นักวิจัยทีดีอาร์ไอ หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นำโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน ตั้งโต๊ะแถลงข่าวการประเมินผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐบาลประยุทธ์ 1
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การประเมินผลงานทางสถาบันตั้งใจจะหลีกเลี่ยงการให้คะแนนว่ารัฐบาลสอบผ่านหรือสอบตก เหตุเพราะหากทำเช่นนั้น ประเด็นในการนำเสนอข่าวอาจเปลี่ยนไป และสิ่งที่คณะนักวิจัยมุ่งหวังคือ ชี้ให้เห็นข้อดีที่ควรสานต่อ และย้ำข้อด้อยที่ควรยกเลิกหรือปรับปรุงอาจถูกมองข้ามไป
ช่วงหนึ่ง ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า หากให้ประเมินผลงานที่ชอบที่สุด 3 อันดับแรก คือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ปัญหาเร่งด่วนประมงผิดกฎหมาย (IUU) และมาตรฐานการบินธงแดง ICAO รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ส่วนสิ่งที่คิดว่าแย่ที่สุด 3 อย่างคือ ปัญหาการทุจริตเกี่ยวพันคนใกล้ชิดในรัฐบาล การใช้ ม.44 เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนอุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์และทีวีดิจิทัล รวมถึงการออกกฎหมาย พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ ที่ให้อำนาจกลไกรัฐสูงมาก และไร้การตรวจสอบถ่วงดุล
EEC ดูดเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท แต่ส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมเดิมๆ
สำหรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รัฐบาลตั้งเป็นเสาหลักในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หลังล้มเหลวจากโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน 10 แห่ง
ผลงานที่เป็นรูปธรรมของ EEC คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และท่าเรือมาบตาพุดระยะที่3
ขณะที่ EEC สามารถดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายได้พอสมควร โดยในช่วง 3 ปี (2558-2561) มีมูลค่าการลงทุนของโครงการที่ได้รับการอนุมัติการลงทุนรวม 1.014 ล้านล้านบาทในพื้นที่ EEC และ 1.110 ล้านบาทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม ทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกตว่า การลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิมที่มีฐานอยู่ก่อน อาทิ ปิโตรเคมีภัณฑ์ (20%) ยานยนต์และชิ้นส่วน (9%) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (8%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (7%)
ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมการบินยังไม่มีมากนัก รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของโครงการอย่างโปร่งใส และการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ยังเป็นสิ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จ
เน็ตประชารัฐ-สร้างสตาร์ทอัพ ไม่เห็นผล
ขณะที่การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล สิ่งที่ประสบความสำเร็จคือการยกเลิกการใช้สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน การเลิกกรอกแบบฟอร์ม ตม.6 ของคนไทยที่เข้า-ออกประเทศ
แต่ในด้านอื่นๆ ถือว่าเห็นความสำเร็จน้อยมาก ทั้งการเปิดข้อมูล (Open Data) หรือการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Big Data) รวมถึงโครงการเน็ตประชารัฐ และการส่งเสริมสตาร์ทอัพ ซึ่งไทยยังไม่สามารถสร้างยูนิคอร์น หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่า 1 พันล้านเหรียญได้ ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนมียูนิคอร์นแล้ว
ใช้ ม.44 อุ้มนายทุน-ออกกฎหมายมั่นคงไซเบอร์
นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ทำให้เกิดผลเสียอย่างมากคือ การใช้คำสั่ง ม.44 ยกเลิกการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ และยืดอายุวาระการทำงาน กสทช. ชุดเดิมที่มีอายุเกินกว่า 70 ปี โดยอ้างความต่อเนื่องในการทำงาน
การอุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ชนะการประมูล 4G ทั้ง 3 รายคือ เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค ให้สามารถผ่อนชำระค่าใบอนุญาต ซึ่งมีผลให้ทั้ง 3 รายได้รับประโยชน์เกือบ 2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังให้ทั้ง 3 รายได้รับจัดสรรคลื่น 5G โดยไม่มีการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการอุ้มทีวีดิจิทัลในระดับที่เกินกว่าสมควรมาก รวมถึงการออกกฎหมาย พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ซึ่งให้อำนาจหน่วยงานภาครัฐสูงมาก ปราศจากกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม
นอกจากนี้นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทีดีอาร์ไอมองว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง เพราะการให้สวัสดิการคนแบบเจาะจงทำให้ประชาชนยากจนบางส่วนตกหล่น รวมถึงการโอนเงินให้ผู้ถือบัตรในช่วงจังหวะที่อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองก็เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดคำถาม
ขณะที่ผลงานด้านการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันถูกตั้งคำถามในวงกว้างเมื่อเกิดกรณีอื้อฉาวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนใกล้ชิดผู้นำรัฐบาล และรัฐบาลมีการปิดกั้นการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งที่เห็นเด่นชัดมี 3 เรื่องคือ อุทยานราชภักดิ์ กรณีญาติผู้นำรัฐบาลเข้าไปเป็นคู่สัญญากับรัฐหลายแห่ง รวมถึงประเด็น ‘นาฬิกายืมเพื่อน’
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า