×

TDRI ชี้ ดีล TRUE ควบรวม DTAC เข้าข่ายผูกขาดระดับอันตราย เพิ่มต้นทุนไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Economy จี้ กสทช. และ กขค. เข้าดูแล

23.11.2021
  • LOADING...
TDRI

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยถึงดีลการเจรจาควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคว่าอาจส่งผลให้ธุรกิจโทรคมนาคมไทยที่มีโครงสร้างที่ผูกขาดอยู่แล้วเกิดการผูกขาดมากยิ่งขึ้นจนเข้าสู่ระดับอันตราย แม้ทั้ง 2 บริษัทจะอ้างเรื่องของการสร้างความเท่าเทียมและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ไทยไปแข่งขันในเวทีโลกเพื่อการรวบรวมนั้น แต่ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกกรณีนี้ว่าเป็นการลดผู้ประกอบการลง 

 

ขณะที่หากมองในมุมของส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือเมื่อรวมทั้ง 2 รายแล้วจะมีส่วนแบ่งตลาด 52% เป็นเบอร์หนึ่งของตลาด ซึ่งในต่างประเทศมีเครื่องมือวัดความผูกขาดเชิงโครงสร้างคือดัชนีการกระจุกตัว (Herfindahl-Hirschman Index: HHI) ค่าสูงสุด 10,000 คือการผูกขาดรายเดียว การควบรวมที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ดัชนี HHI ของธุรกิจโทรคมนาคมไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,012 จาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 เรียกว่าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมหาศาล จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตราย เป็นปัญหาใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูด

 

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกคือผู้ถือหุ้นของค่ายมือถือทั้ง 3 ราย ที่ราคาหุ้นในกระดานปรับขึ้นทุกราย สะท้อนว่านักลงทุนเล็งเห็นว่าการควบรวมเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 บริษัท  ขณะเดียวกันราคาหุ้นของเอไอเอสก็ปรับขึ้นด้วย สะท้อนว่า เมื่อตลาดเหลือผู้เล่น 2 ราย ความจำเป็นในการแข่งขันราคาหรือให้บริการใหม่ๆ ก็ลดลงไปด้วย เอไอเอสจึงได้ประโยชน์ตามไปด้วยแม้ไม่ใช่ผู้ควบรวมโดยตรง

 

ส่วนผู้ที่กระทบเชิงลบคือผู้บริโภค ประชาชน ธุรกิจ ผู้เป็นคู่ค้าบริษัทโทรคมนาคมที่จะมีอำนาจต่อรองลดลง โดยมองว่าตลาดมือถือของไทยจะถอยหลังสู่ยุคก่อนปี 2547 ที่ในเวลานั้นมีผู้เล่นเพียง 2 ราย มีการให้บริการที่ไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากนัก เช่น การล็อก IMEI เครื่องโทรศัพท์ทำให้เกิดการบังคับขายพ่วง ขณะที่สตาร์ทอัพที่หวังจะได้เงินจากการร่วมทุน (Venture Capital) จากธุรกิจโทรคมนาคมก็จะหายไป ดังนั้นในมุมของการควบรวมเพื่อสร้างนวัตกรรมก็จะไม่เป็นจริง

 

เช่นเดียวกับภาครัฐเองที่กำลังจะมีการประมูลคลื่น 6G ในอนาคต เมื่อผู้แข่งขันลดลงรายได้จากการประมูลก็จะลดลงไปด้วย กระทบต่อผู้เสียภาษีที่อาจถูกเก็บภาษีมากขึ้นเพื่อชะลอหนี้สาธารณะ และสุดท้ายระบบเศรฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อาจจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อการควบรวมทำให้โครงสร้างผูกขาดมากขึ้นและอาจทำให้ไทยตกขบวนในการก้าวกระโดดไปสู่ Digital Economy

 

ขณะเดียวกันการผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคมจะแตกต่างจากการควบรวมธุรกิจโรงภาพยนตร์หรือเคเบิลทีวีที่ผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะไม่ใช้บริการได้ แต่จะคล้ายกับการควบรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ประชาชนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้บริการและต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย เทคโนโลยีต่างๆ จะเกิดขึ้นมากมาย หากอนาคตเทคโนโลยีไทยอยู่ในโครงสร้างตลาดที่ไม่มีการแข่งขันจะกระทบไปหมด

 

สมเกียรติยังกล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีหน้าที่เพิ่มการแข่งขันในตลาดและลดการผูกขาดตามที่กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม กำหนดไว้ชัดเจนให้ กสทช. กำหนดมาตรการการถือครองกิจการประเภทเดียวกันได้ จึงปฏิเสธการปฏิบัติหน้าที่ในการเข้ามากำกับดูแลกรณีนี้ไม่ได้ และหาก กสทช. ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ก็ยังมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีหน้าที่ในการกลั่นกรองการควบรวมอย่างเข้มงวด

 

“แม้คณะกรรมการชุดปัจจุบันจะเป็นชุดรักษาการ แต่ก็ต้องทำงานเตรียมไว้รอชุดใหม่ หากถึงเวลาผู้ประกอบการมียื่นควบรวมโดยที่ กสทช. ไม่มีมาตรการรองรับก็จะเป็นกรณีที่ไม่มีความพยายามบังคับใช้กฎหมายที่ตัวเองมีอำนาจอยู่ สิ่งที่ควรเร่งทำเวลานี้คือการออกกฎหมายลูกให้รัดกุมเพียงพอ ตรวจสอบการควบรวมกิจการให้ได้เป็นงานที่ต้องทำ” ประธาน TDRI ระบุ

 

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X