×

ที่มาของหนังสือสุดอันตรายที่เด็กควรอ่าน!!

09.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ในปี 1746 สารานุกรมเคยเป็นสิ่งต้องห้ามในฝรั่งเศส เพราะโดนพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 สั่งแบน ห้ามอ่าน ห้ามพิมพ์ และห้ามซื้อขาย แม้แต่พระสันตะปาปา เคลมองต์ที่ 13 ยังบอกว่าเป็นหนังสือที่ห้ามอ่าน ใครอ่านจะต้องถูกขับออกจากศาสนา
  • สารานุกรมสองฉบับแรกที่ถูกแบนมีหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวบ้านทั่วไป ต่างจากหนังสือเกือบทั้งหมดในยุคก่อนหน้าที่มีแต่หัวข้อเกี่ยวกับกษัตริย์ ขุนนาง และนักบุญ ซึ่งเดอนี ดีเดอโร ผู้ให้กำเนิดสารานุกรมฉบับแรกมองว่าเรื่องเหล่านั้นไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อคนทั่วไป
  • คำว่า encyclopedia มีที่มาจากคำว่า cyclo ที่แปลว่า วง กับ pedia ที่แปลว่า การสอนหรือความรู้ เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง ความรู้ที่เชื่อมโยงกันเป็นวง คือรู้จนครบถ้วนหรือครบรอบนั่นเอง
  • วิกิพีเดีย ต่อยอดแนวคิดจากในอดีตโดยชายชาวอเมริกันสองคนคือ จิมมี่ เวลส์ และแลร์รี แซงเกอร์ ที่เคยพยายามให้แต่ละหัวข้อเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ ก่อนส่งบทความให้คนในวงการช่วยตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง แต่โครงการกลับล้มไปและกลายเป็นสารานุกรมที่คนทั่วไปเข้าไปเสนอหรือเขียนบทความอะไรก็ได้ทิ้งไว้

    สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสิ่งที่เรารู้จักกันดีในชื่อ วิกิพีเดีย ครับ

    เชื่อว่าวิกิพีเดียสำหรับหลายๆ ท่านมันก็แค่สารานุกรมออนไลน์ธรรมดาที่คุ้นเคยกันดี แต่สิ่งของธรรมดาทั่วไปหลายอย่าง ถ้าเราพยายามจะตั้งคำถามถึงที่มาของสิ่งเหล่านั้นให้มากพอ เราอาจจะได้รู้ความลับพิเศษบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ความลับที่จะช่วยให้เราเข้าใจโลกปัจจุบันมากขึ้น

    ถ้าเช่นนั้นเรามาเริ่มตั้งคำถามกันดีกว่าว่าสารานุกรมออนไลน์ที่ชื่อวิกิพีเดียนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ก่อนจะกระโดดไปสารานุกรมออนไลน์ เราจะเริ่มกันที่ไอเดียของการทำสารานุกรมกันก่อน

    คำถามคือไอเดียที่จะทำสารานุกรม หรือ encyclopedia นั้นมีที่มาอย่างไร ขอบอกไว้ก่อนนะครับว่าการหาคำตอบนี้ เส้นทางเดินของเราจะซับซ้อนสักนิด คือเราต้องเดินทางกลับไปถึงยุคกรีกโบราณเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน แวะไปเยือนชาวโรมันนิดนึง แล้วข้ามไปฝรั่งเศสในยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-15 เพื่อไปดูว่าทำไมสารานุกรมจึงเคยเป็นของอันตรายที่ห้ามอ่าน ใครอ่านแล้วถึงขั้นบาปจนต้องขับออกจากศาสนา ก่อนจะแวะไปฮาวายเพื่อไปนั่งรถเมล์ที่วิ่งส่งคนภายในสนามบิน เมื่อการเดินทางจบสิ้นลง เราจะเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่าวิกิพีเดียมากขึ้น

 

Photo: Wikipedia Commons

 

     ก่อนอื่นเราจะเดินทางย้อนอดีตไปยังกรุงปารีสในค.ศ. 1746 กัน ซึ่งฝรั่งเศสยุคนี้ไม่เหมือนยุคที่เราจากมา เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสยุคนี้ควบคุมความคิด การพูด และการเขียนรุนแรงมาก ถ้าคุณเผลอไปพูดหรือเขียนอะไรที่ออกไปในทางต่อต้านหรือวิจารณ์รัฐบาล ศาสนา หรือสถาบันกษัตริย์ ก็มีโอกาสจะถูกจับแขวนคอหรือตัดคอประจานได้ง่ายๆ แล้วเขาก็ไม่ได้ทำกันในแดนประหารอย่างมิดชิดด้วย แต่ประหารกันสดๆ ตรงที่เรายืนกันอยู่นี่เลย

    แต่วันนี้ผมไม่ได้ชวนมาดูว่าใครโดนประหาร แต่เราจะมาดูหนังสือโดนเผา

    ทันใดนั้นเอง เบื้องหน้าของเรามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเดินออกมายังลานประหาร ในมือของเขามีหนังสือหนึ่งเล่ม จากนั้นเขาก็ชูหนังสือเล่มนั้นขึ้น ฉีกออกเป็นสองซีก แล้วก็ฉีกต่อจนหนังสือกลายเป็นเศษกระดาษ ก่อนจะโยนเศษกระดาษเหล่านั้นเข้าไปในกองเพลิงที่มีหนังสือหลายเล่มกำลังไหม้ไฟอยู่…

    หนังสือเล่มที่เราเห็นว่าถูกฉีกและเผาไปต่อหน้าต่อตานั้นมีชื่อว่า Philosophical Thoughts สาเหตุที่หนังสือเล่มนั้นโดนเผาเพราะมีเนื้อหาบางส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสนา จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของเราโดยตรงครับ แต่คนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ต่างหากที่เราสนใจ เขาผู้นั้นมีชื่อว่า เดอนี ดีเดอโร (Denis Diderot)

    หลังจากที่หนังสือของเขาถูกเผาไปแล้ว ดีเดอโรก็ยังไม่เข็ด เขายังเขียนหนังสือที่มีเนื้อหาวิจารณ์สิ่งที่รัฐห้ามต่อไป สุดท้ายในค.ศ. 1749 ดีเดอโรก็โดนจับเข้าคุกจนได้ แต่ก็ได้รับการปลดปล่อย เพราะสัญญาว่าจะไม่เขียนโจมตีรัฐบาล ศาสนา หรือสถาบันกษัตริย์อีก แล้วเขาจะทำตามที่สัญญาไว้ไหม แน่นอนครับว่า ‘ไม่’ และไม่เพียงแค่ไม่ทำตามสัญญา แต่โปรเจกต์ใหม่ของเขากลับต่อต้านรัฐหนักขึ้นไปกว่าเดิมเสียอีก

 

Photo: wikipedia commons

 

    เรื่องของเรื่องคือก่อนหน้าที่จะโดนจับประมาณ 4 ปี เขาไปรับงานจากชายคนหนึ่งที่ชื่ออังเดร เลอ บาตอง (Andre le Breton) งานที่ว่าคือเขาและนักคณิตศาสตร์อีกคนที่ชื่อฌ็อง เลอ รง ดาล็องแบร์ (Jean le Rond d’Alembert) จะช่วยกันแปลหนังสือชุดที่ชื่อ Cyclopaedia: or, An Universal Dictionary of Arts and Sciences จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาฝรั่งเศส

    จะว่าไปแล้ว หนังสือชุดสองเล่มนี้ก็จัดเป็นสารานุกรมแบบหนึ่ง แต่เป็นสารานุกรมที่มีหัวข้อค่อนข้างจำกัดมาก หลังจากคุยไปคุยมา ดีเดอโรก็เสนอว่า ไหนๆ จะทำหนังสือความรู้กันทั้งทีแล้ว เราจะแค่แปลหนังสือจากอังกฤษไปทำไมกัน สู้เรามาหาผู้มีความรู้หลายๆ คนแล้วเขียนความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่ในตอนนี้ให้สมบูรณ์ไปเลยดีกว่า บาตองซึ่งเป็นพ่อค้า ไม่ใช่นักคิดหรือนักปรัชญาที่มีอุดมการณ์เหมือนดีเดอโรพิจารณาแล้วเห็นว่า อภิมหาเมกะโปรเจกต์นี้น่าจะทำเงินได้มากกว่า ก็เลยเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย สิ่งที่เรียกว่า encyclopedia ในแบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้จึงเกิดขึ้น

    ก่อนที่จะไปกันต่อ ผมอยากจะชวนไปดูคำว่า encyclopedia สักเล็กน้อย เพราะคำศัพท์หรือชื่อของสิ่งต่างๆ มักจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ถ้าเราไขความลับที่ซ่อนอยู่นั้นได้ เราอาจจะเข้าใจสิ่งนั้นได้มากขึ้น

    ที่มาของคำว่า encyclopedia นั้นมาจากคำสองคำ คือคำว่า cyclo ที่แปลว่า เป็นวง กับ pedia ที่แปลว่า การสอนหรือความรู้ รวมกันแล้วหมายถึง ความรู้ที่เชื่อมโยงกันเป็นวง คือรู้จนครบถ้วนหรือครบรอบนั่นเอง คำนี้มีรากที่มาย้อนกลับไปได้ตั้งแต่อายธรรมกรีกโบราณเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว

    อย่างที่เราคุ้นเคยกันดีว่าอารยธรรมกรีกโบราณจะมีชื่อเสียงในเรื่องของการเรียนการสอน น่าจะพอนึกออกกันใช่ไหมครับ ภาพของคุณลุงหนวดเครายาว (คล้ายๆ ผู้พัน KFC) ใส่เสื้อคลุมสีขาว (คล้ายๆ เสื้อคลุมอาบน้ำ) ที่เรียกว่า toga ยืนอยู่ท่ามกลางลูกศิษย์ลูกหาที่รายล้อม การเรียนการสอนจะเป็นไปในลักษณะของการสนทนาถาม-ตอบ อาจารย์จะชวนตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวแล้วถกกันด้วยเหตุและผล นักปรัชญาสมัยกรีกเชื่อว่าความรู้ต่างๆ นั้นจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ถ้ารู้กว้าง รู้รอบ ก็จะรู้แบบครบวงจร ซึ่งเรียกว่า kyklos ในภาษากรีก หรือ cyclus ในภาษาละติน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า cycle ที่แปลว่า วง เช่นที่พบในคำว่า bicycle หรือ recycle เป็นต้น

    ส่วนคำว่า pedia ที่แปลว่า การสอน หรือความรู้นั้น แต่เดิมมีที่มาจากคำในภาษากรีกโบราณคือ pedos ที่หมายถึง เด็ก ดังนั้นคำว่าหมอเด็กหรือกุมารแพทย์ ภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า pediatrician (ออกเสียงว่า พี-ดิ-ทริ-เชี่ยน) ส่วนป้ายชี้ไปแผนกรักษาโรคเด็กจะเขียนว่า Pediatrics (ออกเสียงว่า พี-ดิ-แอต-ทริกส์) ต่อมาจากความหมายว่าเด็กก็วิวัฒนาการกลายมาเป็นคำว่าอบรมสั่งสอน ก่อนจะแปลว่า การสอนและความรู้ ดังเช่นที่ใช้ในปัจจุบัน  

    คำว่า pedos ถ้าเราย้อนเวลากลับไปนานกว่านั้นอีก คือย้อนกลับไปหารากในภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียน (Proto-Indo-European หรือย่อว่า PIE) ซึ่งมีอายุมากกว่า 5,000 ปี คำนี้น่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า pau- ที่แปลว่า น้อยหรือเล็ก คำนี้ยังเชื่อว่าเป็นที่มาของคำว่า poor, pauper และ poverty ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ยากจน (มีน้อย) และยังเป็นรากของคำในภาษาพระเวทที่ออกเสียงว่า putrah ก่อนจะวิวัฒนาการมาเป็นคำว่า ปุตฺร ในภาษาสันสฤต จนมาเป็นคำว่า บุตร ที่แปลว่า ลูกชาย บุตรี ที่แปลว่า ลูกสาว หรือเราอาจจะพูดได้ว่าคำว่า บุตร คำว่า pedia (ใน encyclopedia) และคำว่า poor, pauper และ poverty แม้จะมีความหมายต่างกัน แต่ก็เป็นญาติกันทั้งหมด

    เมื่ออารยธรมมกรีกเสื่อมลง อารยธรรมโรมันก็เข้ามาแทนที่ แม้ว่าโรมันจะแกร่งด้านทหาร แต่ในแง่วัฒนธรรมหรือความรู้แล้ว โรมันรับของคนอื่นมาใช้เกือบหมด โดยเฉพาะวัฒนธรรมของกรีกและอีทรัสคัน (วัฒนธรรมโบราณหนึ่งในคาบสมุทรอิตาลี) ด้วยความที่ชาวโรมันชื่นชมการศึกษาของกรีก เมื่อชาวโรมันเขียนหนังสือที่รวบรวมความรู้ทั้งหมดของยุคเข้าไว้ด้วยกันก็เรียกหนังสือนั้นว่า encyclopaedia (โรมันคัดลอกมาผิด เลยเขียนสองคำนี้ติดกันเป็นคำเดียว)

    เมื่อพอเข้าใจที่มาของคำแล้วก็กลับมาที่ดีเดอโรกับเมกะโปรเจกต์ของเขากันอีกรอบ จะเห็นว่าจริงๆ แล้วแนวคิดของการทำสารานุกรม หรือ encyclopedia นั้นไม่ใช่ความคิดใหม่เลย และไม่เพียงแค่ในวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น แต่ในวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น วัฒนธรรมจีน ก็มีความคิดที่จะรวมความรู้ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันเป็นหนังสือมานานแล้วเช่นกัน แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไม encyclopedia ที่มีดีเดอโรเป็นบรรณาธิการจึงสำคัญสำหรับคนยุคเรานัก ความลับมันซ่อนอยู่ในรายละเอียดของการเขียนครับ

 

Photo: Pixabay.com

 

    อย่างแรกสุดเลย หนังสือเกือบทั้งหมดในยุคก่อนหน้าจะมีแต่หนังสือที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ขุนนาง และนักบุญ แทบจะไม่มีเรื่องของคนธรรมดาสามัญเลย ดีเดอโรมองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยมีประโยชน์ เขาตั้งใจให้หนังสือสารานุกรมชุดนี้เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ต่อคนธรรมดาทั่วไป และสำคัญที่สุดคือเขาหวังว่าหนังสือชุดนี้จะเปลี่ยนวิธีคิดของคน หัวข้อในหนังสือจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวบ้านทั่วไป เช่น เกี่ยวกับงานช่าง เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ อธิบายให้เข้าใจว่าแต่ละอาชีพมีบทบาทสำคัญในสังคมอย่างไร รวมไปถึงการนำเทคนิคลับต่างๆ ที่ปกติช่างฝีมือจะไม่ยอมบอกคนนอกวงการมาเปิดเผยให้รู้กัน เมื่อหนังสือเต็มไปด้วยเรื่องราวและความสำคัญของคนธรรมดาในสังคมก็เท่ากับลดความสำคัญของกษัตริย์ ขุนนาง และนักบวชในสังคมลงไปโดยอัตโนมัติ

    อย่างที่สองคือ สารานุกรมชุดนี้เรียงหัวข้อตามลำดับของตัวอักษร แม้แต่หัวข้อที่เกี่ยวกับกษัตริย์ ขุนนาง หรือนักบุญคนสำคัญก็ไม่ได้รับการยกเว้น การทำเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการทำให้หัวข้อต่างๆ ถูกมองว่ามีความทัดเทียมกันมากขึ้น ไม่มีหัวข้อไหนได้รับสิทธิพิเศษเหนือหัวข้ออื่น ถือได้ว่าเป็นรากฐานของสิ่งที่ต่อมาเรียกว่า ‘เท่าเทียมกัน’

    อีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิวัติมากๆ ของหนังสือชุดนี้คือ ในยุคก่อนหน้านั้น สิ่งที่ปฏิบัติกันมาเป็นพันๆ ปีคือ ถ้าใครอยากจะอ้างว่าสิ่งที่พูดหรือเขียนน่าเชื่อถือจะต้องบอกว่าสิ่งนั้นเก่าแค่ไหน ยิ่งเก่าหรือยิ่งเข้าใกล้กรีกโบราณจะยิ่งน่าเชื่อถือ เช่น ถ้าอยากจะบอกว่าวิธีการรักษาโรคของเราดีกว่าวิธีการรักษาที่มีมาแล้ว 800 ปี เราก็ต้องบอกว่าวิธีการของเราใช้กันมา 1,000  ปีแล้วนะ คนก็จะตื่นเต้น อู้ว.. อ้า.. และยอมรับว่าเจ๋งกว่า แต่ใน encyclopedia ชุดนี้จะไม่ทำเช่นนั้น แต่จะชี้ให้เห็นว่าความเชื่อทุกอย่างที่เคยเชื่อตามๆ กันมาจะต้องถูกตรวจสอบ ต้องผ่านการถกด้วยเหตุผลแล้ว ไม่มีเรื่องใดได้รับการยกเว้น สิ่งที่ใส่ลงในหนังสือจึงเน้นไปที่ความรู้ใหม่เพื่อให้ความรู้ก้าวไปข้างหน้า เปลี่ยนแปลง และทันสมัย

    ปรากฏว่าสารานุกรมนี้ได้รับการตอบรับจากคนทั่วไปอย่างมาก คนอ่านกันทั่วบ้านทั่วเมือง และไม่เพียงแค่ในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วยุโรป เรียกได้ว่าเป็น International Best Seller ของยุคนั้นเลย แต่หนังสือออกมาได้แค่ 2 เล่มก็โดนพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 สั่งแบน ห้ามอ่าน ห้ามพิมพ์ และห้ามซื้อขาย พระสันตะปาปาเคลมองต์ที่ 13 ก็บอกว่าเป็นหนังสือที่ห้ามอ่าน ถ้าใครอ่านจะถูกขับออกจากศาสนา (ที่เรียกว่า excommunication ถือว่าเป็นบาปหนัก คนกลัวกันมาก เพราะตายแล้วจะไม่ได้ไปอยู่กับพระเจ้า)

    รัฐถึงขั้นส่งคนไปค้นบ้านของดีเดอโรเพื่อหาต้นฉบับอื่นๆ ที่ยังไม่ได้จัดพิมพ์ แต่ค้นเท่าไรก็ไม่เจอ เพราะต้นฉบับถูกนำไปซ่อนที่อื่น และคนที่นำไปซ่อนก็ไม่ใช่ใครที่ไหนครับ แต่เป็นหัวหน้าใหญ่ของหน่วยงานที่สั่งให้มาค้นบ้านดีเดอโรนั่นเอง ส่วนสาเหตุที่เขาทำเช่นนั้น เชื่อว่าอาจจะเป็นเพราะเขาเห็นคุณค่าของหนังสือ และอาจจะมองว่าการทำเมกะโปรเจกต์เช่นนี้มีส่วนทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งดีต่อสังคม ต่อมาต้นฉบับก็ถูกลักลอบออกไปจัดพิมพ์ต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วลักลอบกลับมาขายในรูปแบบของหนังสือเถื่อนในฝรั่งเศสอีกรอบหนึ่ง

    สารานุกรมชุดนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างที่ดีเดอโรตั้งใจไว้ นั่นคือเมื่อคนอ่านเกิดความคิดและสงสัยกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปรอบตัว แล้วก็อดถามต่อไม่ได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่นี้มันดีแล้วหรือ มีทางเลือกอื่นอีกไหม มีคำอธิบายอื่นอีกไหม แล้วสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้อีกไหม ซึ่งคำถามไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน แต่ยังรวมไปถึงการตั้งคำถามกับระบอบการปกครอง ตั้งคำถามกับระบอบศักดินา ตั้งคำถามกับศาสนา สารานุกรมชุดนี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำให้ฝรั่งเศสเข้าสู่ยุค enlightment หรือยุคเรืองปัญญา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกิดตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติในฝรั่งเศส (และในหลายประเทศทั่วยุโรป) เพื่อโค่นล้มระบอบศักดินา การปฏิวัติ และการประกาศแยกตัวจากสหราชอาณาจักรของประเทศอเมริกา การเกิดแนวคิดทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ ระบอบฟาสซิสต์ ลัทธิชาตินิยม รวมไปถึงการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา

    ประมาณ 200 กว่าปีต่อมา ชายชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ วอร์ด คันนิงแฮม (Ward Cunningham) เดินทางไปที่ฮาวายแล้วก็ไปถามเจ้าหน้าที่ที่สนามบินว่า ถ้าจะไปต่อเครื่องบินที่อีกเทอร์มินัลหนึ่งต้องทำอย่างไร เจ้าหน้าที่บอกว่าให้ใช้บริการ wiki wiki คำว่า wiki ในภาษาฮาวาย แปลว่า เร็ว เขียนติดกันแปลว่าเร็วมาก ต่อมาในปี 1994 เมื่อนายคันนิงแฮมคนเดิมนี้คิดระบบเว็บเพจแบบใหม่ที่ผู้ใช้คนไหนก็สามารถแก้ไขข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมา เขาจึงเรียกเว็บเพจที่เขาคิดขึ้นมานี้ว่า wikiwikiweb แต่หลังจากที่เขาคิดขึ้นมาก็ไม่ได้มีคนสนใจนำไปใช้ประโยชน์มากนัก

    ในปี 2000 ชายชาวอเมริกันสองคนชื่อ จิมมี่ เวลส์ (Jimmy Wales) และแลร์รีแซงเกอร์ (Larry Sanger) อยากจะทำสารานุกรมออนไลน์ฟรีขึ้นมาให้คนทั่วไปได้อ่าน พวกเขาเรียกโปรเจกต์นี้ว่า นิวพีเดีย (nupedia) ความตั้งใจเดิมคือแต่ละหัวข้อจะเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ และจะส่งบทความให้คนในวงการช่วยตรวจสอบความถูกต้องอีกรอบหนึ่ง (ที่เรียกว่าระบบ peer review) แต่พอดีตอนนั้นฟองสบู่ดอตคอมแตกพอดี โปรเจกต์ก็เลยไปไม่รอดและล้มไปในปี 2003 ซึ่งในวันที่โปรเจกต์ล้มนั้น รวมเวลา 3 ปี ผลิตบทความไปได้แค่ 24 บทความเท่านั้น

    ตอนที่เริ่มโปรเจกต์ เวลส์และแซงเกอร์สนับสนุนโปรเจกต์หลักอีกโปรเจกต์หนึ่งชื่อว่า wikipedia ความตั้งใจแรกคือจะให้คนทั่วไปเข้าไปเสนอหรือเขียนบทความอะไรก็ได้ทิ้งเอาไว้ใน wikipedia แล้วจะเอาบทความเหล่านั้นมาเป็นต้นฉบับที่จะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเลือก เรียบเรียง หรือเขียนใหม่อีกที เมื่อโปรเจกต์ nupedia ล้มไป ก็เลยเหลือแต่ wikipedia ซึ่งตอนนั้นมีบทความอยู่ 20,000 กว่าชิ้น เวลส์เลยเกิดความคิดที่จะโปรโมตโปรเจกต์นี้ขึ้นมาเป็นสารานุกรมหลัก แต่แซงเกอร์ไม่เห็นด้วยที่บทความในสารานุกรมจะให้ใครก็ได้เข้ามาเขียน จึงลาออกจากทีม จากนั้นมา ประวัติศาสตร์ส่วนที่เหลือก็เป็นอย่างที่คุณและผมรู้ๆ กันดีครับ

    จากที่คุยกันมา ผมเชื่อว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสารานุกรมเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีส่วนสำคัญให้เกิดการปฏิวัติโลกยุคอดีตแล้วกลายมาเป็นโลกปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ คำถามหนึ่งที่ผมอยากจะทิ้งท้ายไว้คือ เมื่อสารานุกรมซึ่งเดิมเคยเป็นบรรทัดฐานของ ‘ความรู้ที่ถูกต้อง’ ถูกเปลี่ยนมาเขียนด้วยใครก็ได้ ก็เท่ากับว่า ‘ความรู้ที่ถูกต้อง’ ซึ่งเคยอยู่ในกำมือของคนเพียงไม่กี่คนได้รับการปลดปล่อยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนครับว่าทุกอย่างคงมีข้อดีและข้อเสีย แต่ผลรวมของข้อดี-ข้อเสียนี้จะพาเราไปสู่อะไรบ้างในอนาคต ผมเองก็อยากรู้เหมือนกันครับ …

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X