ภาพรวมตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ปรับตัวลดลงถ้วนหน้าจากแรงถ่วงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับลดลงอย่างหนัก โดยนักลงทุนยังรอติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมและค้าปลีก ซึ่งจะมีการประกาศในกลางสัปดาห์ รวมถึงติดตามนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
หุ้นในเอเชียกอดคอกันร่วงเช้าวันนี้ (13 มิถุนายน) เนื่องจากตลาดหลักในภูมิภาคอย่างตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับลดลงมากกว่า 2% ด้วยแรงเทขายหุ้นทางเทคโนโลยี
โดยดัชนี Nikkei 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นร่วง 2.8% และหุ้นของกลุ่ม SoftBank Group ตกลงมากกว่า 4% ดัชนี Topix ลดลง 2.17%
ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงร่วง 2.46% หุ้น Tencent ร่วง 2.67% ในขณะที่ Alibaba ร่วงลง 4.5% ดัชนี Hang Seng Tech ลดลง 2.67%
Kospi ของเกาหลีใต้ร่วง 2.75% นำโดยหุ้นเทคโนโลยีอย่าง Samsung Electronics ซึ่งลดลง 2.19% ในขณะที่ Kakao ลดลง 3.87%
ด้านตลาดหุ้นไต้หวัน ดัชนี Taiex ตกลง 2.4% และหุ้นของ TSMC ลดลง 2.45%
Shanghai Composite ในจีนแผ่นดินใหญ่ลดลงประมาณ 0.5%
ขณะที่ดัชนี MSCI เอเชียแปซิฟิก ไม่รวมญี่ปุ่น ปรับลดลง 2% อย่างไรก็ตาม วันนี้ตลาดหุ้นออสเตรเลียปิดทำการเนื่องในโอกาสวันหยุดนักขัตฤกษ์
นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารมิซูโฮ กล่าวว่า จากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุดที่ประกาศออกมา พบว่ายังไม่ถึงจุดสูงสุด ทำให้ตลาดคาดหวังไปถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed ที่น่าจะเร่งขึ้นและมากกว่าคาดการณ์เดิม เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นเอเชียยังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.195% ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 3.181%
ทั้งนี้ ในปลายสัปดาห์นี้จะมีการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจของจีน คือตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการขายปลีกในเดือนพฤษภาคมจะออกในวันพุธ นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคาดว่าจะประกาศการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยในปลายสัปดาห์นี้
รวมถึงปัจจัยด้านความไม่แน่นอน ทั้งความตึงเครียดในยูเครน-รัสเซีย นโยบาย Zero-COVID ของจีน ซึ่งจะยังคงกดดันราคาอาหารและพลังงานท่ามกลางวิกฤตการณ์อาหารขาดแคลนทั่วโลก
ด้านความเคลื่อนไหวค่าเงินเยน ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเช้าวันนี้เงินเยนซื้อขายที่ 134.81 ต่อดอลลาร์ ใกล้เคียงกับระดับ 135 หลังจากที่อ่อนค่าลงจากระดับที่ต่ำกว่า 132 เมื่อเทียบกับดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ส่วนราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในช่วงเช้าของชั่วโมงการซื้อขายในเอเชีย โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ระดับสากลปรับตัวลง 1.84% มาอยู่ที่ 119.77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าสหรัฐฯ ร่วง 1.84% สู่ 118.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP