วันนี้ (19 กันยายน) วรพล แกมขุนทด รักษาการนายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ และสมาชิก เดินทางมายังกระทรวงคมนาคม พร้อมมอบพวงมาลัยให้กับ สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พร้อมยื่นหนังสือเรื่องบอกเล่าความเดือดร้อนของผู้ประกอบการแท็กซี่และคนขับแท็กซี่
สำหรับข้อเรียกร้องที่สมาคมฯ ได้ยื่นต่อกระทรวงคมนาคมวันนี้ ประกอบด้วย
1. สมาคมฯ ขอให้กระทรวงแก้ไขในกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับเรื่องลักษณะและขนาดของรถยนต์รับจ้าง
รวมทั้งขอให้กระทรวงพิจารณาขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ให้รับรองการนำรถยนต์ที่มีสภาพรถยนต์พร้อมใช้งานและอยู่ในสภาพที่ดีมาจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่ ให้กำหนดรถใหม่จากโรงงานจนถึงรถที่จดทะเบียนมาแล้วไม่เกิน 9 ปี เพื่อลดต้นทุนในการลงทุนกับรถใหม่ที่มาราคาสูง
2. ให้กระทรวงพิจารณาเรื่องประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดอัตราค่าโดยสารและค่าบริการอื่นสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2565 ฉบับนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง เพราะปัจจุบันมีค่าต้นทุนพลังงานและค่าครองชีพสูง ทำให้มีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย
3. ให้กระทรวงช่วยแก้ไขพิจารณาในกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 ฉบับนี้ว่ายังคงดำเนินการต่อหรือไม่ในปัจจุบัน เนื่องจากเกิดความรุนแรงขึ้นระหว่างคนขับรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ซึ่งส่วนมากไม่ได้ทำตามกฎระเบียบของกรมการขนส่งทางบก และยังมีรถป้ายดำมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชันจำนวนมาก โดยไม่สนกฎกระทรวงหรือประกาศของกรมการขนส่งทางบก จึงขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับนี้ แล้วปรับปรุงแก้ไขเป็นแอปที่ใช้กับแท็กซี่เท่านั้น
4. ขอให้กระทรวงพิจารณาเรื่องประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณลักษณะและระบบการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับรองระบบอิเล็กทรอนิกส์และผู้ให้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 สมาคมฯ ตั้งข้อสังเกตว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มแอปและกลุ่มรถป้ายดำมากเกินไปหรือไม่ ทำให้แท็กซี่เสียเปรียบมากเกินไป เพราะรถป้ายดำได้รับค่าโดยสารที่แพงกว่า
5. เรื่องปัญหาผู้มีอิทธิพลที่ตั้งตนเป็นใหญ่ในเมืองนี้บนถนนหลวงหรือเส้นทางสาธารณะทั่วประเทศ ซึ่งแท็กซี่ประสบปัญหากับผู้มีอิทธิพลไปตั้งจุดจอดตามถนนหลวง ถนนสาธารณะต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด
ปัจจุบันมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลตั้งจุดจอดวินแท็กซี่เถื่อน หรือเรียกเก็บหัวคิวจากกลุ่มแท็กซี่ทั้งรายวัน รายเดือน ส่งผลกระทบคนขับแท็กซี่เป็นอย่างมาก เพราะหากไม่ยอมจ่ายค่าวิน ค่าคิวจอดรับผู้โดยสาร จะเกิดการทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องและกรมการขนส่งทางบกช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของผู้ประกอบการรถแท็กซี่
6. ขอให้กระทรวงจัดสถานที่จุดจอดรถแท็กซี่ทุกสถานีรถไฟฟ้า โดยใช้พื้นที่เว้าขอบทางเดินให้จอดประมาณ 10 คัน โดยให้กระทรวงคมนาคมประสานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.)
7. ขอให้ตั้งศูนย์แอปให้บริการบนแพลตฟอร์ม เพื่อใช้ดาวน์โหลดเรียกใช้บริการแท็กซี่ ให้ประชาชนทั่วประเทศและทั่วโลกดาวน์โหลดใช้บริการ
8. ขอให้ช่วยเหลือเรื่องพลังงาน ออกบัตรส่วนลดพลังงานให้รถแท็กซี่และรถรับจ้างให้บริการสาธารณะ เช่น NGV ราคาไม่เกิน 12.50 บาทต่อลิตร และ LPG ราคาไม่เกิน 11.40 บาทต่อลิตร
9. ช่วยนำโครงการนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มาใช้จ่ายเป็นค่ารถแท็กซี่ได้ด้วย เพราะทำให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ได้รับเงินจากนโยบายนี้ไปพร้อมกับร้านค้า เพื่อส่งเสริมรายได้รวมให้สังคมทั่วไป
ด้านสุรพงษ์กล่าวว่า ได้รับข้อเสนอของแท็กซี่ และมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกไปศึกษาข้อมูลตามข้อเรียกร้อง โดยแบ่งการดำเนินงานตามความเร่งด่วนระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่งต้องให้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด ส่วนกรณีที่แท็กซี่ให้แก้ปัญหารถป้ายดำที่ให้บริการผ่านแอปนั้น ให้กรมการขนส่งทางบกไปศึกษาให้ดำเนินการเป็นธรรมทุกฝ่าย เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้และไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ วรพลกล่าวว่า ในวันที่ 20 กันยายนนี้ สมาคมฯ จะเข้าร่วมประชุมกับกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 9 ข้อที่ยื่นวันนี้ เพื่อให้มีความคืบหน้าต่อไป