เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท สมอลล์รูม จำกัด จัดงานแถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การผลิตและจำหน่ายแผ่นเสียงจากคอนเสิร์ต Tattoo Colour x Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) ซึ่งจัดขึ้นในปี 2561 โดยเป็นแผ่นเสียงขนาด 12 นิ้ว จำนวน 3 แผ่น ผลิตล็อตแรกจำนวน 650 ชุด ราคา 3,000 บาท พร้อมวางขายในเดือนมกราคม 2566
ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้กล่าวต้อนรับการร่วมมือกันครั้งนี้ว่า สถาบัน iNT มีหน้าที่รับผิดชอบในการผลักดันให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สิ่งนี้จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้ประชาชนรับรู้ถึงการสร้างสรรค์ผลงานด้านสุนทรียศาสตร์เผยแพร่ออกไปสู่สังคม และสามารถต่อยอดไปสู่ความร่วมมือรูปแบบต่างๆ ในอนาคตได้
ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ มีการเข้าไปพูดคุยกับองค์กรต่างๆ เพื่อทำให้ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐเข้ามามองเห็นความสำคัญของดนตรี ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่งที่ควรผลักดันให้มีการสนับสนุนอย่างครบวงจร มหาวิทยาลัยเองเป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไร จึงมีจุดมุ่งหมายว่าความร่วมมือในวันนี้จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่ช่วยทำให้ผลประโยชน์กลับมาสู่ศิลปินและสังคมได้มากที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ถัดมา รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ และ เจตมนต์ มละโยธาช กรรมการบริษัท สมอลล์รูม จำกัด เป็นตัวแทนจากค่ายมาร่วมลงนามในวันนี้ รุ่งโรจน์กล่าวแสดงความดีใจแทนศิลปินและวงการเพลงที่ได้เห็นภาพของวงดนตรีคลาสสิกและป๊อปมาอยู่ด้วยกัน พร้อมเล่าถึงเบื้องหลังการนำคอนเสิร์ตจากปี 2561 มาปัดฝุ่นต่อยอดความสำเร็จและความยิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยเลือกรูปแบบเป็นแผ่นเสียงเพราะน่าจะตอบโจทย์มากที่สุด
ขณะนี้คาดการณ์ว่าจะผลิตแผ่นเสียงล็อตแรก 650 ชุด ราคา 3,000 บาท แต่ละชุดประกอบไปด้วยแผ่นเสียงขนาด 12 นิ้ว จำนวน 3 แผ่น ส่วนกระบวนการผลิตจะเริ่มต้นหลังจากนี้ และใช้เวลาดำเนินการราว 5-6 เดือน จึงจะจัดจำหน่ายได้จริงช่วงเดือนมกราคม 2566
ช่วงสุดท้าย วง Tattoo Colour กล่าวแสดงความขอบคุณทางมหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัทสมอลล์รูม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคอนเสิร์ตที่ทำให้วงได้รับประสบการณ์ดีๆ เช่นนี้ สำหรับบันทึกการแสดงสดที่ปล่อยออกมาให้รับชมกันเมื่อเดือนมกราคมทาง YouTube ถือว่ามาในช่วงเวลาเหมาะสมที่ทุกคนห่างหายจากคอนเสิร์ตไปนาน จึงกลายเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ทำให้กราฟของ Tattoo Colour ตีกลับขึ้นมา มีแฟนเพลงรุ่นใหม่ๆ เข้ามารอสนับสนุนซิงเกิลใหม่ของพวกเขา และตามกลับไปฟังเพลงในอัลบั้มก่อนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ภาพ: Smallroom