วันนี้ (11 เม.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบการกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยอ้างอิงปัญหาจากการแข่งขันทางธุรกิจสำหรับกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ของผู้ประกอบการ จึงให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียม เพื่อให้การประกอบกิจการดังกล่าวสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและจูงใจให้ผู้ประกอบการร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์สำหรับเทคโนโลยี 5G ด้วย
คสช. จึงให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาแบ่งการชำระเงินจากเงินประมูลคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระออกเป็น 10 งวด ปีละงวด งวดละเท่าๆ กัน โดยให้ปีที่ผู้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่ได้นับเป็นงวดแรก และให้ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ตามงวดดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป สำหรับงวดที่ต้องชำระในปี พ.ศ. 2563 ให้ชำระรวมกับเงินชดเชยของงวดที่ผ่านมาด้วย
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ออกแถลงการณ์โดยเห็นว่า การออกคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการยืดหนี้ให้กับบริษัทโทรศัพท์มือถือ 3 รายคือ เอไอเอส ทรู และดีแทค ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสามจะได้ประโยชน์หากมีมาตรการยืดหนี้ออกมาจริง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ภาครัฐพยายามชี้แจงว่าไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน คาดว่าแต่ละรายจะได้ผลประโยชน์จากกรณีดังกล่าวประมาณ 8 พันล้านบาท ส่วนผู้ที่เสียเปรียบคือประชาชนผู้เสียภาษี เพราะการที่รัฐยืดหนี้ให้ทั้งสามรายเท่ากับยกผลประโยชน์ 2.4 หมื่นล้านบาทให้กับนายทุนโทรคมนาคม นอกจากนี้ยังได้วิพากษ์ คสช. อย่างเผ็ดร้อนอีกด้วย
ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจทีวีดิจิทัลที่น่าสนใจคือ ผู้ถือใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลสามารถทำหนังสือแจ้ง กสทช. เพื่อคืนใบอนุญาตได้ภายใน 30 วัน นับจากที่คำสั่งนี้ออกประกาศ และ กสทช. พิจารณาค่าชดเชยโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับในระหว่างที่ประกอบกิจการและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ได้ชำระมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะนำคลื่นย่านความถี่ 700 MHz ไปจัดสรรใหม่ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ กสทช. กำหนดไว้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: