×

ถอดรหัสการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของ บสย. ‘BEYOND BORDERS : ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด’ ขับเคลื่อนแนวคิด ‘Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs’

โดย THE STANDARD TEAM
04.08.2022
  • LOADING...
บสย.

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • บสย. สร้างอัตลักษณ์ใหม่ ‘BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด’ โดยมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโลกการเงิน-ค้ำประกันสินเชื่อ ยกระดับการเข้าถึงแหล่งทุนยุคดิจิทัลสู่ความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ‘Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs’ 
  • ‘BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด’ ยังเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับการบริการค้ำประกันสินเชื่อด้วยนวัตกรรม Digital Technology เชื่อมโยงและพร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์หลักคือ 1. สร้างภาพจำในบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs และบทบาทการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน 2. สร้างภาพลักษณ์ใหม่เข้าถึงผู้ประกอบการทุกเจน และ 3. สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่จากภายในสู่ภายนอกด้วยดิจิทัล 

BEYOND BORDERS การประกาศ Rebranding สร้างอัตลักษณ์ใหม่ของ บสย. เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จะมาพร้อมแนวคิดที่ช่วยยกระดับการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ SMEs คืออะไร รวมถึงแนวทางและนโยบายการกำกับ บสย. ในยุคดิจิทัลจะทำให้ บสย. ก้าวข้าวทุกขีดจำกัดแบบไหน THE STANDARD สรุปให้ 

 

‘Fast & First รวดเร็ว รอบคอบ ที่หนึ่งในใจ SMEs’ คือแนวคิดที่ บสย. ประกาศในวันนั้นว่าจะเป็นก้าวสู่ทศวรรษใหม่ ด้วยการเป็นบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พลิกโฉม Digital Transformation ภายใต้อัตลักษณ์ใหม่ ‘BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด’ โดยมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโลกการเงิน-ค้ำประกันสินเชื่อ ยกระดับการเข้าถึงแหล่งทุนยุคดิจิทัลสู่ความยั่งยืน

 

การดำเนินธุรกิจภายในยุคสมัยที่พฤติกรรมคนเปลี่ยนเข้าสู่ New Normal เมื่อเจอกับกระแส Digital Disruption ย่อมสร้างผลกระทบให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

 

อีกทั้งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กระทรวงการคลังตระหนักถึงปัญหาต่างๆ และได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนในการประคับประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงาน รวมถึงเป็นเงินลงทุนเพื่อฟื้นฟูและดำเนินธุรกิจต่อไปได้   

 

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านมาตรการด้านการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านสินเชื่อต่ำเพื่อลดต้นทุนในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึง และมาตรการพักชำระหนี้เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

 

บสย.

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาอยู่ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน บสย. จะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อเชื่อมต่อผู้ประกอบการ SMEs และแหล่งออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งด้านความรู้การเงินและด้านเทคโนโลยี และการดำเนินการให้สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งเน้น Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model

 

“การสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของ บสย. ‘BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด’ ที่มีเป้าหมายเชื่อมโลกการเงิน-ค้ำประกันสินเชื่อ ยกระดับการเข้าถึงแหล่งทุนยุคดิจิทัลสู่ความยั่งยืน ไม่เพียงยกระดับองค์กรและปรับภาพลักษณ์ให้มีระบบ มีบทบาทที่ชัดเจน และเข้าถึงง่าย แต่ยังต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ บสย. ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางการเงินและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” 

 

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา บสย. เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือรัฐที่ช่วยลดช่องว่าง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีมากกว่า 3.2 ล้านราย โดยเฉพาะกลุ่ม Restart และ Start Up ที่กำลังฟื้นตัวและเริ่มต้นกิจการ ที่ต้องการสินเชื่อในระบบเป็นจำนวนมาก 

 

บสย.

 

สิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เผยตัวเลขตลอด 30 ปีที่ผ่านมา บสย. ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน มียอดค้ำประกันสินเชื่อสะสมมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อมากกว่า 740,000 ราย รักษาการจ้างงานมากกว่า 11 ล้านอัตรา สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า 5.7 ล้านล้านบาท

 

โดยเฉพาะปี 2564 บสย. ให้การค้ำประกันสินเชื่อกว่า 2.45 แสนล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อกว่า 220,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง Micro ประมาณ 73% โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 9.2 หมื่นล้านบาท ได้รับสินเชื่อกว่า 68,000 ราย แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs อีกมาก และกลุ่มเปราะบาง ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงินอีกกว่า 3 ล้านราย 

 

บสย.

 

ทั้งนี้ พิพัฒน์ชัย ภัครัชตานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึง ‘แนวทางและนโยบายการกำกับ บสย. ในยุคดิจิทัล’ ว่า “จากนี้ไป บสย. ต้องเพิ่มบทบาทให้คำปรึกษาทางการเงินกับ SMEs และสนับสนุนเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยสู่เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG Bio Economy มาขับเคลื่อนธุรกิจ และนำนวัตกรรม Digital Technology มาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อในทุกแพลตฟอร์ม ตามนโยบายของรัฐบาล ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลและโลกการเงินอย่างยั่งยืน”   

 

‘บสย. BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด’ ยังเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับการบริการค้ำประกันสินเชื่อด้วยนวัตกรรม Digital Technology เชื่อมโยงและพร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์หลักคือ
 

  1. สร้างภาพจำในสองบทบาทสำคัญ ได้แก่ 
    • บทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs’ มุ่งสู่ Digital Credit Enhancer ในการให้บริการและการดูแลลูกค้า ด้วยการใช้ Digital Technology เป็นเครื่องมือส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสินเชื่อ และลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่ม Micro ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อด้วยหนังสือค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. แทนหลักทรัพย์การยื่นกู้กับสถาบันการเงิน 
    • บทบาทการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน F.A. Center (Financial Advisor) แก่ผู้ประกอบการ 

 

  1. สร้างภาพลักษณ์ใหม่เข้าถึงผู้ประกอบการทุกเจน ให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีหลายเจเนอเรชันได้เข้าใจบทบาทและเข้าถึง บสย. ง่ายขึ้น ทั้งกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ไปจนถึงผู้สูงวัยที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ผ่านการเชื่อมโยงในระบบนิเวศหลายรูปแบบ 

 

  1. สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่จากภายในสู่ภายนอกด้วยดิจิทัล ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด สู่ทศวรรษใหม่ บสย. โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน และผลักดัน บสย. เข้าสู่ระบบ Digital Eco-System เชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งการบริหารทางการเงิน Digital Lending และค้าขายออนไลน์ ผ่าน E-Marketplace  

 

นอกจากนี้ บสย. ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพื่อให้สอดคล้องไปกับแนวทางใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ‘โครงการค้ำประกันสินเชื้อ PGS 9 บสย. SMEs สร้างชาติ’ สำหรับ SMEs ทั่วไปที่ต้องการลงทุนหรือเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน, โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะพิเศษ สำหรับ SMEs ที่ครบกำหนดชำระคืนสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan, มาตรการ ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ สำหรับ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู 

 

บสย.

 

การรีแบรนด์ครั้งนี้ บสย. ถือโอกาสดีไซน์โลโก้ใหม่ที่มาพร้อม 4 ความหมายในอัตลักษณ์ 

 

  1. สัญลักษณ์ Infinity หมายถึง การช่วยเหลือ SMEs ไม่มีที่สิ้นสุด และความร่วมมือเชื่อมโยงเพื่อเคลื่อนให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไม่มีสะดุด มีการนำหลักฮวงจุ้ยมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสัญลักษณ์ เปรียบเสมือนสายลมที่พลิ้วไหว มีความต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุด
  2. โลโก้มีลักษณะเอียง สะท้อนถึงทิศทางของการพุ่งทะยานขึ้นไปด้านบน สื่อถึงการเติบโตไปข้างหน้า
  3. โลโก้ภาษาไทย จุดเด่นอยู่ที่หางตัว ‘ส’ ชี้ขึ้น 30 องศา ตอกย้ำความทุ่มเทและประสบการณ์ตลอด 30 ปี
  4. โทนสีน้ำเงิน-ฟ้า สร้างการจดจำ ตัวแทนความมั่นคง ยั่งยืน และยังเป็นสีหลักของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ในภาพลักษณ์ขององค์กรที่มีความรับผิดชอบ เป็นผู้นำในธุรกิจที่สร้างแรงบันดาลใจ 

 

ที่สำคัญการพลิกโฉม ‘BEYOND BORDERS: ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด’ สู่ทศวรรษใหม่ ซึ่งจะยึดตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน โดยเน้นไปที่การเพิ่มจำนวนการช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ โดยเฉพาะ SMEs กลุ่มที่มีโอกาสน้อย เช่น Micro SMEs, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้มีโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบมากขึ้นและง่ายดายขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X