×

ส่องโอกาสทางธุรกิจในอุซเบกิสถาน ตลาดใหม่ที่โลกจับตา นักธุรกิจไทยไม่ควรพลาดงานประชุม Tashkent International Investment Forum

20.02.2020
  • LOADING...

หนึ่งในกลุ่มประเทศเป้าหมายที่นักลงทุนหมายตารอคอยโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนคือ กลุ่มประเทศสดใหม่ในแถบเอเชียกลางที่แตกตัวออกมาจากโซเวียต ประกอบด้วย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน 

 

แต่ที่ผ่านมากลุ่มประเทศเหล่านี้ค่อยๆ เปิดสู่โลกของการค้า การลงทุนกับภายนอกที่ละเล็กละน้อย ไม่พรวดพราด อาจจะเพราะเคยมีความคิดสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์มาก่อน จึงต้องระมัดระวังพิษภัยของโลกทุนนิยม หรืออาจจะเป็นเหตุผลด้านความมั่นคง หรืออาจจะด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นจุดเกรงใจกันของมหาอำนาจทั้งหลาย โดยเฉพาะจีน รัสเซีย ตุรกี หรือแม้แต่สหรัฐฯ ที่พยายามเข้าไปมีบทบาทด้วย 

 

 

แต่ปัจจุบัน นอกจากกลุ่มประเทศเหล่านี้จะมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคร่วมกัน เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังกำลังหันมาให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศสำหรับนักลงทุนต่างชาติ การค้าขายและธุรกิจบริการระหว่างประเทศด้วย 

 

อุซเบกิสถานถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียกลาง และเป็นประเทศที่ ไรเนอร์ ไมเคิล เพรส นักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจมหภาคและตลาดเกิดใหม่ มองว่า อาจเป็นประเทศที่สดใสที่สุดสำหรับเรดาร์การลงทุนชิงโลกในปัจจุบัน เพราะประเทศได้เปลี่ยนผ่านจากสังคมนิยมสู่ระบบทุนนิยมอย่างราบรื่น ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง ชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ 

 

เพรสเขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอุซเบกิสถานไว้อย่างน่าสนใจในเว็บไซต์นิตยสาร Forbes ซึ่งให้ข้อมูลอย่างละเอียด โดยชี้ให้เห็นตัวเลขและการเติบโตที่น่าสนใจของประเทศนี้ เขาชี้ว่า อุซเบกิสถานภายใต้การนำของประธานาธิบดีมีร์ซีโยเยฟที่ขึ้นมาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2016 หลังการเสียชีวิตของอดีตประธานาธิบดี อิสลาม คาริมอฟ กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในโลก และภายในเวลาแค่ 2 ปี สามารถเปลี่ยนวิถีสังคมและเศรษฐกิจแบบเดิมมาสู่การเป็นประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี

 

ประธานาธิบดีมีร์ซีโยเยฟพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งการลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยน การยกระดับการควบคุมเงินทุน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสู่ภาคเอกชนสำหรับธุรกิจที่ไม่ได้กระทบความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ของชาติ นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของมีร์ซีโยเยฟส่งผลให้จำนวนนักนักท่องเทียวเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า ในปี 2018 และตัวเลขเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 4 เท่า ในครึ่งปีแรกของปี 2019 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 

 

ในปัจจุบันอุซเบกิสถานกำลังเดินหน้าโครงการสำคัญๆ หลายโครงการตามนโยบายพัฒนาประเทศ เช่น การผลักดันให้ทาชเคนต์เป็นศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจระหว่างประเทศที่มีมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง ศูนย์กลางธุรกิจ 8 แห่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และศูนย์วัฒนธรรม รวมถึงอพาร์ตเมนต์บนพื้นที่เกือบ 70 เฮกตาร์ หรือประมาณเกือบ 500 ไร่

 

เพรสชี้ว่า ขณะที่ชาติตะวันตกส่วนใหญ่กำลังตกอยู่ในภาวะหนี้สินที่สูงเกินตัว แต่อุซเบกิสถานกลับมีภาระหนี้สินที่คิดรวมต่อจีดีพีแล้วอยู่ที่ร้อยละ 19.8 เท่านั้นเอง 

 

ธุรกิจท้องถิ่นในอุซเบกิสถานเติบโตต่อเนื่องและต้องการเงินทุนจำนวนมาก แต่ตลาดทุนภายในไม่สามารถตอบสนองได้อย่างพอเพียง เพราะธนาคารมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบแบบเก่ามากมาย อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศก็สูงด้วย แต่ภาวะเช่นนี้ถือเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่มีประสบการณ์ และพร้อมจะเจาะตลาดอย่างอุซเบกิสถานที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

 

IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอุซเบกิสถานจะเติบโตเร็วร้อยละ 8 ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประชากรวัยทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี มีจำนวนกว่าร้อยละ 64 ของประชากรทั้งหมด 33 ล้านคน 

 

นอกจากอุซเบกิสถานจะเป็นหัวใจของเอเชียกลางแล้ว ยังเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในยุทธศาสตร์โครงการเส้นทางสายไหมของจีน อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่ร่ำรวยทางวัฒนธรรม เพราะเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมยุคแรกๆ ของโลก มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ ทองคำ ทองแดง ยูเรเนียม แร่ธาตุ และโลหะมากมายหลายชนิด ด้วยทรัพยากรที่มากมาย และด้วยความสำคัญของที่ตั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ จึงไม่แปลกที่เพรสจะอุปมาอุซเบกิสถานว่าเป็น ‘ไข่มุกที่ซ่อนอยู่ในเส้นทางสายไหมของจีน’

 

ปัจจุบันอุซเบกิสถานถือเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคที่มั่นคง มีการเติบโตของ GDP มากกว่าร้อยละ 5 ต่อปี มีวัยรุ่นคนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังแรงงานสำคัญภายในประเทศกว่า 18.5 ล้านคนที่มีการศึกษาที่ดี ร้อยละ 97 เป็นคนที่รู้หนังสือหรืออ่านออกเขียนได้ 

 

ในรายงานของธนาคารโลก Ease of Doing Business ประจำปี 2020 หรือรายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ เป็นที่น่าสนใจว่า ประเทศอุซเบกิสถานถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความง่ายต่อการประกอบธุรกิจอยู่ในลำดับที่ 69 ของโลก จากเดิมเมื่อ 8 ปีที่แล้ว อยู่ที่ลำดับ 166 (หมายความว่า เลื่อนขึ้นมากกว่า 90 อันดับ ภายในเวลาแค่ 8 ปี) สะท้อนชัดว่า อุซเบกิสถานพยายามพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น และทำให้เห็นว่า ประเทศนี้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง 

 

Tashkent International Investment Forum: เวทีการประชุมเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศที่ทาชเคนต์

อ่านมาถึงตรงนี้ หากนักธุรกิจท่านใดสนใจและเห็นโอกาสการค้าการลงทุนกับประเทศอุซเบกิสถาน ก็ไม่ควรพลาดในการเข้าร่วมการประชุม Tashkent International Investment Forum ที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ที่เมืองหลวงทาชเคนต์ ระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม 2020 (แต่คาดว่าอาจจะมีการเลื่อนออกไป เนื่องจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19) เป็นการจัดประชุมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกของประเทศและของภูมิภาคนี้ มีเป้าหมายเพื่อเป็นช่องทางการหารือยุทธศาสตร์การเสริมบทบาทของกลุ่มประเทศเอเชียกลางต่อตลาดการลงทุนระหว่างประเทศ 

 

ผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้รับรู้ข้อมูลและลู่ทางการลงทุนในแต่ละภาคส่วนของธุรกิจในอุซเบกิสถานและภูมิภาคเอเชียกลาง ทั้งนี้ นักธุรกิจหรือผู้ที่จะเข้าร่วมในการประชุมครั้งสำคัญนี้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเชิญเป็นพิเศษเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่า 1,500 คน ประกอบด้วยตัวแทนรัฐบาลจากประเทศต่างๆ ผู้บริหารการเงินและนักธุรกิจเอกชน ทั้งที่เป็นชาวอุซเบกิสถานและที่มาจากกลุ่มประเทศในแถบเอเชียกลาง นักลงทุนจากหลายๆ ประเทศ ผู้นำทางความคิด และสื่อต่างๆ จากทั่วโลก โดยมีประธานาธิบดีเป็นเจ้าภาพ และมีตัวแทนรัฐบาลจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจมาร่วมให้ข้อมูลเชิงลึกหรือรายละเอียดกฎระเบียบการค้าการลงทุนที่สำคัญๆ ในแต่ละภาคส่วน อย่างไรก็ตาม หากมีนักธุรกิจไทยสนใจเข้าร่วม ก็สามารถติดต่อสถานกงสุลอุซเบกิสถานประจำกรุงเทพมหานครได้เลย 

 

ทาชเคนต์ฟอรัมครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้นักธุรกิจได้สำรวจสภาพธุรกิจและการพัฒนาใหม่ๆ ในอุซเบกิสถาน รวมทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางขนส่งทางการค้าที่เชื่อมต่อภายในภูมิภาค รวมถึงโครงการก่อสร้างเส้นทางการค้ายูเรเซีย นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจโครงการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างครอบคลุม เข้าใจโครงการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และมาตรการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ผู้เข้าร่วมยังสามารถสร้างเครือข่ายนักธุรกิจและตัวแทนรัฐบาลจากประเทศต่างๆ ทั้งอุซเบกิสถานและกลุ่มประเทศในเอเชียกลาง ซึ่งฟอรัมนี้จะเป็นเหมือนสปริงบอร์ดของนักธุรกิจที่ต้องการเข้าสู่ตลาดเอเชียกลางด้วย

 

ในวันแรกของการประชุมจะเปิดด้วยการปาฐกถาและกล่าวเปิดงานโดย

ซาร์ดอร์ อูมูร์ซาคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และจะมีทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการค้าการลงทุน ผู้เข้าร่วมจะได้รับข้อมูลตรงเกี่ยวกับก้าวย่างต่อไปของการปฏิรูปและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประเทศ ธุรกิจอะไรในภาคเอกชนที่รัฐบาลเน้นส่งเสริมเป็นวาระสำคัญแรกๆ ความท้าทาย โอกาส และวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการบูรณาการตลาดภูมิภาคเข้ากับตลาดโลก ตลอดจนทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของอุซเบกิสถานในทศวรรษต่อๆ ไป 

 

ตลอด 2 วัน ของการจัดประชุมที่ทาชเคนต์ จะมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทั้งในรูปแบบการหารือโต๊ะกลมและการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ ความต้องการในด้านต่างๆ และที่สำคัญคือโอกาสของนักลงทุนในหลากหลายธุรกิจ โดยในที่นี้จะขอหยิบยกบางหัวข้อที่คาดว่าจะเป็นวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ 

 

 

  • โอกาสและทิศทางการค้าขายในกลุ่มเอเชียกลาง (Capitalizing on Central Asia’s Shifting Trade Flows) 

 

หลังจากที่ก้าวพ้นยุคของการปิดตัวเองลำพังมาสู่การพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย อุซเบกิสถานก็ได้ขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ผลิตสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของตลาดเอเชีย โดยเฉพาะกับจีนที่ในปี 2018 เพียงปีเดียวมูลค่าการค้าระหว่างกันเติบโตเร็วมากถึงร้อยละ 35 และมีบริษัทจีนมากกว่า 1,000 บริษัท ไปลงทุนในอุซเบกิสถาน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า อุซเบกิสถานยังต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เต็มศักยภาพของตัวเอง การพูดคุยแลกเปลี่ยนในมิติทางการค้าจะมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของภาคเอกชนและธุรกิจขนาดกลาง (SMEs) เพื่อขยายโอกาสทางการค้า ซึ่งปัจจุบันผลผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 45 รัฐจะมีมาตรการทางนโยบายและส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร เพื่อตอบสนองผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดใหม่ๆ

 

 

  • การพัฒนาทักษะการทำงานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต

 

คาดกันว่าในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อุซเบกิสถานจะมีวัยรุ่นหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 5 แสนคนในแต่ละปี เพื่อรองรับความต้องการของนักธุรกิจและนักลงทุนในอนาคต แรงงานกลุ่มนี้จำเป็นจะได้รับการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมอย่างไรกับงาน แรงงานวัยรุ่นอุซเบกิสถานมีพื้นฐานความรู้และการศึกษาที่ดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เหลือเพียงรัฐจะสนับสนุนคนกลุ่มนี้อย่างไรให้สอดคล้องกับผู้ประกอบการและทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ผู้เข้าร่วมประชุมก็จะได้ข้อมูลว่า อุซเบกิสถานจะเร่งพัฒนาทักษะและวางแผนเกี่ยวกับแรงงานอย่างไรในหลายๆ อาชีพ ไม่ว่าจะเป็นในสายงานเกี่ยวกับระบบดิจิทัล วิศวกรรมเคมี การขนส่งและการจัดการด้านโลจิสติกส์ การสื่อสาร และภาคธุรกิจบริการต่างๆ ฯลฯ

 

 

  • โอกาสทางธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่คำนึงถึงคนรุ่นหลัง

 

รัฐบาลมีการวางยุทธศาสตร์การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ ต้องการพัฒนาขีดความสามารถการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่าร้อยละ 20 รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ภายในปี 2030 เพื่อตอบสนองความต้องการการบริโภคภายในประเทศ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีเป้าหมายลดความเข้มข้นการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลงร้อยละ 50 ในทศวรรษหน้า ดังนั้น รัฐต้องการการลงทุนและการสนับสนุนเทคโนโลยีจากนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก 

 

 

  • โอกาสสำหรับนักลงทุนธุรกิจท่องเที่ยว

 

อุซเบกิสถานมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกหลายแห่ง มียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1.9 ล้านคน ในปี 2014 เพิ่มเป็น 6.4 ล้านคน ในปี 2018 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลได้วางแผนลงทุนพัฒนาการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวของประเทศที่กำลังเติบโต โดยทุ่มงบประมาณกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อก่อสร้างโรงแรมและรีสอร์ต 196 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อจะกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในปี 2025 โดยอุซเบกิสถานมีระบบขนส่งที่ค่อนข้างดีอยู่แล้ว ทั้งทางรถไฟ ถนนหนทาง และการเชื่อมโยงเครือข่ายสายการบินระหว่างประเทศ ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะพูดถึงนโยบายและทิศทางการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวในอนาคตแล้ว ยังจะมีหารือร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ว่ายังมีอะไรบ้างที่ขาดหาย หรือที่ต้องการเพิ่มเติมในกระบวนการยกระดับธุรกิจการท่องเที่ยวให้เติบโตในอนาคต รวมทั้งสำรวจความต้องการของตลาดเอเชียและยุโรปด้วย

 

 

  • โอกาสสำหรับธุรกิจค้าปลีกและผู้บริโภคอุซเบกิสถาน

 

ในจำนวนประชากรอุซเบกิสถานทั้งหมดที่มีประมาณ 33 ล้านคน ถัวเฉลี่ยของวัยรุ่นหนุ่มสาวอยู่ที่อายุประมาณ 28 ปี มีรายได้ต่อครัวเรือนที่สูงขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจค้าปลีกเติบโตขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 ปีต่อปี ตั้งแต่ปี 2016-2018 โดยการบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นเงินกว่า 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหมดนี้จึงเป็นโอกาสของธุรกิจค้าปลีกในอุซเบกิสถาน

 

 

  • อุซเบกิสถานกับการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าอุตสาหกรรมแห่งภูมิภาค

 

จากนโยบายและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของภาคธุรกิจเอกชน ทำให้อุซเบกิสถานมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการจัดส่งภายในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า การผลิตกระแสไฟฟ้า และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ โดยฟอรัมนี้จะเน้นพูดคุยและนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางแผนเร่งการผลิตของภาคเอกชนและความต้องการผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจ SMEs จะเตรียมพร้อมหรือปรับตัวอย่างไร เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ

 

 

  • โอกาสของภาคการเงิน

 

อุซเบกิสถานอยู่ระหว่างการปฏิรูประบบการเงินและการธนาคารครั้งใหญ่ ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของประเทศ โดยเป็นการปรับเปลี่ยนจากระบบธนาคารของรัฐมาเป็นระบบธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ซึ่งสิ่งจำเป็นที่ตามมาคือ ความต้องการการพัฒนาในเรื่องธนาคารบนมือถือ (Mobile Banking) การบริการการเงินผ่านระบบดิจิทัลและระบบอินเทอร์เน็ต นวัตกรรมฟินเทค (เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน: Fintech) หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อเร่งปรับระบบการเงินให้มีความทันสมัย ในขณะเดียวกันต้องรับรองการเข้าถึงบริการของธนาคารอย่างครอบคลุม ซึ่งในฟอรัมนี้จะเน้นการดึงนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนต่อไป

 

 

  • โอกาสในอุตสาหกรรมเกษตรสำหรับอุซเบกิสถาน การหาตลาดใหม่ และการปรับปรุงการผลิต

 

ร้อยละ 17 ของ GDP อุซเบกิสถานมาจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งแรงงาน 1 ใน 3 ของประเทศ มาจากภาคการเกษตร ที่ผ่านมารัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างมากในการปฏิรูปภาคการเกษตรจากที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ มาปล่อยให้ภาคธุรกิจเอกชนดำเนินการ ทำให้สินค้าเกษตรมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและผลผลิตมีความหลากหลายกว่าเดิม โดยรัฐพยายามจะมองหาตลาดใหม่เพื่อการส่งออก อุซเบกิสถานกำลังพยายามพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีความหลากหลายมากกว่าการพึ่งพาการส่งออกฝ้ายอย่างเดียว นอกจากนี้ยังเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตรประเภทอื่น อย่างผัก ผลไม้ และสินค้าปศุสัตว์ด้วยวิธีการแปรรูป นักลงทุนที่เข้าร่วมฟอรัมนี้จะมีโอกาสได้รับข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ เพื่อตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจนี้

 

 

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งโลจิสติกส์ในระยะถัดไป

 

เนื่องจากอุซเบกิสถานตั้งอยู่ใจกลางของโครงการเส้นทางสายไหมใหม่หรือโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและคมนาคมที่สำคัญมากๆ อุซเบกิสถานได้ประโยชน์เต็มๆ จากโครงการนี้ รัฐบาลจึงต้องเตรียมการพัฒนาหรือปรับปรุงระบบขนส่งทั้งทางรถไฟ ทางอากาศ การปรับปรุงถนนหนทางต่างๆ เพื่อรองรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือการพัฒนาระบบบริการโลจิสติกส์ที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งหมดนี้คงต้องใช้งบจำนวนมากและต้องพึ่งพานักธุรกิจและเงินทุนต่างชาติไม่น้อย

 

 

  • ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการสร้างมูลค่าเพิ่มในปลายน้ำของกระบวนการผลิต

 

การทำเหมืองแร่ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของอุซเบกิสถาน โดยเฉพาะแร่ทองคำ ยูเรเนียม และแร่ธาตุอื่นที่รองลงมา ไม่ว่าจะเป็นทองแดง เงิน ถ่านหิน สังกะสี ฟอสเฟต โพแทสเซียม ออกไซด์ของธาตุหายาก และแร่ชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ ความต้องการของรัฐบาลในการปรับปรุงอุตสาหกรรมเหมืองแร่เดิมที่มีอยู่และขยายเหมืองใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้ทั้งงบประมาณและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ดังนั้น ในฟอรัมนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะได้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ และความต้องการของประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าเพิ่มในปลายน้ำของการผลิต มาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับนักธุรกิจเหมืองแร่ทั้งหลาย ตลอดจนข้อมูลเงื่อนไขหรือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลให้ความสำคัญ 

 

 

 

  • แผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสู่ตลาดพลังงานโลก

 

อุซเบกิสถานมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล แต่ด้วยนโยบายในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้เน้นการขุดเจาะหรือผลิตพลังงานเหล่านี้ในปริมาณที่มากมายนัก อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันที่เน้นการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รัฐบาลเองก็ต้องการสร้างรายได้จากทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่ให้มากขึ้น และได้ตั้งเป้าทุ่มงบประมาณกว่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเดิมในภาคการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งอุซเบกิสถานกำลังมองหาหุ้นส่วนและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์แผนยุทธศาสตร์การเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศ นักธุรกิจที่เข้าร่วมในฟอรัมนี้จะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการวิเคราะห์คาดการณ์ศักยภาพการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซของอุซเบกิสถานในทศวรรษนี้ ตลอดจนแผนขั้นตอนการปรับโครงสร้างให้ทันสมัยในระยะถัดจากนี้ต่อไป

 

ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างประเด็นและโอกาสทางธุรกิจบางส่วนที่จะมีการพูดถึงหรือนำเสนอในวงประชุมที่เดิมมีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคมนี้ (แต่อาจเลื่อนออกไป เพราะการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019) นอกจากนั้นยังมีโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ อีกมากมายที่จะดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก

 

การเมืองและสภาพสังคมอุซเบกิสถาน อีกปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุน

ผู้เขียนมีโอกาสเยือนอุซเบกิสถาน 2 ครั้ง ครั้งแรกไปประชุมวิชาการ ครั้งที่ 2 ไปเป็นผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งระหว่างประเทศ มีโอกาสได้สัมผัสกับผู้คนและวัฒนธรรมที่นั่นระดับหนึ่ง ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม พบว่า เป็นประเทศที่น่าสนใจมาก หลายคนมีภาพจำเกี่ยวกับประเทศที่มีชื่อลงท้ายว่า ‘สถานๆ ทั้งหลาย’  ว่าเป็นประเทศมุสลิมที่มีแต่ข่าวความรุนแรงและความขัดแย้ง แต่ถ้าได้มาสัมผัสกลุ่มประเทศในแถบเอเชียกลางที่มีชื่อลงท้ายว่า ‘สถาน’ ทั้งหมด โดยเฉพาะอุซเบกิสถาน จะทำให้ลืมภาพลักษณ์เดิมของประเทศสถานๆ ทั้งหลายไปเลย เพราะมีความสงบ เรียบร้อย ปลอดภัยติดอันดับต้นๆ ของโลก ในปี 2018 อุซเบกิสถานถูกจัดอันดับโดย Gallup ให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดอันดับ 5 ของโลก

 

มีคนต่างชาติหลายคนไปอยู่ที่นั่นแล้วหลงใหลในความสงบสุข เรียบร้อย ความปลอดภัย จนไม่กลับประเทศ หลายคนได้สัญชาติเลย มีคนต่างชาติคนหนึ่งไปอยู่ที่นั่นแล้วบอกผมว่า คนที่นี่ดีมากๆ ต่อให้คุณเอาเงินไปตั้งไว้ข้างถนนเป็นล้าน ก็ไม่มีใครมายุ่งกับมัน ในประเทศนี้แทบจะไม่มีข่าวอาชญากรรมเลย

 

อุซเบกิสถานเป็นแหล่งรวมคนหลากเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ หน้าตาผสมผสานกันไปหมด จีน แขก ฝรั่ง เปอร์เซีย อาหรับ ฯลฯ อยู่ด้วยกันอย่างสันติมากๆ ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ หรือการเลือกปฏิบัติบนความแตกต่างทางศาสนา ภาษา ฯลฯ ไม่มีความเกลียดชัง ไม่มีการปลุกระดมให้เกิดความแตกแยก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ คนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 88 นับถือศาสนาอิสลาม รองลงมาเป็นคริสต์ และยิว

 

ในด้านการเมืองและความสงบสุขภายในประเทศ เป็นสิ่งที่คนในชาติของเขามีความภาคภูมิใจมาก ที่ผ่านมาอุซเบกิสถานสามารถประคองประเทศก้าวผ่านช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญๆ มาหลายยุคได้อย่างราบรื่น ทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศเอกราชหลังยุคโซเวียต การปรับตัวในยุคหลังสงครามเย็น การเปลี่ยนแปลงถ่ายโอนอำนาจผ่านการเลือกตั้งที่โปร่งใสหลังยุคการปกครองของ อิสลาม คาริมอฟ (ที่อยู่ในอำนาจมา 25 ปี) สู่ยุคของ ชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่ปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน ทั้งการให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย การพัฒนาประเทศให้ทันสมัย พัฒนาศักยภาพพลเมืองสู่ตลาดแรงงานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ

 

สำหรับคนอุซเบกิสถานแล้ว คาริมอฟคือคนที่วางรากฐานความมั่นคง ความสงบสุข ความเป็นเอกภาพ และค่านิยมความรักชาติ (ที่ไม่ใช่ชาตินิยม) ให้กับอุซเบกิสถาน ส่วนมีร์ซีโยเยฟคือผู้ที่มาสานต่อและปฏิรูปในเวลาที่เหมาะสม

 

รัฐบาลอุซเบกิสถานมีนโยบายหนึ่งที่น่าสนใจในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการสนับสนุนให้วัยรุ่นมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง ผ่านนโยบายการให้สิทธิพิเศษกับวัยรุ่นหนุ่มสาวในการกู้เงินจากรัฐ ทั้งนี้ ในจำนวนประชากร 33 ล้านคน มากกว่าร้อยละ 60 คือคนหนุ่มสาววัยทำงาน คนอุซเบกิสถานไม่นิยมอยู่เป็นโสด น้อยรายมากที่ตั้งใจจะไม่แต่งงาน ถ้าเป็นผู้ชาย โดยเฉลี่ยจะแต่งงานตอนอายุ 24-25 ปี ส่วนผู้หญิงตั้งแต่ 21-22 ปี คนส่วนใหญ่เรียนจบหรือแต่งงานก็จะเร่งทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว ไม่ค่อยมีเรื่องเที่ยวเตร่ หรือสิ่งบันเทิงที่เป็นอบายมุขมากนัก ที่สำคัญคือเขาเร่งทำงานเพื่อให้มีรายได้ และเพื่อจะได้รับสิทธิพิเศษในการกู้เงินจากรัฐ เพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยในกรณีอายุไม่เกิน 30 ปี (บางคนบอก 35 ปี) บางคนบอกไม่มีดอกเบี้ย บางคนบอกมีแต่น้อยมาก (น่าจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน) จำนวนเงินที่กู้ได้ก็ขึ้นอยู่กับรายได้และความสามารถในการผ่อนชำระ ระยะเวลาผ่อนก็ประมาณ 10-15 ปี รัฐบาลอุซเบกิสถานวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไว้อย่างดีคือ ให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ขยันทำงาน ไม่ให้เกิดปัญหาว่างงาน ป้องกันปัญหาการไร้ที่อยู่อาศัย กระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้างในประเทศ ถ้าไปอุซเบกิสถานแล้วเห็นคนอายุน้อยมีบ้านหรูๆ ก็อย่าได้แปลกใจเลย 

 

เสน่ห์อย่างหนึ่งของสังคมอุซเบกิสถานที่ทำให้คนต่างชาติประทับใจไม่รู้ลืมคือ วัฒนธรรมการให้ความสำคัญกับแขกที่มาเยือน ด้วยการต้อนรับขับสู้อย่างเต็มที่ ถ้าใครได้ไปเยือน ไม่ว่าจะในฐานะของแขกบ้านแขกเมืองหรือแขกของครอบครัว เพื่อนฝูง จะได้รับการดูแลอย่างประทับใจมาก เพื่อนชาวอุซเบกิสถานคนหนึ่งบอกผมว่า คนอุซเบกิสถานมีคติอย่างหนึ่งที่กลายเป็นค่านิยมของสังคมและเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับการดูแลแขกที่มาเยือน โดยเขาเปรียบว่า เวลาที่มีแขกมาเยือนนั้น ‘แขกสำคัญกว่าพ่อ’ เสียอีก ทั้งนี้ อย่าได้เข้าใจในเชิงลบว่า คนอุซเบกิสถานจะเห็นคนอื่นสำคัญกว่าพ่อของตัวเอง แต่เป็นคุณค่าที่คนรุ่นพ่อพยายามจะส่งต่อถึงคนรุ่นลูก ให้ดูแลแขกให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือปฏิบัติกับพ่ออย่างไร ก็ให้ปฏิบัติกับแขกอย่างนั้นคือ ‘ดีที่สุด’ คนอุซเบกิสถานจึงมีอัธยาศัยและมีความเป็นมิตรกับแขกและคนทั่วไปมากๆ 

 

 

ประเทศไทยและคนไทยในสายตาของคนอุซเบกิสถานนั้นดีมากๆ คนอุซเบกิสถานนิยมมาเที่ยวเมืองไทย ประเทศเขาไม่มีทะเล หลายคนที่ผมเจอพอรู้ว่าผมเป็นคนไทยจะบอกว่า เขาชอบเมืองไทยมาก บางคนบอกมาเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง บางคนบอกมาทุกปี หลายคนตั้งใจว่าจะต้องมาให้ได้ ตรงกับที่ผมสังเกตเห็นว่า เที่ยวบินจากอุซเบกิสถานมาประเทศไทยนั้นเต็มทุกรอบ 

 

ทั้งหมดนี้จึงไม่แปลกที่อุซเบกิสถานถูกมองว่า เป็นประเทศที่สดใสที่สุดสำหรับเรดาร์การลงทุนในโลกปัจจุบัน เป็นตลาดใหม่ที่กำลังเติบโตต่อเนื่องในขณะที่นักลงทุนยังเข้าไปไม่มากนัก ประเทศชาติมีเสถียรภาพและความสงบสุข ประเทศไทย โดยเฉพาะนักลงทุนไม่ควรมองข้ามโอกาสนี้เป็นอย่างยิ่ง 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X