ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานเสวนาพิเศษหัวข้อ ‘UNLOCK VALUE ก้าวสู่เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด’ ว่าความท้าทายของระบบสถาบันการเงินในยุคดิจิทัล คือ การมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีฐานลูกค้าและหยั่งรากลึกในระบบเศรษฐกิจที่เป็นภาคเศรษฐกิจจริง ทำให้ต้องทำหน้าที่เดินหน้าระบบการเงินเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวผ่านวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ โดยไม่สามารถที่จะละทิ้งหน้าที่นี้แล้วไปทำธุรกิจที่ออกนอกกรอบได้ แม้จะตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคของดิสรัปชันที่จะมีคนและวิธีคิดใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเข้ามาแข่งขัน
ขณะเดียวกันยังมองว่าเส้นแบ่งระหว่างสถาบันการเงินและบริการทางการเงินในเวลานี้เริ่มแบ่งแยกกันยากขึ้นด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ซึ่งจะมีผลกับธนาคารพาณิชย์ เพราะเงินในระบบตลาดเงินทุนจะหมุนเร็วมากขึ้น ต่างจากโลกการเงินแบบดั้งเดิมที่มีเงินขี้เกียจอยู่พอควร โดยในโลกใหม่จะเห็นการโอนเงินจากที่ไหนก็ได้ไปพร้อมกัน อย่างสินทรัพย์ดิจิทัล จึงเป็นความท้าทายที่สถาบันการเงินต้องปรับการทำงาน บุคลากร กระบวนการทำงาน และที่สำคัญต้องบริหารจัดการกฎระเบียบที่จะคลุมเครือมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับผู้ที่ไม่มีกฎควบคุมหรือใช้กฎระเบียบที่แตกต่าง
ผยงยังกล่าวถึงหนี้จำนวน 2 ล้านล้านบาทที่อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ (ไม่รวมสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดทั้ง 3 ระลอก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาลได้ออกมาตรการเชิงรุกเพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงมีมาตรการยืดหยุ่น มาตรการแก้หนี้ในระยะยาวไปถึงปี 2566 และมาตรการทางการคลังที่เข้ามาประคองภาคธุรกิจไม่ให้บอบช้ำมาก
ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า มาตรการการเงินและการคลังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นเพียงการประคองหรือเลี้ยงไข้ให้เศรษฐกิจผ่านไปสู่ช่วงการฟื้นตัวให้ได้ โดยมีสถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการจัดสรรทรัพยากรให้ลูกหนี้สามารถอยู่รอดและกลับมาใช้หนี้ได้ในระยะยาว โดยเชื่อว่าด้วยเครื่องมือที่ ธปท. จัดสรรให้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ระบบสถาบันการเงินไทยจะมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นกลไลให้ระบบเศรษฐกิจอยู่รอดต่อไปได้ จากบทเรียนของวิกฤตปี 2540 ที่สร้างความแข็งแรงให้สถาบันการเงินสามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ได้ และทำหน้าที่ควบคู่ไปกับมาตรการทางการเงินและการคลัง
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมีการกระจายวัคซีนได้รวดเร็วกว่าที่คาด ทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะกลับมาได้เร็ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจยังต้องประคับประคองเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องเร่งภาคการส่งออกให้กลับมาเป็นพลังหลักเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าและบริการเพื่อส่งออก จำเป็นต้องปรับตัวสินค้าที่จะไปแข่งขันกับตลาดโลกให้ได้ พร้อมกันนี้ต้องกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงการปรับเปลี่ยนภาคการท่องเที่ยวไทยให้มีมูลค่าเพิ่มและลดความกระจุกตัว
ผยงกล่าวว่า ในส่วนของธนาคารกรุงไทยที่ได้มีการปรับปรุงด้านดิจิทัลแบงกิ้งตลอดช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นเทรนด์ของการปรับเปลี่ยนไปสู่ Open Platform จึงเดินหน้ายุทธศาสตร์คู่ขนานพัฒนาโมบายแบงกิ้งซึ่งเป็นระบบปิดควบคู่ไปกับ Open Platform อย่างแอปพลิเคชันเป๋าตัง ทำให้ปัจจุบันธนาคารมีแพลตฟอร์มที่สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว่า 50 ล้านราย จากแอปพลิเคชันเป๋าตัง 33 ล้านราย, แอปพลิเคชันถุงเงิน 1.5 ล้านร้านค้า, แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT 12-13 ล้านราย และ LINE Connect 16 ล้านราย
โดยแผนในขั้นต่อไปของธนาคารคือการสร้างคุณค่าเพิ่มให้ลูกค้า ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ และต่อยอดไปถึงบริการอื่นๆ เช่น ฟู้ดเดลิเวอรี, การลงทุนต่างๆ ในแอปพลิเคชัน เช่น กระเป๋าเงินสุขภาพ ซื้อขายทองหรือการซื้อขายพันธบัตรผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือในกรณี One Baht Bond ที่ใช้กลไกลบล็อกเชนเข้ามาช่วยให้การซื้อขายพันธบัตรได้ในหน่วยย่อย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะถูกต่อยอดไปสู่การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ในอนาคต
สำหรับการมองหาพันธมิตร มองว่าคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะธนาคารคงไม่สามารถทำธุรกิจอื่นได้หากไม่รู้จริง จึงต้องหาพันธมิตรเพื่อมาตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งเป็นความท้าทายของธุรกิจที่ต้องมีต่อเนื่องและเติมเต็มการเชื่อมต่อในยุคดิจิทัล
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP