วันนี้ (19 กรกฎาคม) มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เผยแพร่บทความ ‘ข้อเสนอแนะการจัดหาและการกระจายวัคซีนโควิด-19’ เขียนโดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง, ดร.สมชัย จิตสุชน, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ นพ.ต่อพงศ์ อัศวิษณุ โดยมีใจความว่า เวลานี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าทางออกเดียวที่ให้ทุกคนรอดจากวิกฤตการระบาดของโควิดอย่างได้ผลที่สุด คือการที่ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยยังต้องมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคด้วย ทำให้คาดการณ์กันว่าภายในปีหน้าวัคซีนจะยังเป็นที่ต้องการในตลาดโลกอย่างมาก จึงจำเป็นต้องวางแผนในการจัดหาซื้อวัคซีนเหล่านี้ด้วย
TDRI เสนอว่า ประเทศไทยควรถอดบทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดซื้อวัคซีน ตลอดจนบทเรียนจากการสั่งซื้อที่ล่าช้าและการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ของไทยเองจนทำให้วัคซีนขาดแคลนเป็นจำนวนมาก ได้วัคซีนที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน รวมถึงปัญหาจากระบบราชการ การไม่มีกลไกคุ้มครองผู้ตัดสินใจหากตัดสินใจที่อาจตัดสินใจผิดพลาดโดยไม่เจตนา การกระจายข่าวสาร หรือการขาดทักษะหลายๆ ด้าน ทำให้ภารกิจการกระจายวัคซีนในประเทศไทยเต็มไปด้วยความล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ ทำให้ต้องเลื่อนการจัดสรรวัคซีนออกไปเรื่อยๆ จนเกิดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้ฉีดให้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 นี้ไม่ทัน โดยทั้งหมดนี้ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจตลอดจนชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน
TDRI ได้แนะแนวทางดังนี้
- การจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ หากสามารถนำวัคซีนจากต่างประเทศได้จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการแพทย์และด้านเศรษฐกิจ โดยมีแนวทางดังนี้
- ควรตั้งเป้าจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA หรือ Protein Subunit และวัคซีนที่มีคุณภาพรองลงมา เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ ป่วยหนัก และเสียชีวิต ทั้งยังเป็นวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูงทั้งในไวรัสสายพันธุ์เก่าและสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งหากจัดหามาได้จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้อย่างรวดเร็วจนทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
- รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณในการจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงอย่างเพียงพอ เพราะหากทำสำเร็จจะคุ้มค่ามาก เนื่องจากประชาชนรอดและเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง โดยควรตั้งเป้าจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงอย่างน้อย 150 ล้านโดสหรือมากกว่านั้นในปี 2565 เพื่อให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มรวมทั้งชาวต่างชาติที่พักในไทย ส่วนในปี 2564 นั้นควรพยายามอย่างถึงที่สุดในการจัดหาวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสตามเป้าหมายเดิม โดยใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- หากไม่สามารถจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงก็อาจใช้วัคซีนกลุ่มอื่น แต่ใช้กับกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่ำ และรัฐบาลต้องสื่อสารกับประชาชนอย่างชัดเจนว่าได้พยายามจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างถึงที่สุดแล้ว
- รัฐควรจัดตั้ง ‘คณะทำงานของประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19’ โดยให้มีนักธุรกิจที่มีประสบการณ์สูงเป็นหัวหน้าคณะ สามารถเลือกคณะทำงานเองได้ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และวัคซีน ไม่ถูกจำกัดการทำงานหรือถูกจำกัดน้อยที่สุดจากระเบียบราชการ เพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการติดต่อ เจรจาซื้อขายวัคซีน โดยทั้งหมดนี้ต้องมีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
- ควรให้การจัดหาวัคซีนของคณะทำงานของประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 สามารถดำเนินการได้โดยใช้อำนาจตามมาตรา 18 (4) ของพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เพื่อให้มีผลคุ้มครองคณะทำงานจากการจัดหาวัคซีนต่างๆ
- ในระยะแรกรัฐบาลอาจให้เอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือกได้คล้ายกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อาจยังยึดถือแนวคิดว่าการได้รับวัคซีนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นสิทธิพื้นฐาน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างเร็วและกว้างขวางมากขึ้น โดยรัฐบาลก็ควรเป็นผู้จ่ายค่าวัคซีนที่เอกชนนำเข้ามาทั้งหมดและกระจายให้ทุกคนตามยุทธศาสตร์การกระจายวัคซีน ในกรณีที่วัคซีนมีเพียงพอแล้วและมีประชาชนบางกลุ่มต้องการได้รับวัคซีนก่อน อาจอนุญาตให้จองซื้อวัคซีนทางเลือกได้โดยรัฐอุดหนุนต้นทุนบางส่วน
- กรณีที่คณะทำงานของประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายในปี 2564-2565 รัฐอาจพิจารณายกเลิกการจัดหาวัคซีนทางเลือกในส่วนภาคเอกชนก็ได้ เพื่อป้องกันปัญหาความเหลื่อมล้ำในการได้รับวัคซีนของประชาชนกลุ่มต่างๆ
- ในการติดต่อซื้อวัคซีนทั้งในส่วนภาครัฐและภาคเอกชน ควรคำนึงถึงการได้มาซึ่งวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการติดเชื้อที่กลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ได้ดีที่สุด ควรระบุในสัญญาว่าประเทศไทยจะได้รับวัคซีนตามจำนวนที่ตกลงไว้ทันทีที่บริษัทผลิตวัคซีนได้แล้ว
- รัฐบาลควรพิจารณาเข้าสู่โครงการ COVAX เพื่อประกันความเสี่ยงในอนาคต
- รัฐบาลควรร่วมมือกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายปริมาณการผลิตวัคซีนในประเทศไทยให้ได้มากขึ้นโดยเร็ว โดยไทยควรได้สิทธิ์ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดในการผลิตที่เพิ่มขึ้น เฉพาะในกรณีที่สถานการณ์ของไทยย่ำแย่จนกระทบระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และอาจพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 18 (2) ของพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เป็นทางเลือกสุดท้ายเพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และของประเทศอื่นๆ ที่สั่งจองไว้แล้ว
2. การสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนภายในประเทศ
ไทยมีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกว่า 20 ชนิดต่อกรณีโควิด ภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งจากการสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาและผลิตวัคซีนประสิทธิภาพสูง รวมทั้งส่งเสริมให้บริษัทผลิตวัคซีนระดับโลกมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามควรเลี่ยงการตั้งความหวังที่เกินจริงต่อการผลิตวัคซีนในประเทศ เพราะความหวังดังกล่าวอาจทำให้นำไปสู่การจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงจากต่างประเทศได้น้อยหรือล่าช้า เพราะคาดหวังกับการผลิตวัคซีนในประเทศมากไปแทน
3. การกระจายวัคซีน
ปัญหาของการกระจายวัคซีนในไทยมาจาก
- การได้รับวัคซีนที่ซื้อมาช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
- การแย่งบทบาทการกระจายวัคซีนของหน่วยงานต่างๆ โดยไม่มีการประสานงานที่ดี
- มีการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายในการกระจายวัคซีนบ่อยครั้ง
รัฐจึงควรให้มีช่องทางหลักเพียงช่องทางเดียวที่ประชาชนจะจองวัคซีนได้ และควรเชื่อมโยงข้อมูลโรคประจำตัวของกลุ่มเสี่ยงจากโรงพยาบาลต่างๆ เข้ากับระบบด้วย ทั้งยังป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมืองต่างๆ ระบบหมอพร้อมควรเพิ่มการแจ้งเตือนประชาชนให้มาฉีดเมื่อใกล้เวลา หรือแจ้งเตือนให้ผู้ที่จะเข้ารับวัคซีนลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาฉีดได้หากมีผู้สละสิทธิ์หรือไม่มีฉีด และต้องคำนึงถึงช่องทางอื่นเพื่อรองรับประชากรที่ไม่สะดวกในการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ และระดมฉีดวัคซีนในชุมชนที่อาจมีการระบาดอย่างรุนแรง โดยช่องทางต่างๆ เหล่านี้ควรโปร่งใสและตรวจสอบได้ด้วย
4. ประเด็นอื่นๆ
การฉีดวัคซีนกระตุ้นหลังจากเข็มที่ 2 รวมทั้งการสลับชนิดวัคซีน ควรเกิดขึ้นเมื่อมีงานวิจัยเบื้องต้นรองรับ โดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลต้องเปิดเผยผลการวิจัยนั้นต่อประชาชนโดยละเอียดเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการตัดสินใจดังกล่าวอยู่บนข้อมูลทางวิชาการ