×

ทวีขอให้ครอบครัวบุ้งมั่นใจในกระบวนการสืบหาสาเหตุเสียชีวิต ด้านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ยืนยัน เจ้าหน้าที่-หมอช่วยสุดความสามารถ

โดย THE STANDARD TEAM
17.05.2024
  • LOADING...
ทวี บุ้ง ทะลุวัง

วันนี้ (17 พฤษภาคม) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ว่า ขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพนั้นมีการควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างรัดกุม โดยจะต้องมีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และฝ่ายปกครอง มาร่วมดำเนินการภายใต้คำสั่งของอัยการ โดยทำสำนวนและส่งศาลใน  30 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อสาเหตุการเสียชีวิต  

 

จากนั้นศาลจะดำเนินการไต่สวนสำนวนภายใน 30 วัน ซึ่งญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาสอบถามข้อสงสัยหรือหาพยานหลักฐานมาหักล้างสาเหตุการตายตามข้อสงสัยได้ 

 

ทวีกล่าวต่อว่า ขอให้ครอบครัวมีความมั่นใจ แต่ตัวเองไม่อยากกล่าวอะไรที่เป็นการชี้นำ ส่วนลำดับเหตุการณ์ขณะเสียชีวิตนั้นขณะนี้กรมราชทัณฑ์กำลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่อชี้แจงทั้งหมด เบื้องต้นทราบว่ามีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 9 คน  

 

และจากการที่ดูกล้องวงจรปิดแล้ว มีบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ไว้ทั้งหมด รวมถึงเหตุการณ์ย้อนไปหลายวัน จึงขอให้มีความมั่นใจได้ เนติพรรับประทานอาหารขณะอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และมีรายการจัดส่งอาหารที่พยาบาลบันทึกไว้ทั้งหมดว่าจัดส่งอาหารครบ 3 มื้อ

 

ซึ่งหลังจากนี้หากไม่ผิดระเบียบของทางกรมราชทัณฑ์ ก็สามารถพาผู้สื่อข่าวไปดูทัณฑสถานได้ โดยมองว่าทุกคนที่เข้ามาเป็นเหมือนครอบครัว ไม่ว่าจะมีโทษอะไรก็จะต้องดูแลให้เสมอภาค ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่เคยรับใครกลับจากโรงพยาบาลแม่ข่ายถ้าไม่ได้รับการร้องขอ ซึ่งกรณีนี้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เนติพรมีหนังสือส่งตัวกลับหลายฉบับให้กลับมาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

 

ตอนนี้ยอมรับว่ากังวลว่าเจ้าหน้าที่ในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะเสียกำลังใจ ยืนยันว่าทางกรมราชทัณฑ์มีแต่ความเสียใจและไม่ได้มีความขัดแย้งกับใคร

 

กรณีที่ทนายความระบุว่า อยากดูภาพจากกล้องวงจรปิดนั้น โดยหลักการสามารถให้ดูได้อยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบก่อน 

 

ส่วนการช่วยเหลือเยียวยา ทวีกล่าวว่า ต้องดูตามกฎหมาย อะไรที่เป็นกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามนั้น ส่วนเรื่องมนุษยธรรมที่อยากให้ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ไปร่วมงานศพเนติพรนั้น กรมราชทัณฑ์มีอำนาจให้ผู้ต้องขังเด็ดขาดไปงานศพของพ่อและแม่ที่เสียชีวิตได้ แต่กรณีทานตะวันเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งกรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจ ต้องให้ศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ

 

ด้าน สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ขั้นตอนที่ได้รับรายงานมา เนติพรและทานตะวันตื่นตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น. และมีการพูดคุยกัน จากนั้นทานตะวันไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาถามเนติพรที่ขณะนั้นนอนอยู่ที่เตียงผู้ป่วยว่ายังปวดท้องอยู่หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจสภาพร่างกายตามปกติทุกวัน ทั้งการตรวจวัดความดัน ออกซิเจน และการเต้นของหัวใจ 

 

หลังตรวจเนติพรเสร็จแล้วก็มาตรวจทานตะวันต่อ หลังจากนั้นประมาณ 1 นาที หรือเวลาประมาณ 06.00 น. เนติพรลุกขึ้นนั่งและปรากฏว่ามีอาการวูบ จากนั้นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) จำนวน 4 คนยกเนติพรทั้งที่นอนไปรักษาที่ห้องไอซียูและทำซีพีอาร์ มีการตรวจวัดชีพจร ให้กลูโคลส ฉีดอะดรีนาลีนเพื่อกระตุ้นหัวใจโดยมีแพทย์เป็นผู้ฉีด และมีการทำซีพีอาร์ตลอดเวลา

 

จนกระทั่งนำตัวส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระหว่างนั้นมีการประเมินสภาวะร่างกายโดยการจับชีพจร แต่ไม่สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้ แต่สัญญาณชีพที่ตรวจวัดได้ครั้งสุดท้ายคือ 90 ครั้งต่อนาที จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติแจ้งว่าเสียชีวิต

 

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าเนติพรเสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติหรือไม่นั้น สหการณ์กล่าวว่า ต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติม แต่คิดว่าอยู่ระหว่างการยื้อชีวิตให้ได้มากที่สุด ยืนยันว่าไม่ได้ส่งตัวช้า เพราะหลังเกิดเหตุมีการประสานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติโดยทันที ขอย้ำว่าพยายามสุดความสามารถแล้ว ซึ่งจากการได้พูดคุยกับเพื่อนที่เป็นแพทย์ก็ยืนยันว่าทำไปตามมาตรฐานของโรงพยาบาล

 

สหการณ์กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และไม่มีอาการที่บ่งชี้มาก่อนว่าจะเกิดภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลต่อชีวิต ซึ่งได้ตรวจสอบรายงานทางการแพทย์มาแล้วว่าทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ห้องกู้ชีพของทัณฑสถานและการรักษาของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีความพร้อมในระดับมาตรฐานของสถานพยาบาลชั้นทุติยภูมิโดยทั่วไป แต่หลังจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีสารและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการกู้ชีพเพียงพอหรือไม่

 

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในการแถลงข่าวครั้งล่าสุดผู้ให้ข้อมูลเป็นแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์เจ้าของไข้และไม่ใช่แพทย์เวร จึงไม่สามารถให้รายละเอียดในเชิงลึกได้ จึงทำให้เกิดการตอบคำถามที่ไม่ชัดเจน 

 

ยืนยันว่าแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติพยายามยื้อชีวิตอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตได้ ส่วนรายละเอียดทางการแพทย์ในเชิงลึกนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบ รวมถึงไม่ได้ส่งตัวช้า เนื่องจากมีหลายขั้นตอนที่ต้องทำ อาทิ ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสัญญาณหัวใจ

 

สหการณ์กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.อ. ทวี ระบุถึงการกลับมารับประทานอาหารของเนติพรว่า การจัดอาหารสำหรับผู้ป่วยจะมีนักโภชนาการพิจารณาว่าอาการป่วยลักษณะนี้จะต้องรับประทานอะไร ส่วนใหญ่เริ่มจากอาหารอ่อน ตามด้วยวิตามินเสริมและนม ขึ้นอยู่กับสภาพอาการของผู้ป่วย 

 

แต่ว่าทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้จัดอาหารตามโภชนาการแก่เนติพรทุกมื้อ ส่วนที่ตนได้รับรายงานมาคือ บางครั้งเนติพรเลือกดื่มน้ำหวานหรือรับประทานอาหารเบาๆ ก่อน ก่อนจะถึงวันที่เสียชีวิตเนติพรเริ่มรับประทานข้าวต้ม ส่วนในเช้าวันเสียชีวิต (14 พฤษภาคม) เนติพรและทานตะวันทั้งคู่นอนอยู่ในห้องผู้ป่วย มีการตื่นมาตอนเวลา 03.00 น. อย่างที่ทราบว่าคนป่วยมักจะมีสภาพหลับๆ ตื่นๆ แต่ ณ ตอนนั้นยังไม่ถึงเวลารับประทานอาหารเช้าแต่อย่างใด จนมาถึงช่วงเวลาประมาณ 06.20 น. เนติพรถึงเกิดอาการวูบหมดสติ

 

ส่วนกรณีที่ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า รับทราบผลการตรวจกระเพาะอาหารของเนติพรเบื้องต้นว่าภายในกระเพาะอาหารไม่มีอาหารเลยนั้น ตนยังไม่ทราบในรายละเอียดส่วนนี้ แต่ได้ประสานไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติแล้ว ทราบว่ารายละเอียดบางส่วนโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติยังต้องประสานการทำงานร่วมกับสถานพยาบาลอื่นในการตรวจชันสูตร ยืนยันว่าผลการชันสูตรพลิกศพยังไม่ออก ส่วนทนายความรับทราบจากทางใดตนไม่ทราบเช่นกัน 

 

ส่วนประเด็นภาพกล้องวงจรปิดภายในห้องพักผู้ป่วยทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทานตะวันอยู่กับเนติพรก่อนเสียชีวิต และแผนการรักษาล่วงหน้า 5 วันที่ทนายได้ขอนั้นสหการณ์ระบุว่า เมื่อช่วงเช้าผู้แทนของผู้เสียชีวิตเข้ามาติดต่อรับเอกสารการตรวจรักษาของเนติพรย้อนหลัง 5 วันเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาพจากกล้องวงจรปิดคงต้องดูอีกทีว่าไม่ไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ในห้องนั้นด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising