หลังจากปลายปี 2563 ที่ผ่านมา กลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีแม่ทัพใหม่ด้านเทคโนโลยีและรีเทลอย่าง ฐากร ปิยะพันธ์ มาร่วมงานปั้นบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อยกระดับกลุ่มการเงินอาคเนย์ที่มีทั้งธุรกิจประกันและการเงินให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีก
แต่เป้าหมายและการพัฒนาในระยะสั้น-กลาง-ยาวจะเป็นอย่างไร
เครือไทย โฮลดิ้งส์ เร่งเครื่อง ‘อาคเนย์มันนี่’ สินเชื่อรายย่อยลีสซิ่ง-Ploan-จำนำทะเบียน
ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Thai Group (TGH) เล่าว่าเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา เครือไทย โฮลดิ้งส์ ที่เป็นกลุ่มธุรกิจด้านประกันและการเงินได้เปิดตัวอาคเนย์มันนี่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางโครงสร้างพื้นฐานสินเชื่อรายย่อย
โดยปี 2564 นี้ตั้งเป้าหมายสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงแรกจะเริ่มดำเนินการสินเชื่อเพื่อคู่ค้า เริ่มต้นจากบริษัทในเครือ โดยไตรมาส 3/64 จะออกสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รถเช่ามือสอง สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ ส่วนไตรมาส 4/64 เป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนและสินเชื่อส่วนบุคคล
ทั้งนี้ การให้บริการสินเชื่อรายย่อยอาจจะผ่านการซื้อกิจการหรือมองหาพันธมิตรเจ้าใหม่ ซึ่งมีการพูดคุยไว้บางส่วน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีเครือข่ายเข้าถึงลูกค้ารายย่อยได้ และมีวิสัยทัศน์ในทิศทางเดียวกันทั้งการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูล (Big Data) อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งสองฝ่าย แม้ว่าตลาดสินเชื่อรายย่อยจะมีการแข่งขันรุนแรง แต่จุดประสงค์ของธุรกิจคือต้องทำผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่า คุ้มความเสี่ยงที่จะทำ
ฐากรชูแผน 3 ปีปรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล มั่นใจ 5 ปีพร้อมบุกอาเซียน
ในช่วง 3 ปี (2564-2566) การเดินหน้าธุรกิจจะใช้ Data ในการนำพาธุรกิจเครือไทย โฮลดิ้งส์ ที่จะเป็นตัวนำพาธุรกิจสู้รบในตลาดที่มีการแข่งขันดุเดือด เพื่อที่จะเป็นผู้นำทางการเงินและประกันภัยในประเทศไทย
ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เม็ดเงินราว 1,500 ล้านบาทเพื่อทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในการรองรับกับกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ระบบหลังบ้าน และระบบบริการลูกค้า รวมถึง API ให้ดียิ่งขึ้น และแผน 3 ปีคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 14-15% ส่วนกำไรคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 20%
ด้านธุรกิจประกันภัย ปี 2564 นี้ด้านประกันวินาศภัย (รวมไทยประกันภัย) จะมุ่งขยายพอร์ตประกันภัยรถยนต์ ประกันสุขภาพ และประกันภัยทรัพย์สิน โดยใช้ฐานเครือข่าย TCC ซึ่งมีพนักงานกว่า 1.5 แสนคน ส่วนประกันชีวิตจะขยายตัวแทนประกันชีวิตในต่างจังหวัดและเพิ่มช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ จากปัจจุบันมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) และปี 2564 นี้คาดว่าจะออกแบบประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Link) เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าในหลากหลายกลุ่ม
และภายใน 3 ปี คาดว่าทั้งธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยจะมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น ทำให้อันดับบริษัทในตลาดเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันที่อาคเนย์ประกันชีวิตอยู่ที่อันดับ 9 ของตลาด ขณะที่อาคเนย์ประกันภัย (และไทยประกันภัย) อยู่ที่อันดับ 6 ของตลาด
อย่างไรก็ตาม แผน 5 ปี (2564-2568) จะขยายธุรกิจสู่อาเซียน โดยคาดว่าจะเริ่มที่ประเทศเวียดนาม ขณะที่ประเทศกัมพูชาและลาว ทางกลุ่ม TCC มีเครือข่าย ซึ่งจะเริ่มต้นขยายประกันภัยรถยนต์และประกันภัยอื่นๆ
ปี 2564 ปรับโครงสร้างองค์กร แตกไลน์ธุรกิจใหม่ Health & Wellness สนับสนุนทุกธุรกิจในเครือ
กลยุทธ์หลักของเครือไทย โฮลดิ้งส์ มุ่งปรับโครงสร้างองค์กรรับโมเดลธุรกิจในการนำข้อมูลที่มีในระบบมาเชื่อมต่อกันทั้งองค์กร เพื่อออกผลิตภัณฑ์ ออกแบบระบบองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการบริหารต้นทุนและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
ทั้งนี้ มีการตั้งบริษัทและแผนกใหม่ ได้แก่
1. Sentrics ที่จะทำ Data Analytics
2. Sofin IT Solutions Delivery
3. แผน Business Transformation เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกันในทุกด้าน
นอกจากนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดธุรกิจ Health & Wellness ที่จะมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพและการเงิน ซึ่งสามารถตอบสนองลูกค้าในกลุ่ม เช่น เซกเมนต์ผู้สูงวัย ตามภาวะสังคมสูงวัยที่กำลังเกิดขึ้นในไทย
สุดท้ายนี้ แม้เครือไทย โฮลดิ้งส์ จะมุ่งขยายธุรกิจการเงินอย่างเต็มตัว ทั้งประกันภัย การเงิน สินเชื่อรายย่อยอย่างลีสซิ่ง สินเชื่อจำนำทะเบียน แต่ฐากรยังกล่าวอย่างชัดเจนว่า “เราจะไม่มีเป้าหมายในการเป็นธนาคาร” แต่จะมุ่งขยายธุรกิจการเงินให้ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกรูปแบบ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์