×

พินิจความรื่นรมย์ในสนามซ้อม ผ่านสองแง่งามความคิดจาก 2 นักใช้ชีวิต ‘สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์’ และ ‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’ [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
25.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สนทนาความงามของชีวิตในสนามซ้อมที่ห้ามยกธงขาวของ เอ๋-นิ้วกลม และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ 
  • ชวนคุณมาเปลี่ยนมุมมองการลงสนามซ้อมให้กลายเป็นความสนุก เลือกเส้นชัยและเลือกคู่ต่อสู้ด้วยตัวคุณเอง จากแง่งามความคิดที่ได้จากสนามซ้อมของ 2 นักใช้ชีวิต

ชีวิตบางคนไม่เคยมีเวลาให้เตรียมพร้อม ไม่เคยได้ลงสนามซ้อม ก็ต้องกระโดดลงสนามจริงที่ชื่อว่า ‘สนามชีวิต’ กันแล้ว บางคนต้องลงเพราะสถานการณ์บังคับ ในขณะที่ผู้เล่นบางคนบังคับตัวเองให้กระโจนลงไปให้ไวที่สุด ไม่ใช่เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองเร็วที่สุด แต่เพราะทุกสนามที่พวกเขากระโดดลงไป เต็มไปด้วยความสนุก ความท้าทาย จนกลายมาเป็นชีวิตที่กลมกล่อมและครบรสกว่าคนทั่วไป

 

เรากำลังพูดถึงชีวิตของ เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือนิ้วกลม นักเขียนชื่อดังที่ลงสนามซ้อมแรกในชีวิตด้วยการลองผิดลองถูกทำในสิ่งที่รัก เปลี่ยนสนามใหม่ใหญ่กว่าเดิม ด้วยการทำงานประจำในแวดวงโฆษณา ก่อนจะลงเล่นในอีกหลายสนาม ตอนนี้เขากลายเป็นตัวอย่างของคนหนุ่มที่เชื่อมั่นในสิ่งที่รัก จนเป็นผู้กล้าในสนามชีวิตจริง ในฐานะนักเขียนอิสระที่ใช้ชีวิตได้อย่างน่าอิจฉา และตอนนี้เขากำลังสำราญกับสนามซ้อมใหม่ที่เขาขีดเส้นลางๆ ของชัยชนะไว้ที่สถิติการวิ่งที่ไม่ต้องดีที่สุด แต่ต้องดีกว่าเมื่อวาน

 

เป็นเรื่องบังเอิญที่สนามซ้อมแห่งใหม่ของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ก็เป็นสนามวิ่งเช่นกัน วันที่ให้สัมภาษณ์ ดุจดาวเพิ่งบินกลับจากการไปวิ่งเทรล สนามซ้อมที่ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมาก นอกเหนือจากสนามของการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหว (Dance Movement Psychotherapist) หนึ่งในอาชีพทำเงินที่น้อยคนจะรู้จัก และยังเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร เครือโรงพยาบาลกรุงเทพอีกด้วย 

 

จะว่าไปก็มีความเชื่อมโยงอีกอย่างที่ ‘ทรงพลัง’ และน่าจะ ‘ส่งพลัง’ อะไรบางอย่างให้กับคนที่กำลังหมดพลังในการจะลงไปต่อสู้ในสนามใดๆ ก็ตามตอนนี้ นั่นคือ วิธีคิดที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์จริงของพวกเขา แม้จะเป็นสนามที่ต่างขั้วกัน แต่สิ่งที่ทั้งสองคนทำเหมือนกันตอนลงสนามซ้อมคือ มีความสุขกับทุกวินาทีที่อยู่ในสนาม ความสุขที่ว่า จะหน้าตาเป็นแบบไหน TCP แบรนด์ที่เชื่อมั่นในพลังชัยชนะที่เกิดจากการซ้อมอย่างหนัก ใช่… และควรจะมีความสุขกับสิ่งที่ทำด้วย ขอพาคุณย้อนกลับไปยังสนามซ้อมของพวกเขากัน

 

เอ๋ นิ้วกลม เพิ่งไปวิ่งฮาล์ฟมาราธอนจบด้วยเวลา 16.50 ใช่ เราเขียนตัวเลขไม่ผิด เขาวิ่งไม่ครบระยะ จะด้วยเหตุผลอันใด ไปอ่านในเพจเขาได้ หนึ่งในประโยคที่เราชอบมากๆ ในโพสต์นั้นคือ “สำหรับนักประสบการณ์นิยม วิ่งไม่ได้เหรียญก็เป็นประสบการณ์ใหม่เช่นกัน” นี่อาจซ่อนสัจธรรมเรียบง่ายไว้ว่า “จะไปกลัวอะไร ก็แค่พ่ายแพ้อีกหนึ่งสนาม” 

 

 

“คงเพราะผมมองชีวิตเปลี่ยนไป เมื่อก่อนชีวิตเหมือนวิ่งไปหาเส้นชัย แต่เดี๋ยวนี้เส้นชัยก็เลือนไปเรื่อยๆ อาจเป็นเพราะเราวิ่งเข้าเส้นชัยที่ตัวเองกำหนดมาหลายเส้นแล้ว ทุกวันนี้เลยกลายเป็นการวิ่งไปเรื่อยๆ สนใจอะไรก็วิ่งเข้าไปหา เรียนรู้กับมัน แล้วอยู่ๆ ก็จะไปเจออะไรบางอย่าง เริ่มถลำลึกลงไป ในที่สุดก็กลายเป็นสนามจริง โดยที่เราก็ไม่ได้ตั้งตัว

 

“สนามซ้อมของการเป็นนักเขียนคงตอนทำหนังสือทำมือ dim ตอนนั้นไม่ได้มองว่าเป็นสนามซ้อม ทำเพราะอยากทำ ทำเพราะสนุก เอาจริงๆ น่าจะเหมือนสนามเด็กเล่นมากกว่า เพราะสนามซ้อมเราลงไปฝึกปรือกัน เรามีเป้าหมายในการลงสนามใหญ่ แต่การทำ dim ในวันนั้นคือ ไปวิ่งเล่นกันเถอะ เราอยากวิ่งเล่น เมื่อลงไปด้วยความเพียวระดับนี้ ไม่ได้มีกรอบหรือกำแพงที่จะมากรอบความคิดเราเลย ความกลัวน้อยถึงขั้นไม่มี

 

แต่ชีวิตจะพาเราไปสู่สนามจริงเอง ถ้าเราเล่นในสนามซ้อมมามากพอ

 

“เราไม่ได้เป็นคนกำหนดหรอกว่าวันนี้จะลงสนามจริงแล้ว แต่ชีวิตจะพาเราไปสู่สนามจริงเอง ถ้าเราเล่นในสนามซ้อมมามากพอ ตอนทำ dim เราทำไปเรื่อยๆ ถามว่ามีฝีมือดีขึ้นไหมในแง่การเขียน ก็ไม่หรอกครับ แต่ทำให้เรารู้ตัวว่าเราเขียนได้ สุดท้ายการทำ dim ก็นำพาไปสู่ พี่โหน่ง วงศ์ทนง ทำให้รู้จัก a day ทำให้เรากล้าที่จะส่งงานให้ โจ้ วชิรา (อดีต บก. a day) เขาก็ให้มาลงคอลัมน์ สนามเด็กเล่น สำหรับเรานั่นคืออีกหนึ่งสนามจริง แล้วก็นำพาไปสู่การส่งงานเขียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนได้มาเขียนคอลัมน์ E=IQ2 สุดท้ายกลายเป็นหนังสือ อิฐ พอทำสม่ำเสมอ ทำอย่างจริงจังมากพอ เลยนำไปสู่พ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรก โตเกียวไม่มีขา ผมมองว่า เวลาลงสนามซ้อม เรามองไม่เห็นหรอกว่าทางที่จะงอกออกจากสนามซ้อมมีอะไรบ้าง…แต่มันจะงอก

 

 

“ผมเป็นคนไม่กลัวอะไรเลย ไม่ค่อยเชื่อมาตรฐานของใครทั้งสิ้น ดังนั้นชีวิตผมเลยไม่ค่อยถูกกำหนดด้วยมาตรฐานของใคร ไม่เคยกำหนดมาตรฐานตัวเองไว้สูง คำนี้มีความหมายว่าเป็นคนไร้มาตรฐานด้วย (หัวเราะ) งานเขียนของตัวเองไม่เคยเป็นอะไรที่จะต้องดีงามหรือเจ๋งมาก เราแค่เขียนหนังสือเพราะอยากเขียนแบบนี้ อยากเขียนเรื่องนี้ พอเริ่มต้นด้วยความรู้สึกแบบนี้ เลยไม่ได้คิดว่าคนอื่นเขาชอบไหม 

 

“ชีวิตไม่มีอุปสรรคเลยเหรอ นั่นสิ (หัวเราะ) ไม่ใช่ว่าไม่มีอุปสรรคนะ แต่ไม่มองว่าเป็นอุปสรรค เราไม่ได้สร้างอุปสรรคให้ตัวเอง ถ้าความล้มเหลวเกิดจากความคาดหวัง และความคาดหวังกับอุปสรรคเป็นเรื่องเดียวกัน คือเราตั้งกำแพงบางอย่างขึ้นมาให้ตัวเอง เช่น เราอยากเก่งมากขนาดนี้แล้วเราดันไม่เก่ง เราอยากชนะคนคนนี้แล้วเราไม่ชนะ หรือสมมติผมอยากได้ซีไรต์แล้วผมไม่ได้ ผมอาจจะล้มเหลวและนิยามตัวเองเป็นนักเขียนที่ใช้ไม่ได้ก็ได้ ผมไม่เคยมีมาตรฐานอะไรแบบนั้นเลย อีกมุมหนึ่ง การที่เราไม่มีอุปสรรค เกิดจากเราเลือกไปลงในสนามที่เหมาะกับศักยภาพของเรา ตอนออกพ็อกเก็ตบุ๊กผมมองว่า ผมกับ a book คือสนามเดียวกัน แต่ถ้าผมใฝ่ฝันว่าต้องออกหนังสือกับสำนักพิมพ์ที่เข้มข้นทางวรรณกรรม ผมก็คงผิดหวังนะ

 

แล้วพอมันเริ่มกลายเป็นชีวิต คุณพร้อมจะลงสนามจริงเมื่อใดก็ได้

 

“ซ้อมอย่างไรไม่สำคัญเท่าซ้อมทำไม การเขียนหนังสือสำหรับผมไม่มีความคิดว่า ซ้อมทำไม? ก็เป็นแค่ความสนุกในการได้ลงมือทำ แต่จริงๆ คือการซ้อม ผมว่าในชีวิตการซ้อมที่มีความสุขคือ การซ้อมที่ไม่ได้มองไปยังเป้าหมาย ซ้อมเพื่อจะมีความสุขกับการลงสนามซ้อม อันนี้สำคัญมาก ถ้าเปรียบเทียบกับกีฬา กล้ามเนื้อค่อยๆ แข็งแรงขึ้น ยิ่งกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ คุณจะเล่นสิ่งนั้นได้ง่ายขึ้น เหนื่อยน้อยลง และเล่นได้ดีขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้พอเริ่มเป็นวงจรก็จะเริ่มกลายเป็นชีวิต แล้วพอเริ่มกลายเป็นชีวิต คุณพร้อมจะลงสนามจริงเมื่อใดก็ได้

 

 

“ในชีวิตก็มีการเปลี่ยนสนามตลอดเวลา ผมมองแค่ว่า มีสนามที่เราไม่ถนัด กับสนามที่เราเล่นได้แล้ว เหมือนตอนผมเปิดคอลัมน์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ บรรทัดแรกเขียนแล้วลบไม่รู้กี่ครั้ง เพราะเรากลัวมาก ถามว่านั่นเป็นสนามจริงใช่ไหม จริงนะครับ แต่เรารู้เลยว่าครั้งแรกของเราไม่จริง ยังต้องซ้อมอีกเยอะ ให้เวลาตัวเองซ้อมก่อน ยังไม่ต้องไปเอาจริงกับมันถึงขั้นคอขาดบาดตาย เพราะไม่อย่างนั้นเราจะตาย

 

“ถ้าเราคิดว่าเราเป็นมืออาชีพ เราคิดแต่จะลงไปวาดลวดลาย เพราะเราเก่งแล้วไง เราก็แค่ลงไปโชว์ แต่ถ้าเราคิดว่า สนามซ้อมยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ยังเกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิต นั่นก็แปลว่า เรายังรู้ว่าเรายังไม่เก่ง แล้วก็มีโอกาสที่จะพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของตัวเองในด้านที่เรายังไม่เก่ง

 

บางอาชีพการงานอาจไม่ต้องการชัยชนะ มันต้องการลงไปเล่น ต้องการมีความสุขระหว่างลงไปเล่น

 

“เมื่อก่อนเราตั้งเป้าหมายของชัยชนะ ตอนทำงานโฆษณามีเส้นชัยให้ตัวเองว่าอยากได้รางวัล สุดท้ายพอไปได้คานส์มาก็รู้สึกเหมือนอกแตะเส้นชัย ก็เปลี่ยนสนามจากครีเอทีฟมาลงสนามใหม่เป็นผู้กำกับหนังโฆษณา คือการเปลี่ยนจากยอดเขาสูงสู่ก้นเหว พอคุณเปลี่ยนอาชีพเป็นผู้กำกับโฆษณาหน้าใหม่ ไม่มีใครใช้งานหรอก เพราะเราเป็นหน้าใหม่ แต่ชีวิตสนุกเมื่อเป็นแบบนั้น เราลงมาก้นเหวบ่อยๆ และเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ

  

“เราแค่คิดว่าเมื่อเราทำได้แล้ว ควรกระโดดลงสระว่ายน้ำบ่อยๆ ผมชอบใช้คำนี้ เพราะผมว่ายน้ำไม่เป็น (หัวเราะ) ตอนเป็นผู้กำกับโฆษณาแล้วลองไปทำพิธีกร พื้นที่ชีวิต ซึ่งเป็นสารคดี แล้วเราโคตรไม่ถนัดกับการอยู่หน้ากล้องเลย นั่นก็คือการกระโดดลงไปสระว่ายน้ำอีกที หรือตอนที่ทางช่อง 3 ชวนไปทำรายการดีเบต มันยากมากสำหรับเรา เป็นยอดเขาที่สูงมาก ท้าทายมาก ปีนโคตรยาก แต่เราอยากกระโดดลงไป เพราะเราอยากเรียนรู้ ก็ใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอด และผมคิดว่าผมปีนไม่สำเร็จ

 

“นิยามว่าล้มเหลวไหม…ก็ใช่ แต่ถ้าถามตัวเองในใจลึกๆ เลย ไม่มีความรู้สึกว่าล้มเหลวเลย รู้สึกว่าชีวิตคือการทดลองทำทุกอย่างที่เราอยากลองทำ เพื่อที่จะเข้าใจว่าเราเหมาะกับมันหรือเปล่า แล้วอะไรที่เหมาะ หรือเราอยากจะเหมาะ ฉะนั้นสนามดีเบตเป็นการทำแล้วเข้าใจมากๆ เลยว่า ไม่ใช่เราเลย เรายอมรับว่าเราทำไม่ได้

 

“บางอาชีพการงานอาจไม่ต้องการชัยชนะ ต้องการลงไปเล่น ต้องการมีความสุขระหว่างลงไปเล่น ซึ่งการเขียนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว ไม่ต้องการความสำเร็จ ไม่ต้องการชัยชนะ ชัยชนะไม่มีความหมายอะไร เราต้องการทำอะไรแล้วบอกตัวเองได้ว่าเรามีความสุข เรายิ้มกับมัน

  

 

“ถ้าคำว่าชัยชนะเราไปวางอยู่ที่การชนะคนอื่น อาจเป็นชัยชนะที่กดดันตัวเองโดยไม่จำเป็น ชีวิตนี้คุณไม่มีวันชนะใครได้ทั้งโลกหรอก คุณเก่งก็ต้องมีคนเก่งกว่าคุณ แต่ชัยชนะนั้นหมายถึงว่า เรากำหนดเส้นชัยล่องหนของเราที่ไม่ต้องตรงกับคนอื่น เราก็แค่วิ่งเอาอกไปแตะมันให้ได้ อาจจะใกล้มากก็ได้ อาจจะยากมากก็ได้ 


“ไม่ใช่เส้นชัยที่ใครรอปรบมือให้คุณ แต่เป็นเส้นชัยที่คุณรู้ว่าพอคุณก้าวไปถึงแล้ว ก็มีความหมายกับคุณมากๆ” 

 

เป็นเรื่องที่ห้ามความคิดกันไม่ได้ เมื่อเราบอกว่า ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เป็นนักจิตบำบัด กรอบความคิดที่ตามมาคือ นักจิตบำบัดคงรับมือกับทุกเรื่องในชีวิตได้ง่ายๆ ลงสนามซ้อมมาไม่รู้เท่าไร ก็แค่ชีวิตตัวเองจะไปยากอะไร องค์ความรู้ครบมือขนาดนี้ “นักจิตบำบัดก็คน เดินออกนอกคลินิกก็ไม่เป็นนักจิตบำบัดแล้ว ก็เป็นดุจดาวธรรมดา พอคิดแบบนี้เราก็บอกตัวเองว่า ใช่ๆ ดาว พังได้ มันก็เกิดขึ้นเนอะ” 

 

 

 

“ต่อให้ซ้อมมาเยอะก็ไม่ได้แปลว่าลงสนามจริงจะไม่ผิดพลาด เราไม่ได้มองความผิดพลาดเป็นเรื่องแปลกประหลาด คนเราผิดพลาดทุกวัน เป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าเราคิดว่าเราซ้อมมาดี พอทำจริงแล้วจะไม่พลาดเลย อันนี้ไม่จริง เรียกว่าไม่ประมาทแล้วกัน ถ้าพลาดเราจะดีลกับมันอย่างไรมากกว่า

 

“เราว่าชีวิตผ่านสนามซ้อมมาตลอด หนึ่งในสนามซ้อมที่ชัดเจนคือ การเอาตัวไปอยู่ในงานอดิเรก ในงานที่ชอบ แต่อีกนัยหนึ่ง การใช้ชีวิตก็มีโอกาสซ้อมได้เหมือนกัน เวลาชีวิตคนเราดูเหมือนเรียบง่าย แล้วเราก็ใช้ไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ ช่วงนั้นเป็นเวลาซ้อม พอถึงวิกฤต เราจะได้เอาทักษะไปใช้เลย ไม่ได้ย่ามใจกับชีวิตทุกวัน

  

โลกใบนี้มันก็เป็นไปของมัน ถ้าเราอยากเป็นส่วนหนึ่ง เราก็ต้องกระโจนเข้าไป

 

“ช่วงที่เข้าไปในคณะละคร B-Floor เราเป็นเด็กใหม่ก็ต้องโดนพี่ๆ ประเมินอยู่แล้วว่าเราจะทำได้ไหม จะไหวไหม แล้วเขาไม่มีการออดิชันเป็นเรื่องเป็นราว มาถึงจับซ้อมเลย ให้วอร์มอยู่อย่างนั้น ซ้อมทุกวัน เหมือนถูกประเมินทุกวันว่าตราบใดที่คุณยังไม่ลาออก แปลว่าคุณผ่าน

 

“ตอนนั้นอุปสรรคเป็นเรื่องความทนทานทางด้านร่างกาย ซ้อมวันละ 5-6 ชั่วโมง แล้วเป็น Physical Theatre ต้องใช้แรง ใช้ศักยภาพทางร่างกาย ข้อจำกัดเห็นชัดมากว่าฉันทำได้เท่านั้น ร่างกายสุดเท่านี้ ก็จะเจอความท้อใจว่าเราไม่เก่งเท่าคนอื่นเหรอ อุปสรรคอย่างอื่นถือว่าน้อยมาก จะมีก็แค่เหนื่อยจังเลย ทำไมวันนี้ต้องไปซ้อมอีกแล้ว ไม่ได้ไปแฮงเอาต์กับเพื่อน มีอุปสรรคแต่ก็ไม่ได้ใหญ่โต

 

“ผ่านช่วงนั้นมาได้เพราะเป็นสิ่งที่เราอยากทำ เป้าหมายที่เรียบง่ายมากคือ ทำงานกับ B-Floor แต่ตอนไปสมัคร ก็ไม่พร้อมทางด้านร่างกายเลย เพราะไม่รู้เขาต้องการอะไร แต่ทางด้านจิตใจพร้อมมาก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อยากจะทำให้ได้ คิดว่าโอกาสต้องสร้าง โอกาสไม่ได้มาตอนพร้อม ตอนนั้นไม่กลัวอะไรเลย คิดแค่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้มากกว่า จะอยู่อย่างไรให้ผ่านเกณฑ์ ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่าเกณฑ์คืออะไร เพราะฉะนั้นคือเต็มที่ใช่ไหม ก็ต้องเต็มที่ทุกวัน นั่นคือสนามที่จริงมาก อายุ 22-23 ถือว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่มีเวลาต่อรอง โลกใบนี้มันก็เป็นไปของมัน ถ้าเราอยากเป็นส่วนหนึ่ง เราก็ต้องกระโจนเข้าไป

 

 

 

ทำไมถึงกล้า (นิ่งคิด) เพราะเรารู้ว่ามันจะไม่เป็นไร มันก็แค่กลัว

 

“ตอนนั้นซ้อมละครเวทีอยู่ ตอนอิมโพรไวซ์เหมือนมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นทางด้านจิตใจ เริ่มมีความทรงจำบางอย่าง มันทำงานกันแน่นอนกับการเคลื่อนไหว เลยไปเสิร์ชหาข้อมูลตั้งต้นจากสิ่งที่ชอบคือ Dance Movement กับ Psychology สารภาพว่าไม่ได้อยากเป็นนักจิตบำบัด เราสนใจเรื่องการเคลื่อนไหวที่ทำงานกับจิตใจ สนใจจิตใจของคน แต่ไม่รู้ว่าทำงานเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร อธิบายไม่ได้ ก็เลยหาคอร์สที่ตอบคำถามนี้ได้ ก็ตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ ทำไมถึงกล้า (นิ่งคิด) เพราะเรารู้ว่าจะไม่เป็นไร ก็แค่กลัว อย่างมากก็แค่ยาก อย่างมากก็แค่ลำบาก อย่างมาก (เน้นเสียง) ก็แค่ทรมาน แต่ถ้าไม่ล้มเลิกไม่เป็นไร ดุจดาว Never Quit ถ้าเราไม่ออกจากมัน เดี๋ยวมันก็ทำได้

 

 

เหมือนเป็นสนามซ้อมเรา แต่เป็นชีวิตจริงของเขา

 

 

“มีช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองลงสนามที่จริงมากคือ ตอนฝึกงานเป็นนักจิตบำบัด ที่หน่วยนิติเวชของโรงพยาบาล ซึ่งดูแลเรื่องสุขภาพจิตที่อังกฤษ เราไปทำงานกับคนที่เพิ่งไปก่ออาชญากรรมแล้วมีอาการทางจิต เราต้องไปฝึกงานเพื่อให้เรียนจบ เหมือนเป็นสนามซ้อมเรา แต่เป็นชีวิตจริงของเขา เลยไม่นับว่านั่นเป็นสนามซ้อม รู้สึกว่านั่นคือสนามจริง เรานั่งอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช และข้างหน้าเราคือคนไข้ที่เพิ่งเอาอิฐใส่ถุงพลาสติกไปทุบเด็ก มันพาเราข้ามไปอีกโลกหนึ่ง พาเราเจอคำว่า Empathy ของจริง พาเราไปเจอความละเอียดอ่อนเบอร์แรง ละเอียดที่สุดเท่าที่คนเราจะสามารถมีให้กันและกันได้ ประสบการณ์นั้นสอนเราเยอะมาก นั่นคือจริงที่สุดแล้ว 

 

 

“เดินเข้าโรงพยาบาลเดือนแรกๆ จำได้ว่าความกลัวเต็มหลังคอ กลัวหลายอย่าง หน้าที่เราควรจะเป็นคนไปซัพพอร์ตเขา แต่ก็กลัวว่าเราจะทำให้เขาแย่ลงหรือเปล่า เป็นความกลัวส่วนตัวว่า ชีวิตคนจริงๆ นะ เราเอาคืนไม่ได้นะ นี่จิตใจเขา และเขาก็เจออะไรมามากกว่าชีวิตเราตั้งเยอะ เพราะฉะนั้นต้องรับมือด้วยความใส่ใจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เลยกลัวว่าจะทำได้ไม่ดีพอ กลัวจะไม่มีประโยชน์ และกลัวผิดหวังในตัวเองเหมือนกัน แต่ภายในความกลัวลึกๆ ก็ยังมีความคิดว่า แต่ฉันมาจากกลุ่ม Physical Theatre เชียวนะ ฉันน่าจะจัดการตัวเองได้ แต่ความกลัวก็ยังอยู่ตลอด

 

เป็นสนามที่ได้พิสูจน์ทฤษฎีที่เคยเรียนมาด้วยตัวเอง และเอาตัวเองไปหานักจิตบำบัด

 

“กลับมาทำงานเป็นนักจิตบำบัด ในตัวงานเราไม่เคยท้อ แต่เป็นความท้อเรื่องข้อจำกัดทางเวลา เราเป็นมนุษย์ทำหลายอย่าง ตอนนั้นสอนหนังสือที่ ABAC ด้วย ทำที่มีรักคลินิก ได้งานประจำที่ BDMS และก็ยังทำงานแสดง แล้วพอทำงานเยอะเกินไป ก็มีความเครียด งานอื่นพอมีความเครียดบางอย่างยังพอยืดหยุ่นได้ แต่งานเรา พอตัวเราท่วมท้น การไปรันงานเป็นนักจิตบำบัด ศักยภาพก็น้อยลง มีช่วงหนึ่งที่หยุดแล้วถามตัวเองว่าเอาอย่างไร ทำต่อไหม พอประเมินแล้วว่าไม่น่าจะแฟร์สำหรับคนไข้ เขาควรจะได้นักจิตบำบัดที่เต็มประสิทธิภาพมากกว่านี้ กว่าจะตัดสินใจลาออกก็สักพักหนึ่ง

 

“แต่สนามจริงที่เราคิดว่านี่คือจริงของเราเลยคือ หลังจากที่เราหย่า ความสัมพันธ์ก็พังตอนที่เราเป็นนักจิตบำบัดนี่แหละ คือตอนโดนมันตกใจ แบบเฮ้ย มาแล้วๆ เออ เราก็ค่อยๆ ไล่ถามไปจนเจอคำตอบว่า อ๋อ คือการเป็นนักจิตบำบัดไม่ได้รู้ทุกอย่าง เราเป็นคนที่ซัพพอร์ตเชื่อมโยง เป็นตัวสะท้อนบ้าง ช่วยให้เขาหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นในบทบาทของการเป็นผู้ซัพพอร์ต ผู้ประคับประคองเราโอเค แต่พอมาถึงบทบาทของเราในฐานะผู้ใช้ชีวิตของตัวเองจริงๆ เงื่อนไขก็ต่างไปจากบริบทการทำงาน ฉะนั้นถ้าเราจะเปรียบเทียบแบบนั้นก็ไม่แฟร์สำหรับตัวเรา เพราะนักจิตบำบัดก็คน เดินออกนอกคลินิกก็ไม่เป็นนักจิตบำบัดแล้ว ก็เป็นดุจดาวธรรมดา พอคิดแบบนี้เราก็บอกตัวเองว่า ใช่ๆ ดาว พังได้ มันก็เกิดขึ้นเนอะ ช่วงที่แย่มันก็จม ก็เศร้าจนเสียสติ ทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่นก็มี ทำให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ความสูญเสียพาคุณไปได้เบอร์นี้เลย เป็นสนามที่ได้พิสูจน์ทฤษฎีที่เคยเรียนมาด้วยตัวเอง และเอาตัวเองไปหานักจิตบำบัด

 

วินาทีของชีวิตควรจะเต็มไปด้วยความสนุก แม้ว่าความสนุกอาจมาจากความเจ็บปวด การหลงทาง

 

“ข้อดีของการผ่านสนามซ้อมมาเยอะ คงทำให้เราสงบขึ้น เพราะบางทีพอพลาด บางคนจะเฆี่ยนตีตัวเองทั้งในใจ ทั้งการกระทำ จะร้อนรน เครียด โทษโลกบ้างก็มี โทษคนอื่นก็มี แต่พอเรารู้อยู่แล้วว่าต้องมีพลาด เราโอเค ความสงบเกิดขึ้น มันคือความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ การตีโพยตีพายก็จะไม่มี 

 

 

“ผิดก็สนุกดี ลองในแบบของเราที่อาจจะผิดจากคนอื่น หาความสนุกทั้งความใช่ไม่ใช่ ตราบใดที่เรายังสนุก เราก็ไม่ล้มเลิกหรอก เราไม่รู้ว่าความสำเร็จของแต่ละคนยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่ความสนุกระหว่างทางก็สำคัญเหมือนกัน ไม่ใช่ตามองแต่ความสำเร็จ ปลายทางก็ยังไม่กำหนดรูปร่าง มีแค่ภาพจินตนาการ และเราก็แขวนทุกอย่างไว้กับตรงนั้น แต่ทุกนาทีหืดขึ้นคอ ก็ไม่แฟร์กับวินาทีชีวิตของเราเหมือนกัน เพราะวินาทีของชีวิตควรจะเต็มไปด้วยความสนุก แม้ว่าความสนุกอาจมาจากความเจ็บปวด การหลงทาง แต่ถ้าสนุกก็จะทำให้การเดินทางยังหัวเราะได้อยู่ และอาจเจอสิ่งที่เรียกว่า ‘เส้นชัย’ 

 

คุณก็แค่เปลี่ยนมุมมองต่อคำว่า ‘สนามซ้อม’ เสียใหม่ เหมือนกับที่ เอ๋ นิ้วกลม และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ มองเป็นเรื่องสนุก มองเป็นโอกาส และเอ็นจอยกับช่วงเวลาในสนามซ้อมมากกว่าปักธงไว้ที่เป้าหมาย บางครั้งการลงสนามซ้อมนับร้อยนับพันครั้ง อาจเป็นประสบการณ์ชีวิตที่คุณจะเอาไว้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ของตัวเอง เพื่อส่งต่อพลังชัยชนะให้แก่ผู้กล้าหน้าใหม่คนต่อไป ดั่งปณิธานของ TCP ที่เชื่อว่า ประสบการณ์ในสนามซ้อมจะทำให้คุณไม่กลัวสนามไหนอีกเลย จะลงไปซ้อมใหม่ หรือจะลงชิงชัยจริง เราก็พร้อมส่งพลังชัยชนะให้กับผู้กล้าทุกคนค้นหาสนามจริงของตัวเองให้เจอ 


TCP กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มให้พลังงาน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในทุกสนามซ้อม ทุกเวที และทุกช่วงเวลาดีๆ ส่งต่อพลังชัยชนะ…เพื่อทุกสนามซ้อมของคุณ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X