ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา หุ้นของ บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ TEAMG เป็นหุ้นที่ปรับขึ้นร้อนแรงที่สุดด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นเกือบ 200% ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทดูเหมือนจะยังเติบโตได้ไม่ทันกับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป
จากราคาปิดที่ 5.10 บาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ราคาหุ้น TEAMG พุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 15.2 บาท เพิ่มขึ้น 198% และหากย้อนกลับไปดูตั้งแต่ต้นปี 2565 พบว่าราคาหุ้น TEAMG พุ่งขึ้นมาถึง 406% จากปีก่อน
ราคาที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่กำไรของบริษัทในช่วงที่ผ่านมากลับไม่ได้ปรับขึ้นโดดเด่น โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งมีกำไรสุทธิปรับลดลงด้วยซ้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตือนผู้ลงทุนระมัดระวังก่อนเข้าซื้อขายหุ้น TEAMG หลังราคาพุ่งเฉียด 200% ใน 15 วัน
- หุ้น TEAMG ทำธุรกิจอะไร ทำไมราคาวิ่งแรงเฉียด 300% นับจากต้นปี
- หุ้น TEAMG พุ่งชนซิลลิ่ง นักลงทุนไล่ซื้อเก็งกำไร หวังความร่วมมือในอนาคตกับกลุ่ม SCG
ไตรมาส 1 มีกำไรสุทธิ 18.35 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 2 ทำได้ 5.66 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14% และ 69% ตามลำดับ ทำให้อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของ TEAMG เพิ่มสูงถึงระดับ 100 เท่า พร้อมกับมูลค่าของบริษัทที่เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1 หมื่นล้านบาท
กำไรไตรมาสที่ออกมาน่าผิดหวัง ส่งผลให้ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ปรับลดราคาพื้นฐานของ TEAMG ลงมาเหลือ 2.90 บาท จาก 3.80 บาท พร้อมให้คำแนะนำขาย
ขณะเดียวกันก็ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ลง 25% มาเหลือ 107 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากโครงการภาครัฐที่ชะลอตัวในครึ่งปีแรก ส่วนปี 2566 คาดว่ากำไรสุทธิของ TEAMG จะฟื้นตัวขึ้นเป็น 130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากประมาณการปีนี้ เนื่องจากการรับรู้รายได้งานใหม่ที่ได้รับเข้ามา
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2561-2564 ธุรกิจของ TEAMG ไม่ได้หวือหวาเท่าใดนัก ด้วยฐานกำไรต่อปีในระดับ 110-120 ล้านบาท ก่อนที่ราคาหุ้นจะเริ่มมีแรงเก็งกำไรเข้ามาหนาแน่นจากการที่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ส่งบริษัทลูกอย่าง บริษัท เน็กซเตอร์ เวนเจอร์ส จำกัด เข้ามาถือหุ้น 9.9% เมื่อปลายปีก่อน พร้อมกับการเข้ามาของผู้ถือใหญ่อันดับ 1 รายใหม่อย่าง ธีระชัย รัตนกมลพร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.ดิทโต้ (ประเทศไทย) หรือ DITTO ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TEAMG มีการขยับปรับเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อ เน็กซเตอร์ เวนเจอร์ส ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ออกไปครึ่งหนึ่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา เหลือสัดส่วนเพียง 4.74% ขณะที่ครอบครัวรัตนกมลพรเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติม ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 12.54% เป็น 15.15%
นอกจากนี้ จากแบบรายงาน 246-2 ของสำนักงาน ก.ล.ต. ยังได้ปรากฏชื่อของ สถาพร งามเรืองพงศ์ เข้ามาถือหุ้น TEAMG เพิ่มขึ้นเป็น 5.88%
ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กำไรสุทธิกลับวิ่งลดลงสวนทาง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สอบถามเกี่ยวกับพัฒนาการสำคัญไปยังบริษัท ซึ่งปรากฏว่ายังไม่ได้มีพัฒนาการสำคัญใดๆ พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้กำหนดให้ TEAMG เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย ระดับ 2 ทำให้นักลงทุนไม่สามารถทำ Net Settlement และห้ามนำหุ้น TEAMG มาคำนวณวงเงินซื้อขาย รวมทั้งต้องใช้บัญชี Cash Balance ในการซื้อขายเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ TEAMG เคยเข้าสู่มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 เมื่อ 7 กันยายน 2565 และขึ้นสู่ระดับ 2 ในวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา และหากสภาพการซื้อขายยังคงปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกระดับมาตรการขึ้นสู่ระดับ 3 ซึ่งเป็นมาตรการสูงสุด ทำให้หุ้น TEAMG จะถูกพักการซื้อขายชั่วคราว 1 วันทำการตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ขณะที่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ประเมินไว้เมื่อเดือนสิงหาคมว่า ราคาหุ้นก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นจากความคาดหวังเรื่องความร่วมมือกับผู้ถือหุ้นใหม่อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำไรยังไม่สามารถเติบโตได้ทัน และกลับลดลงสวนทางราคาที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับให้คำแนะนำขายด้วยราคาพื้นฐาน 4.16 บาท ก่อนที่จะประกาศผลประกอบการไตรมาส 2
คำถามสำคัญที่ตามมาหลังจากนี้คือ อนาคตของ TEAMG จะเป็นอย่างไรหลังการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างต่อเนื่อง และการเติบโตที่หลายคนคาดหวังผ่านแรงเก็งกำไรจะเกิดขึ้นเมื่อใด และจะเป็นการเติบโตได้ทันกับมูลค่าที่เพิ่มขึ้นหรือไม่