รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ธนาคารออมสินได้ออกหนังสือเวียนถึงกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสำนักงานให้ดำเนินการเร่งรัดในการฟ้องคดีลูกหนี้สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเป็นการเร่งรัดฟ้องคดีทั้งลูกหนี้ครูที่ผิดนัดชำระและถูกบอกเลิกสัญญาไปแล้ว รวมถึงลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างทวงถามหรือบอกเลิกสัญญา
หนังสือเวียนเร่งรัดฟ้องคดีฉบับนี้มีขึ้นหลังครูกลุ่มหนึ่งประกาศปฏิญญามหาสารคามเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2561 ขอให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ทุกโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป โดยครูกลุ่มนี้ประกาศจะยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่าเข้าใจว่าอาจเป็นความเดือดร้อนของครู แต่การที่ครูจะเบี้ยวหนี้คงไม่สามารถทำได้ เพราะการกู้ยืมเงินมีการทำสัญญาระหว่างครูซึ่งเป็นผู้กู้กับธนาคารออมสิน และในการกู้แต่ละโครงการนั้น ผู้กู้จะทราบดีว่าตนต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนเท่าใด และต้องทำสัญญาใดบ้าง ดังนั้นก็ต้องชำระหนี้ตามกฎหมาย ส่วนคนที่ตั้งใจจะไม่ใช้หนี้จริงๆ ก็จะต้องถูกดำเนินการทางกฎหมาย
ส่วนที่ครูเห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมกรณีการบังคับทำประกันชีวิตนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข และที่ผ่านมาได้มีการทำบันทึกข้อตกลง มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูกับธนาคารออมสิน ลดดอกเบี้ย 0.5-1% ให้กับครูที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี
อย่างไรก็ตาม หนังสือฉบับดังกล่าวเป็นขั้นตอนการเร่งรัดหนี้ตามกฎหมายในกรณีที่ผู้กู้มีหนี้ค้างชำระและไม่เข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้สำหรับการแก้ไขหนี้สินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือไม่มีการติดต่อชำระหนี้กับทางธนาคาร
ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมาต่อเรื่องนี้ว่า “ไม่เห็นด้วยกับการที่ครูจะยุติการชำระหนี้” เพราะจากการสอบถาม กระทรวงศึกษาธิการได้มีการเจรจากับธนาคารออมสินจนได้ข้อยุติในหลายๆ เรื่อง เช่น การลดดอกเบี้ย การแก้ไขเรื่องการประกันชีวิต ซึ่งครูส่วนใหญ่ชำระหนี้ดี และไม่เห็นด้วยกับการยุติการชำระหนี้ ขออย่าให้ขยายเป็นเรื่องบานปลาย ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจด้วย
ขณะเดียวกันกลุ่มวิชาชีพครูหลายกลุ่มได้ออกมาคัดค้าน ‘ปฏิญญามหาสารคาม’ อย่างต่อเนื่อง อาทิ สมาพันธ์ครูใต้ ประกาศไม่เห็นด้วยและมองว่ามีครูและบุคลากรทางการศึกษาเพียงแค่ 20% ค้างจ่ายเงินกู้ และมองว่ามีลักษณะคล้ายกับการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอ ขณะที่บรรดาข้าราชการครูและอดีตข้าราชการครูในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ต่างพากันไม่เห็นด้วยกับการประกาศปฏิญญาดังกล่าว ครูบางรายออกมาระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทุกคนที่เป็นหนี้ไม่ว่าเป็นใครก็ต้องชำระหนี้ตามกฎหมาย