×

เปิดมุมมองนักลงทุนต่อประเด็นด้านความเชื่อมั่น เทคโนโลยี และความยั่งยืน

18.12.2023
  • LOADING...

ต้องยอมรับว่าตลาดการลงทุนทั่วโลกในปีนี้เต็มไปด้วยความผันผวน ซึ่งในเดือนกันยายนที่ผ่านมา PwC ได้จัดทำรายงาน Global Investor Survey 2023 เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักลงทุนทั่วโลกจำนวน 345 ราย เกี่ยวกับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อบริษัทที่พวกเขาลงทุน และวิธีที่ใช้ในการประเมินโอกาสและความเสี่ยงในการจัดสรรเงินทุน รวมถึงความเชื่อมั่นต่อข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยผมจะขอสรุปผลจากการสำรวจที่น่าสนใจต่างๆ และนำมาแลกเปลี่ยนกับคุณผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

 

  • นักลงทุนมีความกังวลต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและเงินเฟ้อลดลงที่ 46% เปรียบเทียบกับการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนเมื่อปี 2565 ที่ 67% 

 

 

  • นักลงทุนให้ความสนใจกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดย 61% ของนักลงทุนกล่าวว่า การนำ AI มาใช้ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากถึงมากที่สุดที่จะส่งผลต่อการสร้างคุณค่าของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า แม้ว่านักลงทุนบางส่วนจะยังคงมีความกังวลต่อความเสี่ยงของการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว 

 

  • ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจ รายงานระบุว่า 3 ใน 4 ของนักลงทุนเชื่อว่าการจัดการความเสี่ยงและมองหาโอกาสด้านความยั่งยืนของบริษัทถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ยังคงต้องการข้อมูลด้านความยั่งยืนมากขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายของบริษัทในการปฏิบัติเพื่อบรรลุคำมั่นสัญญาด้านความยั่งยืน กรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน และการเชื่อมโยงข้อมูลด้านความยั่งยืนให้มีความสัมพันธ์กับงบการเงิน 

 

  • การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมยังขาดความน่าเชื่อถือ วันนี้นักลงทุนส่วนใหญ่อาศัยข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมถึงบริษัทและบุคคลที่สามเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน แต่อย่างไรก็ดี พวกเขายังคงไม่มีความไว้วางใจในข้อมูลดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ซึ่งรายงานพบว่า นักลงทุนมีการเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง เพราะไม่เชื่อมั่นในข้อมูลจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งโดยสิ้นเชิง

 

  • การฟอกเขียว (Greenwashing) ยังคงมีอยู่ นักลงทุน 94% เชื่อว่าการรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรมีการกล่าวอ้างที่ไม่ได้รับการสนับสนุนในระดับหนึ่งเป็นอย่างน้อย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว อาจอธิบายการสนับสนุนที่นักลงทุนแสดงต่อข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลใหม่ เช่น ข้อกำหนด Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ของสหภาพยุโรป และคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ (ISSB) ซึ่งอาจนำไปสู่การรายงานด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องและเปรียบเทียบได้มากขึ้น ทั้งนี้ การรับรองจากบุคคลที่สามจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการรายงานความยั่งยืนได้

 

ผลการสำรวจนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงสามประเด็นที่บริษัทควรดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุน ดังนี้

 

  1. ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอนาคตและการคิดค้นการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ การพัฒนาเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีเกิดใหม่อื่นๆ ได้สร้างความน่าตื่นเต้นให้กับบริษัทต่างๆ เช่นเดียวกับนักลงทุน โดย 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อการสร้างและรับคุณค่าในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ นักลงทุนยังจัดให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น AI, เมตาเวิร์ส และบล็อกเชน อยู่ในลำดับความสำคัญ 5 อันดับแรกเมื่อประเมินบริษัทต่างๆ ขณะที่นักลงทุน 61% กล่าวว่าการนำ AI มาใช้อย่างรวดเร็วนั้นมีความสำคัญมากหรือสำคัญอย่างยิ่ง แต่ก็ตระหนักด้วยว่าการใช้ AI อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงของความปลอดภัยของข้อมูลและภัยคุกคามความเป็นส่วนตัว ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำกับดูแลและการควบคุมที่ไม่เพียงพอ

 

  1. ปลูกฝังความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนคุณค่า นักลงทุนต้องการเห็นว่าบริษัทต่างๆ มีการนำประเด็นด้านความยั่งยืนมาใช้ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ การจัดการความเสี่ยง และงบการเงินได้อย่างไร รวมถึงโอกาสในการสร้างมูลค่าในระยะยาว นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเห็นพ้องต้องกันว่าบริษัทต่างๆ ควรผนวกแนวปฏิบัติด้าน ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์โดยตรง และควรลงทุนในด้านนี้แม้ว่าจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรในระยะสั้นลดลง นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ (75%) ยังต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของบริษัทที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอาจเปิดเผยเป็นมูลค่าทางการเงิน ซึ่งหากบริษัทสามารถทำได้ นักลงทุนก็พร้อมที่จะลงทุนมากขึ้น

 

  1. สร้างความน่าเชื่อถือให้กับรายงานความยั่งยืน นักลงทุนยังมีความไม่เชื่อมั่นในแหล่งข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัท อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า นักลงทุนเกือบทั้งหมดเชื่อว่าการรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรมีการกล่าวอ้างที่ไม่ได้รับการสนับสนุน ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นความท้าทายของบริษัท คือการเก็บข้อมูลตามตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และการมีระบบในการจัดทำรายงานที่ได้คุณภาพเช่นเดียวกับการจัดทำรายงานทางการเงิน นอกจากนี้ การได้รับการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกที่มีความเป็นกลางก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น 

 

เราจะเห็นว่าประเด็นด้านความเชื่อมั่น เทคโนโลยี และความยั่งยืน ทั้ง 3 ประเด็นนี้ล้วนมีความเชื่อมโยงกัน โดยความยั่งยืนและเทคโนโลยีเป็นประเด็นสำคัญที่นักลงทุนมองหาจากบริษัทต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งหากผู้นำและผู้บริหารสามารถจัดทำรายงานที่ใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อระบุความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจได้อย่างแท้จริง ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับศักยภาพขององค์กรในสายตาของนักลงทุนได้ในที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising