คุณยังจำกระแสแฮชแท็ก #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ที่เคยโด่งดังในโลกโซเชียลได้หรือเปล่า? รูปปั้นสัตว์หิมพานต์ซึ่งถูกปั้นตามจินตนาการและแรงศรัทธาของช่างพื้นบ้าน แม้ผลงานที่ออกมาจะไม่ถูกสรีระ และมีรูปร่างแปลกตาจนน่าเอ็นดู แต่ก็ดึงดูดใจชาวโซเชียลจนพูดกันเป็นวงกว้าง และกลายประเด็นอยู่ช่วงหนึ่ง
มีหลายศิลปินทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นต่างพากันถ่ายทอดเป็นคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนน่ารัก และเรียกคาแรกเตอร์เหล่านี้ว่า ‘หิมพานต์มาร์ชเมลโล่’ และด้วยความน่าสนใจของกระแส การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จึงจับเอาแฮชแท็กนี้มาต่อยอด กลายเป็นโครงการ ‘Himmapan Project’ ชวนคนไทยเที่ยวตามอัตลักษณ์ท้องถิ่น
กฤษณะ แก้วธำรงค์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า “ททท. หยิบเอาความนิยมนี้มาต่อยอดในชื่อว่า ‘Himmapan Project’ โดยได้รับความร่วมมือจากศิลปิน twofeetcat ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มตั้งชื่อให้กับแฮชแท็ก #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ได้โด่งดังมาแล้ว มาร่วมต่อยอดให้กระแสความนิยมดังกล่าวไม่สูญหายไป และพัฒนาให้เป็นกิจกรรมและเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวตามอัตลักษณ์พื้นถิ่นทั้งในพื้นที่เมืองหลักและเมืองรอง”
เบื้องต้นโครงการฯ นี้จะนำร่องเสนอเนื้อหาของสัตว์หิมพานต์ที่ได้รับความสนใจ 5 ตัว สร้างสรรค์เป็นคาแรกเตอร์โดยอ้างอิงเรื่องราวจากตำนาน ประวัติศาสตร์ หรือเรื่องเล่าท้องถิ่น เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่
- สิงห์มอม วัดเจติยภูมิ จ.ขอนแก่น
- พญานาค วัดโพธิ์ศรีทุ่ง จ.อุดรธานี
- เหรา (สีทอง) วัดชัยภูมิการาม จ.อุบลราชธานี
- เหรา (สีขาว) วัดพันธุเวสน์ จ.อำนาจเจริญ
- สิงห์ วัดเกาะวาลุการาม จ.ลำปาง
สำหรับกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วย การเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ Himmapan Project เพื่อเป็นพื้นที่แบ่งปัน และสนับสนุนผลงานของนักวาดรุ่นใหม่ และเหล่า Micro Creator ของไทย ที่สนใจนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์หิมพานต์ มีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อขยายผลนำไปสู่การเดินทางลงพื้นที่ชุมชนจริงหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายลง จัดโปรโมชันเสนอขายร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้ที่สนใจในคาแรกเตอร์สัตว์ในป่าหิมพานต์ได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดีย และสามารถต่อยอดเป็นโครงการอื่นๆ ได้ในอนาคต
ใครที่สนใจสามารถแวะไปดูเหล่าหิมพานต์มาชเมลโล่ได้ ณ แฟนเพจ Himmapan Project