่คือ 5 เทรนด์ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบที่ควรรู้ในปี 2021

2020 เป็นปีที่สุดท้าทายและยากจะคาดการณ์หยั่งรู้ เริ่มต้นปีด้วยโรคระบาดใหม่ที่กวาดล้างไปหลายล้านชีวิตและทำลายเศรษฐกิจพังพินาศราวกับธรรมชาติพยายามจัดระเบียบโลกใหม่ ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไปโดยไร้ร่องรอยของจุดจบ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ดูจะรุนแรงยิ่งขึ้นในชั่วพริบตา

 

ในทางกลับกัน โรคระบาดกลายเป็น ‘ตัวเร่ง’ (Accelerator) ที่กระตุ้นให้มนุษย์เรานำเทคโนโลยีที่มีอยู่มาแก้ปัญหาแทบทุกรูปแบบ หรือไม่ก็สร้างขึ้นใหม่เพื่อตอบโจทย์ของโลกที่เปลี่ยนไป องค์กรธุรกิจล้วนขยับตัวสู่กระบวนการ Digital Transformation ดุจคนตกลงในมหาสมุทร หากไม่ว่ายก็จมหายไปกับเกลียวคลื่น ขณะเดียวกันเทคโนโลยีจะยิ่งพัฒนารุดหน้าอย่างก้าวกระโดด และอาจกลายเป็น ‘เครื่องช่วยหายใจ’ ที่พาเราก้าวต่อไปข้างหน้า และเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปโดยสิ้นเชิง

 

แน่นอนว่าปฏิกิริยาที่ถูกเร่งให้เร็วขึ้นจะยังคงดำเนินต่อไป และนี่คือ 5 เทรนด์ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบที่ควรรู้ในปี 2021

 

Collaborative Data แชร์ข้อมูลสร้าง AI ที่สร้างประโยชน์กับทุกคน

จากยุคที่ Big Data เป็น Buzzword ที่ใครๆ ก็พูดถึงในการปรับตัวสู่โลกดิจิทัล วันนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคของการแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อพัฒนาข้อมูลและเทคโนโลยี AI ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายยิ่งใหญ่กว่าเดิม นั่นคือประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะนั่นเอง

 

ปัจจุบันการพัฒนา AI ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังติดหล่มปัญหาจริยธรรมและอคติ (Bias) ที่เกิดจากมนุษย์ เช่น เพศ สีผิว และชาติพันธุ์ การพัฒนา AI ให้ก้าวข้ามอคติดังกล่าวจึงเป็นโจทย์สุดท้าทาย

 

เอลเลน ชิลเดรน ได้เขียนคำนิยามของ ‘Data Collaboration’ ในเว็บไซต์ Medium ว่าหมายถึงการวิเคราะห์ชุดข้อมูลอิสระหลากหลายชุด (Multiple Independent Datasets) จากแหล่งข้อมูลหลายแห่งเพื่อที่จะหาอินไซต์ร่วมกัน ปกติแล้วการวิเคราะห์ข้อมูลมักจะเจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การเงิน แต่ Data Collaboration อาศัยการแชร์ข้อมูลข้ามอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ แล้วนำชุดข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ประมวลผลให้ได้อินไซต์ใหม่ๆ มีข้อแม้ว่าทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และจะไม่เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่อ่อนไหวเด็ดขาด ไม่เพียงเท่านั้น การสร้าง Collaborative Data ที่ดีจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วม และ Empower ผู้ใช้งานด้วยทางเลือกการตัดสินใจที่หลากหลาย

 

 

สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลักล้านคนอย่างรวดเร็ว สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ตระหนักดีว่าโรคนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน การจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อที่จะค้นหาแนวทางการรักษาใหม่ๆ ยิ่งมีชุดข้อมูลมหาศาลและกระจัดกระจายมากแค่ไหนก็ยิ่งจัดเก็บข้อมูลได้ยาก อีกทั้งยังขาดมาตรฐานสำหรับการคัดสรรจัดข้อมูล จึงเป็นที่มาของการพัฒนาฐานข้อมูลออนไลน์แบบเปิด National COVID Cohort Collaborative หรือ N3C โดยรวบรวมข้อมูลและงานวิจัยสำคัญจากสถาบันวิจัย โรงพยาบาล สาธารณสุข ไปจนถึงคลินิกและห้องทดลอง นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญการแพทย์จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ ตลอดจนค้นคว้าพัฒนาวิธีการรักษาได้ง่ายมากขึ้น 

 

แพลตฟอร์มนี้ยังรวบรวมและแปลข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา ซึ่งคนทั่วไปอาจจะเข้าใจยากให้เป็นชุดข้อมูลที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น เรื่องฉุกเฉินที่ควรรู้เกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อให้บุคลากรพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่ผันเปลี่ยนตลอดเวลา

 

ด้านประเทศโคลอมเบียได้เปิดตัวศูนย์ข้อมูลและนวัตกรรมเกี่ยวกับโควิด-19 หรือ COVID-19 Data & Innovation Centre ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Tableau Foundation กองทุน UN COVID-19 Multi-Partner Trust Fund และหน่วยงานอื่นๆ อีก 20 แห่ง โดยตั้งเป้าว่าจะรวบรวมคลื่นยักษ์แห่งข้อมูลข่าวสารของโรคระบาด (Data Tsunami) จากทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์ แปลงข้อมูลเป็นภาพ (Data Visualization) และใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผน เช่น การรับมือกับโรคระบาด และวางแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สาธารณสุข โรงพยาบาล ไปจนถึงบุคคลทั่วไป เนื่องจากการแพร่ระบาดในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน และมีวิธีการรับมือไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและปัจจัยแวดล้อม ศูนย์แห่งนี้ยังยืนหยัดว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Global South) จะต้องผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปพร้อมกันโดยไม่ทอดทิ้งใคร

 

 

Big Tech Crackdown and Zero Trust

ถ้าหากปี 2020 เป็นปีแห่งการไล่เช็กบิลคดีฟ้องร้องเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีที่สั่งสมมายาวนาน 

 

ปี 2021 จะเป็นปีแสนหฤโหดสำหรับบิ๊กโฟร์ทั้ง Google, Facebook, Amazon และ Apple ตามการคาดการณ์โดยสำนักข่าว BBC ไม่ว่าจะเป็นกรณีข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหล การสอดแนมพนักงาน คดีการล่วงละเมิดทางเพศ การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล การไล่ออกซึ่งผิดกฎหมายแรงงาน ไปจนถึงการดำเนินธุรกิจแสวงหากำไรที่กีดกันการแข่งขันและขัดต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Antitrust) ระดับประเทศและระดับโลก

 

ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการทางการค้าแห่งสหรัฐฯ (US Federal Commission) และอัยการรัฐกว่า 45 รายยื่นฟ้อง Facebook ข้อหากว้านซื้อกิจการคู่แข่งและผูกขาดการแข่งขันในตลาดโซเชียลมีเดีย ขณะที่ Google ก็ถูกอัยการจาก 10 รัฐร่วมกันฟ้องร้องข้อหาพยายามร่วมมือกับ Facebook ควบคุมและผูกขาดตลาดโฆษณาออนไลน์

 

เมื่อบริษัทใหญ่สูญเสียความน่าเชื่อถือ ผู้บริโภคก็ไม่อาจไว้วางใจได้เช่นกัน 

 

และเรียกร้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีหรือออกกฎหมายที่เคร่งครัดเพื่อป้องกันการเอาเปรียบทางการแข่งขัน การล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และข้อมูลส่วนตัว

 

นอกจากนี้บริษัทเทคโนโลยีจะเผชิญกับภัยต่อความมั่นคงทางไซเบอร์หนักขึ้นเรื่อยๆ เทรนด์ที่จะเข้ามาตอบรับกระแสนี้ก็คือ ‘Zero Trust’ แนวคิดการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงโดยไม่เชื่ออะไรง่ายๆ และหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการโจมตีทุกรูปแบบที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะไม่มีอะไรปลอดภัยมั่นคงร้อยเปอร์เซ็นต์

 

อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กันคือการกอบกู้ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจกลับมาอีกครั้ง ทั้งจากนักลงทุน สถาบันกฎหมาย หน่วยงานตรวจสอบกำกับดูแลต่างๆ และผู้ใช้งานทั่วไป ทางที่ดีบริษัทควรปฏิบัติตามกฎระเบียบและจริยธรรมที่กำหนดไว้ให้ได้ และส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้จริง

 

สื่อมวลชนทั่วโลกต่างจับตามองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ว่าจะมีท่าทีต่อบริษัทเทคโนโลยีอย่างไร รวมทั้งจับตาร่างกฎหมาย Digital Services Act และ Digital Markets Act ของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งจะเข้ามาควบคุมการแข่งขันและการผูกขาดบริการออนไลน์ของยักษ์ใหญ่เหล่านี้ กฎหมายเหล่านี้จะช่วยคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้งานไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ป้องกันการกีดกันทางการค้าและโฆษณาได้มากแค่ไหน บทลงโทษที่เหมาะสมควรออกมาในรูปแบบใด เป็นเรื่องที่เราจะต้องติดตามกันต่อไป

 

Tech & Transhumanist

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการอันน่าทึ่ง และมนุษย์จะปรับตัวเสมอเมื่อเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอน ปัญหาวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจะบีบบังคับให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดหาทางปรับตัวให้อยู่รอดในทุกวิถีทาง

 

เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นกุญแจสำคัญของวิวัฒนาการครั้งนี้ เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์ Wearable และวัสดุอัจฉริยะ มนุษย์อาจต้องปรับเปลี่ยนสภาพ พฤติกรรม และวิถีชีวิต เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เช่น ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และมลภาวะ ขยะพลาสติก การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว และโรคระบาดอีกนานาชนิด

 

 

ความคิดสร้างสรรค์ สติปัญญา และสัญชาตญาณ ทำให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะปรับตัวหรือนำลักษณะบางอย่างของธรรมชาติมาลอกเลียนแบบและประดิษฐ์คิดค้นเป็นเครื่องมือในการเอาตัวรอด 

 

จุน คาเมอิ เป็นดีไซเนอร์มากความสามารถที่สนใจศาสตร์ Biomimicry หรือการลอกเลียนธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์หรือแก้ไขปัญหา เขาได้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ‘Amphibio’ สำหรับการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 22 ไอเดียมาจากการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 3.5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 30% ของประชากรโลก และเมืองขนาดใหญ่ที่อยู่แถบชายฝั่งจะจมลงในมหาสมุทร

 

เขาออกแบบเครื่องแต่งกายที่ทำให้คนสามารถเคลื่อนไหวใต้น้ำได้อย่างสะดวกสบาย และมีเครื่องช่วยหายใจที่มีระบบสร้างออกซิเจนและคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเลียนแบบมาจากเหงือกของแมลงใต้น้ำ

 

 

At-home Experiences

ขณะที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด ผู้คนจะมองหานวัตกรรม การออกแบบ และเทคโนโลยีที่จะมาเนรมิตให้พื้นที่ทุกตารางเมตรในบ้านและที่อยู่อาศัยให้เป็น ‘ทุกอย่าง’ สำหรับเรา ตั้งแต่ที่ทำงาน ที่ออกกำลังกาย ไปจนถึงที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ 

 

อุปกรณ์อัจฉริยะและระบบอัตโนมัติจะเข้ามาเติมเต็มประสบการณ์การใช้ชีวิตในบ้านให้เรารู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย เราอาจได้เห็นโซนฆ่าเชื้อโรคและเครื่องพ่นเจลล้างมือแบบอัตโมนัติในบ้านของคนมีฐานะ ประตูปกติจะถูกแทนที่ด้วยประตูเปิด-ปิดแบบ Hand-free เพื่อลดการสัมผัส ผู้คนจะมองหาเฟอร์นิเจอร์เคลื่อนที่หรือใช้งานได้หลากหลายและยืดหยุ่น เช่น ชั้นวางหนังสือและตู้เสื้อผ้ากลายเป็นฉากกั้นห้องเคลื่อนที่ได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งานของสมาชิกในบ้าน 

 

นอกจากนี้ผู้คนจะลงทุนกับการสร้างมุมพักผ่อนหย่อนใจที่เป็นส่วนตัวหรือให้ความรู้สึกเหมือนไปพักร้อน มีโซนทำงานที่เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น และประชุมออนไลน์ได้ทุกเมื่อ

 

 

Retail Evolution โฉมหน้าใหม่ของธุรกิจรีเทล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อ่วมจนต้องหนีไปรุกตลาดซื้อขายของออนไลน์แทน หลังจากการปลดล็อกดาวน์รอบที่ผ่านมา เราได้เห็นห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปรับตัวขนานใหญ่ ทุกที่มี QR Code สำหรับสแกนเพื่อเช็กอินและติดตามผู้ติดเชื้อ มีเจลล้างมือเตรียมให้เสร็จสรรพ ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งใช้ระบบเซนเซอร์อัตโนมัติและเทคโนโลยี Facial Recognition สแกนใบหน้าและวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อความปลอดภัย ลดจุดสัมผัสให้มากที่สุด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ไม่เพียงเท่านั้น การจัดวางของภายในร้านค้าจะเว้นระยะห่างตามมาตรการ Social Distancing ทุกอย่างจะจัดเรียงตามหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบเพื่อให้ลูกค้าหาของได้ง่ายและเร็วที่สุด ตู้อาหารแช่แข็งและเครื่องดื่มจะเปลี่ยนมาใช้ระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ หรือไม่ก็ใช้เซนเซอร์หรือเท้าเหยียบปุ่มให้ตู้เปิดและปิดแทนการใช้มือ ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีจุดรับของ (Pick-up) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่สั่งของออนไลน์แล้วมารับของโดยไม่ต้องเข้าไปซื้อเองหรือรอบริการส่งถึงบ้านที่ใช้เวลานาน นอกจากนี้เราอาจได้เห็นการนำเทคโนโลยีในร้านค้าอัตโนมัติ เช่น Amazon Go มาประยุกต์ใช้ในการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อเลี่ยงการต่อคิวจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ตามซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่และร้านค้าชั้นนำ 

 

นี่คือแนวโน้มและ New Normal ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบที่เราจะพบเห็นกันในปี 2021

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising