×

ครูนัท-ณัติเวช หงษ์อินทร์ ผู้ทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
05.10.2023
  • LOADING...
ครูนัท-ณัติเวช หงษ์อินทร์

การศึกษาของแต่ละโรงเรียน แต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ ต่างก็มีรูปแบบการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป ยิ่งในโรงเรียนตามต่างจังหวัดที่มีขนาดเล็ก ขาดทั้งงบประมาณ ขาดอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน ขาดหนังสือเสริมความรู้อ่านเพิ่มเติมนอกเวลาเรียน ไปจนถึงขาดครูผู้สอนที่มีความรู้ตรงกับวิชานั้นๆ 

 

เราจะเห็นว่าโรงเรียนหลายแห่งยังคงขาดโอกาสหลายด้าน โดยเฉพาะการสนับสนุนในด้านต่างๆ เหมือนกับ ‘โรงเรียนบ้านห้วยแกดอนหันหนองหญ้าม้า’ ตำบลห้วยแก อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ที่มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 รวมแล้ว 135 คน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา ทั้งการขาดบุคลากรด้านการศึกษา ขาดสื่อการสอน และอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพของเด็กๆ 

 

ครูนัท-ณัติเวช หงษ์อินทร์ เป็นครูคนหนึ่งในโรงเรียนบ้านห้วยแกดอนหันหนองหญ้าม้า ที่แบ่งปันเรื่องราวมากมายจากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาต้นแบบการศึกษาของกลุ่ม ปตท. รวมถึงการสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่ทำให้ความคิด แนวทาง ความคิด และสไตล์การสอนของเขาเปลี่ยนไป 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เปลี่ยนแค่ตัวเขาคนเดียวเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ การกล้าคิด กล้าแสดงออก เพื่อลงมือทำบางสิ่งให้เกิดขึ้นจริง 

 

‘จากเกษตรกรสู่พ่อพิมพ์ของชาติ’ และการเผชิญปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอน 

 

ปัจจุบันครูนัทสอนวิชาวิทยาการคำนวณ วิชาการออกแบบเทคโนโลยี วิชาการงานอาชีพ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เขาเล่าถึงชีวิตส่วนตัวก่อนที่จะมาเป็นครูอย่างปัจจุบันว่า อาชีพแรกของเขาคือการเป็นพนักงานราชการสังกัดกรมอนามัย จากนั้นได้ไปทำงานด้าน IT Support และ Hosting Web Server ในบริษัทเอกชน แล้วเริ่มอาชีพครูด้วยการเป็นครูโรงเรียนเอกชน ก่อนเบนสายมายังการประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของตัวเขาเอง 

 

“มีสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจในการเปลี่ยนแปลง การอยู่แบบเกษตรกรก็ดี มีความพอเพียง ด้วยนิสัยส่วนตัวของผมที่เป็นคนชอบแสวงหาความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะด้าน ICT ที่นำมาใช้แก้ปัญหา เลยมาย้อนคิดว่า คงจะดีไม่น้อยถ้าความรู้ที่เราเจอหรือเราสนใจสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม แล้วเผยแพร่ความรู้นั้นออกไปด้วยการถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง เลยตัดสินใจสอบข้าราชการครู ซึ่งตอนนี้ผมเป็นครูได้ประมาณ 5 ปีแล้ว”

 

แต่ด้วยความที่โรงเรียนบ้านห้วยแกดอนหันหนองหญ้าม้า เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ต่างจังหวัด ปัญหาหลักๆ ที่มองเห็นได้ทันที คือจำนวนครูผู้สอนมีไม่เพียงพอต่อรายวิชาที่เด็กๆ ต้องเรียน 

 

พูนทรัพย์ โยธา ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าถึงการเรียนการสอนในช่วงแรกว่า ด้วยจำนวนครูที่น้อย ส่วนใหญ่เป็นครูประจำหมู่บ้าน ทำให้ครูสอนไม่ตรงเอก คนหนึ่งต้องสอนอย่างน้อย 4 วิชา เช่น ครูวิชาวิทยาศาสตร์จะต้องสอนวิชาคณิตศาสตร์ การงานอาชีพ และแนะแนว

 

 

เมื่อเป็นดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือครูหนึ่งคนจะต้องเตรียมการเรียนการสอนหนักกว่าเดิม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าครูที่สอนหลายวิชา ไม่ได้มีความรู้ในทุกวิชาที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ และส่งผลให้การเรียนการสอนทั้งหมดเกิดการรวน รวมถึงปัญหาพื้นฐานอย่างการขาดแคลนเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่มีสื่อการสอนที่ดีพอ พอไม่มีทางเลือกมากนักจนทำให้การสอนส่วนใหญ่เป็นแบบบรรยาย 

 

ครูนัทเองก็ต้องสอนหลายวิชา ปัญหาที่เขาเห็นได้ชัดคือการเรียนการสอนของเด็กเล็กจะเน้นท่องจำเพื่อสอบ ที่ตัวเขาคิดว่ามีประสิทธิภาพแค่ในทางทฤษฎี ใช้สอบเลื่อนระดับชั้นไปเรื่อยๆ แต่เมื่อพ้นจากห้องเรียน เด็กๆ ก็ไม่สามารถนำสิ่งที่ท่องจำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เท่าไรนัก 

 

โครงการพัฒนาต้นแบบการศึกษาของกลุ่ม ปตท. 

 

เมื่อรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น กลุ่มครูในโรงเรียนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหาทางแก้ปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ ผอ.พูนทรัพย์ จึงแนะนำให้ครูรวมถึงเด็กนักเรียนเข้าร่วมโครงการพัฒนาการเรียนการสอนต่างๆ รวมถึงโครงการพัฒนาต้นแบบการศึกษาของกลุ่ม ปตท. ทั้ง โครงการ Restart Thailand ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจบใหม่ที่ไม่ได้รับการจ้างงานช่วงสถานการณ์โควิดซึ่งเป็นคนในชุมชน ร่วมปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และการศึกษา ทำให้โรงเรียนได้นักศึกษามาเป็นครูช่วยสอนในวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี 

 

นอกจากนี้ยังมีโครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านการศึกษา ให้เด็กดีมีความสามารถ ส่งเสริมทักษะการสอนแบบลงมือปฏิบัติ (Active Based Learning) ให้เด็กๆ ได้ลองปฏิบัติจริงพร้อมก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

 

แต่สำหรับครูนัท เขาได้มีส่วนร่วมโดยตรงกับ ‘โครงการพัฒนาต้นแบบการศึกษาของกลุ่ม ปตท.’ ที่มุ่งเน้นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ (STEEM) ที่จะอบรมให้ความรู้ทางวิชาการกับครู เพื่อให้ครูนำทักษะกระบวนการต่างๆ ไปต่อยอดปรับใช้ในโรงเรียนที่ตัวเองสอนอยู่ เน้นการพัฒนาส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้รอบด้าน โดยเฉพาะการสร้างแรงบันดาลใจให้ครูและนักเรียน เช่น การได้เรียนรู้ว่าปัญญาประดิษฐ์หรือระบบ AI ก้าวไปถึงไหนแล้ว เพื่อให้เกิดความรู้สึกอยากก้าวให้ทันเทคโนโลยี เริ่มริลองลงมือปฏิบัติจริง และมีการให้ความรู้ทั้งแบบ Hard Skill และ Soft Skill

 

ครูนัท-ณัติเวช หงษ์อินทร์

 

ไม่ใช่การเสริมทักษะด้านวิชาการเท่านั้น แต่โครงการพัฒนาต้นแบบการศึกษายังรวมถึงการอบรมให้ความรู้เรื่องจริยธรรม (Ethics & Growth Mindset), การเป็นผู้ประกอบการที่ดี (Entrepreneurship), ความตระหนักเรื่องพลังงาน (Energy Literacy) และสำนึกรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม (Environmental Awareness) ที่เรียกว่า 4E ทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ 

 

ครูนัทเล่าว่า STEM คือการนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับหลายอย่างในชีวิตของแต่ละคนที่มีบริบทต่างกัน ยกตัวอย่างจากในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ครูนัทกับนักเรียนกลุ่มหนึ่งได้ไปเข้าค่ายที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโรงเรียนของกลุ่ม ปตท. เพื่อทำโครงงาน STEM ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 

 

ในโครงการยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ลองส่งโครงงานเข้าประกวด ซึ่งครูนัทส่งโครงงานนวัตกรรมการเขียนโปรแกรมด้วยบอร์ด KidBright หรือบอร์ดสมองกลฝังตัว โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เปิด-ปิดระบบรดน้ำต้นไม้ 

 

การจุดประกายทางความคิดนี้อ้างอิงจากประสบการณ์ใกล้ตัว เพราะครูนัทกับนักเรียนปลูกต้นดาวเรืองไว้ที่หลังโรงเรียน แต่หลายครั้งเด็กๆ ลืมรดน้ำต้นไม้ ยิ่งในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดยาว ดาวเรืองที่ปลูกไว้จะเริ่มเหี่ยวแล้วตายในที่สุด จึงเกิดการตั้งคำถามร่วมกัน ว่าเราจะสามารถนำการเรียนโค้ดดิ้งที่ได้จากโครงการพัฒนาต้นแบบการศึกษา มาปรับใช้กับเรื่องนี้ได้ไหม 

 

ครูนัท-ณัติเวช หงษ์อินทร์

 

“เด็กๆ ตอบว่า ‘มันจะยากไปไหมครู’ ผมก็เลยตอบว่ามาช่วยกันทำกับครูดีไหม เรียนรู้ด้วยกันกับครูนี่แหละ เราไปหาข้อมูลว่าอะไรจะทำได้ ศึกษาทางอินเทอร์เน็ตบ้าง ยูทูบบ้าง ดูสิ่งที่เขาลงในโลกออนไลน์ แล้วเอามาปะติดปะต่อกันเหมือนจิ๊กซอว์ โชคดีที่โรงเรียนบ้านห้วยแกดอนหันหนองหญ้าม้า มีบอร์ด KidBright ที่คุณครูไปอบรมมาตั้งแต่ปี 2560 แล้วได้มา 50 ชุด 

 

“พอเราได้ความรู้ เริ่มเขียนโปรแกรม เขียนเป็นแผนการสอนออกมาในวิชาคอมพิวเตอร์เพิ่มเติม ซึ่งเจาะจงลงไปเรื่องการเขียนโปรแกรมโดยเฉพาะกับบอร์ด KidBright พัฒนาเป็นนวัตกรรมแล้วก็ส่งเข้าประกวด แล้วรับการโหวตให้รับรางวัลประชาชื่นชม

 

“นอกจากนี้เรายังเคยส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่องการเขียนโปรแกรมด้วยบอร์ด KidBright ประยุกต์ใช้ในการเพาะถั่วงอก ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองอันดับ 1 เขาถามว่าคิดได้อย่างไรถึงเอาตัวนี้มาทำ เราบอกไปว่าคิดจากเรื่องง่ายๆ ว่าการทำถั่วงอกจะต้องรดน้ำและถ่ายน้ำตลอดเวลา แต่ถ้าเราไม่มีเวลารดน้ำ ถั่วงอกที่เพาะไว้จะเสียหายและไม่เจริญเติบโต ซึ่งเด็กๆ นำเสนอได้ดีมาก เราก็เลยชนะ เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ผมภูมิใจ”

 

‘เครื่องให้อาหารไก่อัจฉริยะ’ และ ‘เครื่องแยกขยะอัตโนมัติ’ ผลลัพธ์ยอดเยี่ยมที่ได้จากการเรียนรู้ STEM

 

การอบรม STEM ต่อยอดอะไรได้บ้าง? คำตอบของคำถามนี้คือการต่อยอดได้ไม่รู้จบ 

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการพัฒนาต้นแบบการศึกษา ไม่ได้อบรมให้ความรู้เพียงแค่ทฤษฎีหรือเนื้อหาเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการคิดนอกกรอบ นำสิ่งที่ได้มาปรับใช้ให้เขากับชีวิตประจำวันเหมือนกับครูนัท ที่สามารถคิดค้นเครื่องให้อาหารไก่อัจฉริยะและเครื่องแยกขยะอัตโนมัติ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ของตัวเองที่มีร่วมกับเด็กๆ ในชั้นเรียน 

 

ที่มาของโครงงานเครื่องให้อาหารไก่อัจฉริยะ เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามในชั้นเรียนวิชาการงานอาชีพชั้น ม.2 กับหัวข้อสัตว์เลี้ยง เพราะหลังโรงเรียนมีเล้าไก่ที่เด็กๆ กับครูจะช่วยกันเลี้ยงและให้อาหาร แต่ถ้าเด็กกับครูไม่อยู่นานๆ ใครจะเป็นคนให้อาหารไก่ แล้วจะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถสร้างสรรค์อะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้ 

 

ครูนัท-ณัติเวช หงษ์อินทร์

 

“ตอนนั้นเราเจอความรู้ใหม่เรื่องการทำงาน Servo Motor ของหุ่นยนต์ เลยเอามาประยุกต์ใช้กับบอร์ด KidBright ที่เรามี คู่กับตั้งคำถามว่า จะเป็นไปได้ไหมถ้าเราเทอาหารใส่กรวยหรือถังอะไรสักอย่าง ถึงเวลาก็จะเปิดให้อาหารไหลลงมาให้ไก่มากิน เด็กๆ บอกว่าอยากลองทำให้เป็นจริงดูเหมือนกัน แล้วแยกย้ายกันไปหาข้อมูลสืบค้นว่าต้องใช้อะไรบ้าง 

 

“การเขียนโปรแกรมจะว่าง่ายก็ไม่ง่าย จะว่ายากก็ไม่ยาก ต้องเรียงลำดับขั้นตอนการทำงานให้เป็น ใช้การคิดว่าถ้ามีบางสิ่งเกิดขึ้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นตามมา เอาเงื่อนไขมาแปลงเป็นตรรกะ เพื่อเขียนโค้ดโปรแกรม ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอบคุณ ปตท.สผ. ที่ให้ทุนสนับสนุนโปรเจกต์ เพราะอุปกรณ์ด้านไอทีแต่ละอย่างค่อนข้างมีราคาสูงพอสมควร แต่เราได้รับงบประมาณส่วนนี้มา เลยสามารถทำสิ่งที่วาดไว้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้จริง”

 

 

ส่วนจุดเริ่มต้นของการสร้างเครื่องแยกขยะ มาจากการที่ครูนัทเป็นผู้รับผิดชอบโครงการขยะรีไซเคิลของโรงเรียน แล้วเขาได้เห็นปัญหาหลายอย่างจากการพาเด็กๆ จิตอาสาลงพื้นที่ เพราะขยะจำนวนมากในโรงเรียนถูกทิ้งแบบรวมๆ ปนกัน ไม่มีการแยกขยะ กลุ่มจิตอาสาก็จะต้องใช้เวลาอยู่กับถังขยะใบใหญ่เพื่อแยกขยะอีกรอบหนึ่ง แม้จะมีการรณรงค์หรือสอนว่าขยะแต่ละประเภทควรทิ้งในถังขยะสีไหน แต่ผลที่ได้ยังไม่ดีเท่าที่ควร 

 

“ผมเลยถามนักเรียนว่า มันจะดีไหมถ้ามีอะไรสักอย่างที่บอกว่าทิ้งขวดในถังนี้ หรือทิ้งถุงพลาสติกในถังนั้น โดยที่เราแค่มารอเก็บขวดไปขายได้เลย นักเรียนก็เห็นด้วยว่ามันจะช่วยลดเวลาของกลุ่มอาสา เพราะว่าจากที่ลองทำเป็นตะแกรงแยกขวด บางทีเด็กเล็กๆ เขายังไม่เข้าใจว่าตะแกรงนี้ทิ้งได้เฉพาะขวดน้ำ เขาก็เอาขยะที่เขามีอย่างถุงนมหรือถุงพลาสติกมาทิ้งอยู่ดี เลยคิดจะทำเครื่องแยกขยะอัตโนมัติด้วยระบบ AI

 

“ประกอบกับที่ผมได้เข้าอบรมเมื่อวันที่ 22 เมษายน กลุ่ม ปตท. จัดอบรม STEM ที่กรุงเทพฯ ได้รับความรู้เกี่ยวกับ AI มาเยอะมาก เห็นตัวอย่างว่าบางโรงเรียนในประเทศจีน สามารถใช้ AI แยกใบหน้าของเด็กๆ ที่ใส่หน้ากากอนามัยกับคนที่ไม่ใส่หน้ากากได้ สามารถเช็กชื่ออัตโนมัติโดยที่ครูไม่ต้องมาคอยเช็กเอง 

 

 

“เราเอาเรื่องนี้มาประยุกต์กับโครงการถังขยะที่กำลังทำ คู่กับความถนัดเรื่องบอร์ด KidBright ที่สอนนักเรียนอยู่แล้ว ทำให้ระบบสามารถแยกประเภทขยะได้ จากนั้นมอเตอร์จะสั่งให้เปิดฝาถังขยะให้ถูกประเภท ผลตอบรับของเด็กๆ ดีมาก พวกเขาตื่นเต้นและชอบที่จะได้ใช้เครื่องนี้ เป็นการฝึกวินัยและความเข้าใจของเด็กๆ ไปในตัว ว่าขยะที่เขามีควรจะต้องทิ้งลงในถังสีอะไร”

 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการประยุกต์ใช้ด้วยการมองปัญหาใกล้ตัวที่เจอในทุกวัน แล้วคิดต่อว่า STEM สามารถแก้ปัญหาเรื่องราวเหล่านี้ได้ไหม วิทยาศาสตร์ช่วยในด้านใดได้บ้าง เราสามารถนำคณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ความรู้ด้านวิศวกรรม หรือการออกแบบโครงสร้างงานประดิษฐ์ต่างๆ มาทำอะไรได้บ้าง 

 

เสียงสะท้อนจากเด็กๆ ผู้เป็นเยาวชนของชาติ 

 

โครงการพัฒนาต้นแบบการศึกษาได้เข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านห้วยแกดอนหันหนองหญ้าม้าหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงทัศนคติที่มีต่อการศึกษาของทั้งตัวครูผู้สอนรวมถึงเด็กนักเรียน ที่ได้รู้จักกับแนวการเรียนการสอนแบบใหม่ ไม่ใช่แค่เฉพาะว่าจะต้องท่องจำเนื้อหาทางวิชาการเพื่อสอบเลื่อนชั้นเท่านั้น แต่ใจความสำคัญคือการเข้าใจถึงเนื้อหาที่เรียนอยู่อย่างแท้จริง 

 

ในด้านครูผู้สอน ครูนัทแบ่งปันมุมมองที่เปลี่ยนไปว่าเขานำสิ่งที่ได้จากโครงการของกลุ่ม ปตท. มาปรับใช้กับการสอนของตัวเอง ไม่เน้นท่องจำ แต่เน้นให้เข้าใจหลักการและสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการ Active Learning ซึ่งมีหลายรูปแบบการเรียนรู้ เช่น การใช้โครงงานเป็นฐานในการเรียนรู้ (Project Base Learning) ในระดับชั้นมัธยมศึกษา การเรียนรู้แบบ STEM ศึกษา ใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Base Learning) และการเรียนแบบ Job Training เรียนรู้ด้วยการทำงานในวิชาการงานอาชีพ 

 

ครูนัท-ณัติเวช หงษ์อินทร์

 

“ผมเองก็จะต้องเรียนรู้แล้วพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าทุกวันนี้วิทยาการความรู้ต่างๆ ไปเร็วมาก ความรู้ทั้งหมดเหมือนมหาสมุทร เราเรียนรู้แค่หยดเดียวของมหาสมุทรเท่านั้น ยังต้องเรียนรู้อีกมาก เราต้องพัฒนาตัวเอง มาพัฒนางานที่เราทำไว้ให้ดีที่สุด แล้วสามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่ใช่แค่เพื่อตัวผม แต่หมายถึงเด็กๆ ที่ผมสอนด้วย”

 

ครูนัทยังเล่าอีกว่า แม้ช่วงแรกที่เริ่มให้นักเรียนมีส่วนร่วมหรือคิดค้นอะไรบางอย่างขึ้นมา พวกเขาจะกล้าๆ กลัวๆ ไม่ค่อยมีความมั่นใจ เห็นได้จากการถามย้ำๆ ว่าสิ่งที่คุยกันไว้จะสามารถทำให้เป็นจริงได้แน่เหรอ 

 

แต่หลังจากนักเรียนเริ่มปรับตัวตามครูผู้สอน เสียงสะท้อนของนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.3 จะตอบตรงกันว่ารู้สึกสนุกเวลาเข้าเรียน รู้สึกกระตือรือร้นขึ้นกว่าเดิม และรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ลงมือทำอะไรสักอย่างด้วยตัวเอง ยิ่งการลงมือทำที่ว่านั้นประสบความสำเร็จ เขาจะจดจำช่วงเวลานั้นแล้วกลายเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่ฝังแน่น 

 

ถ้าบางครั้งการลงมือทำของพวกเขาเกิดอุปสรรค ครูก็จะมีหน้าที่คอยช่วยให้กำลังใจ ให้คำแนะนำปรึกษา และช่วยหาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ เหมือนการสอนแบบโค้ช (Coach) และการสอนแบบผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator)

 

นอกจากนี้ โครงการด้านการศึกษาหลายโครงการของกลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะโครงการพัฒนาต้นแบบการศึกษา เปิดโอกาสให้เด็กๆ มีเวทีแสดงความสามารถ ที่ทำให้ครูได้รู้ว่าเด็กคนไหนมีความสนใจเรื่องอะไร หรือตัวเด็กเองได้ค้นพบความสนใจและความสามารถของตัวเอง  

 

ครูนัท-ณัติเวช หงษ์อินทร์

 

“ปตท. เขาจะโฟกัสเรื่อง STEM ให้เด็กแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันให้เป็น และสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะสำหรับผม เด็กต่างจังหวัดหลายพื้นที่มีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะได้ไปยังเวทีใหญ่ๆ เช่น การเดินทางจากขอนแก่นไประยอง เด็กๆ ที่เคยไปครั้งแรกก็ถามผมว่า ‘ระยองอยู่ไกลไหม อยู่ภาคไหน ภาคใต้ใช่ไหมครู’ เขาได้ไปเห็น ไปเปิดหูเปิดตา ได้ประสบการณ์แปลกใหม่กลับบ้านมาด้วย พอเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้ไปฟัง ในปีถัดไป เพื่อนก็อยากลองไปบ้าง ตรงนี้คือการมอบโอกาสให้กับเด็กต่างจังหวัดมากๆ

 

“พอได้เห็นเด็กๆ ลงมือทำอะไรสักอย่าง ผมรู้สึกมีความสุขเวลาที่ได้ให้ความรู้กับพวกเขา โดยเฉพาะตอนที่พวกเขาประสบความสำเร็จในชีวิต สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แล้ววิ่งมาบอกว่า ‘ครูครับผมทำได้แล้ว’ พร้อมกับรอยยิ้ม นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมอยากพัฒนาตัวเองให้ดี แล้วก็สอนให้นักเรียนเอาตัวรอดในสังคมได้”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising