Google ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อ AI มาช้านาน แต่ตำแหน่งนี้ถูกสั่นคลอนอย่างหนักเมื่อ ChatGPT เปิดตัวและได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ยักษ์ใหญ่ที่ถูกล้อเลียนว่าช้าไปหรือไม่ จำต้องขยับตัว (เสียที) โดยการเปิดตัว ‘Bard’ แชตบอตปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสู้กับคู่แข่งโดยเฉพาะ
ยักษ์ใหญ่ด้านการค้นหาซึ่งลงทุนเงินจำนวนมากในการวิจัย AI ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะสร้างแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ‘Bard’ โดยใช้เทคโนโลยีทดลองที่เรียกว่า LaMDA ซึ่งย่อมาจาก Language Model for Dialogue Applications ซึ่ง Google ได้ทำการทดสอบภายในบริษัทและบุคคลภายนอกจำนวนจำกัดเป็นเวลาหลายเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Google ทุ่ม 1 หมื่นล้านบาท ลงทุนใน Anthropic สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ หวังท้าชิงกับ ChatGPT
- เลขาและล่ามอาจตกงาน! เมื่อ Microsoft เปิดตัว Teams Premium ที่ผสานพลัง ChatGPT จนสามารถสร้าง ‘บันทึกการประชุมอัตโนมัติ’ แถมยัง ‘แปลสด’ ได้มากถึง 40 ภาษา
- ‘Google’ เร่งพัฒนาแชตบอตตอบโต้ ChatGPT พร้อมเปิดตัวโปรเจกต์ ‘Atlas’ พลิกโฉมหน้าต่างค้นหาใหม่
เบื้องต้น Bard จะเริ่มทดสอบกับกลุ่มส่วนตัวขนาดเล็กก่อนที่จะเปิดให้คนทั่วไปได้ใช้งาน ซึ่ง ‘ซันดาร์ พิชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Google ยังกล่าวด้วยว่า เสิร์ชเอนจินของบริษัทจะมีฟีเจอร์ปัญญาประดิษฐ์ที่นำเสนอข้อมูลสรุปที่ซับซ้อนในไม่ช้า
“เราจะรวมข้อเสนอแนะจากภายนอกเข้ากับการทดสอบภายในของเราเอง เพื่อให้แน่ใจว่าการตอบสนองของ Bard เป็นไปตามมาตรฐานระดับสูงในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และความสมเหตุสมผลของข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริง” พิชัยกล่าวในบล็อกโพสต์ที่ประกาศข่าวดังกล่าว “เราตื่นเต้นกับการทดสอบระยะนี้เพื่อช่วยให้เราเรียนรู้และปรับปรุงคุณภาพและความเร็วของ Bard ต่อไป”
ในโอกาสนี้ Google ได้ยกตัวอย่างการใช้ Bard เพื่อทำให้หัวข้อที่ซับซ้อนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น การอธิบายการค้นพบใหม่ๆ จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb ของ NASA ให้กับเด็กอายุ 9 ขวบ
Google อยู่ในระดับแนวหน้าของการวิจัย AI มานานหลายปี โดยคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดในสาขานี้หลายคน และใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพการแปลภาษา ผลการค้นหา และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่บริษัทใช้ แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทขนาดเล็กอย่าง OpenAI ได้รับความสนใจมากขึ้นหลังจากเปิดตัว ChatGPT
สิ่งที่น่าสนใจคือแชตบอตไม่สามารถสนทนาได้เหมือนมนุษย์แม้จะดูคล้ายก็ตาม แต่เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างข้อความดิจิทัลที่หลากหลายซึ่งสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ในเกือบทุกบริบท รวมถึงทวีต บล็อกโพสต์ ภาคนิพนธ์ บทกวี และแม้แต่โค้ดคอมพิวเตอร์
แต่เหรียญมักมี 2 ด้าน แชตบอตปัญญาประดิษฐ์ก็เช่นกัน หลายฝ่ายมองว่าเทคโนโลยีนี้ยังมีข้อบกพร่อง เนื่องจากแชตบอตเรียนรู้ทักษะของตนโดยการวิเคราะห์ข้อความจำนวนมหาศาลที่โพสต์บนอินเทอร์เน็ต จึงไม่สามารถแยกแยะระหว่างความจริงกับเรื่องแต่งได้ และสามารถสร้างข้อความที่มีอคติต่อผู้หญิงและคนผิวสีได้
ยิ่งบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ Google, Microsoft และ Facebook กำลังดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อย่างรวดเร็วขึ้น ทำให้เกิดความกังวลใหม่ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและจริยธรรมของ AI ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวอาจถูกปรับใช้เร็วเกินไปก่อนที่จะเข้าใจผลที่ตามมาอย่างถ่องแท้
เรื่องนี้ทำให้ Google ลังเลที่จะเผยแพร่เทคโนโลยีประเภทนี้สู่สาธารณะ เนื่องจากผู้บริหารกังวลว่าชื่อเสียงของบริษัทอาจได้รับผลกระทบหาก AI สร้างข้อความที่ลำเอียงหรือเป็นอัตราย ดังนั้นหัวหน้าฝ่าย AI ของ Google บอกกับพนักงานในเวลานั้นว่า บริษัทจึงกำลังดำเนินการ ‘อย่างระมัดระวังมากกว่าสตาร์ทอัพขนาดเล็ก’
อย่างไรก็ตามพิชัยพยายามที่จะเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าของ Google ในด้านปัญญาประดิษฐ์ ท่ามกลางแรงกดดันด้านการแข่งขันที่สูงขึ้นจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Microsoft Corp. ซึ่งประกาศว่าจะลงทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ใน OpenAI และกำลังดำเนินการรวม ChatGPT เข้ากับเครื่องมือค้นหา Bing เพื่อท้าทายการครอบงำในด้านการค้นหาของ Google
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Google ได้ประกาศความร่วมมือกับ Anthropic สตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งกำลังทดสอบแชตบอตของตัวเองเพื่อแข่งขันกับ ChatGPT โดย Google ได้ลงทุนเกือบ 400 ล้านดอลลาร์ด้วยกัน
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-02-06/google-releases-chatgpt-rival-ai-bard-to-early-testers
- https://www.cnbc.com/2023/02/06/google-announces-bard-ai-in-response-to-chatgpt.html
- https://www.nytimes.com/2023/02/06/technology/google-bard-ai-chatbot.html
- https://www.washingtonpost.com/technology/2023/02/06/google-bard-chatbot/