จับตาการแข่งขันของธุรกิจแฟชั่น หลังจาก Tapestry บริษัทแม่ของแบรนด์แฟชั่นอย่าง Coach และ Kate Spade เข้าซื้อกิจการคู่แข่ง Capri Holdings ผู้ผลิตแบรนด์ Versace, Jimmy Choo และ Michael Kors มูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2.9 แสนล้านบาท ควบรวมธุรกิจพร้อมสู้กับเจ้าตลาด LVMH เจ้าของ Louis Vuitton
เรียกได้ว่าเป็นการเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่รวม 6 แบรนด์ดัง ได้แก่ Coach, Kate Spade และ Stuart Weitzman ของ Tapestry และ Versace, Jimmy Choo และ Michael Kors จาก Capri ซึ่งวางจำหน่ายทั่วโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ที่สำคัญจะทำให้กลุ่มบริษัท Tapestry มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมที่มียอดขายมากกว่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี และจากนี้ Tapestry จะมีอำนาจแข่งขันในตลาดแบรนด์หรูมากขึ้น
John Idol ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Capri กว่าวว่า ข้อตกลงของทั้ง 2 บริษัทจะนำความเชี่ยวชาญและจุดแข็งมาร่วมมือกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทมีทรัพยากรและประสิทธิภาพมากขึ้น และจะมีความพร้อมในการขยายช่องทางขายเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก และมั่นใจว่าจะสามารถสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นได้เป็นอย่างดี
ด้าน Joanne Crevoiserat ซีอีโอของ Tapestry กล่าวต่อไปว่า การเข้าซื้อกิจการไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การทำตลาดในยุโรปเพียงอย่างเดียว แต่การรวมตัวกันของทั้ง 2 บริษัทจะมีสเกลที่ใหญ่ขึ้น และสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลก ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาแบรนด์สินค้าควบคู่กับทำการตลาดหลายรูปแบบ
แม้จะควบรวมแบรนด์ดังเข้ามาอยู่ในอาณาจักรเดียวกันได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสู้กับเจ้าตลาดอย่าง LVMH เจ้าของ 75 แบรนด์หรู อย่าง Louis Vuitton และ Moët Hennessy ที่มีความแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จอย่างมาก เห็นได้จากผลประกอบการที่สร้างรายได้อยู่ประมาณ 9 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เส้นทางการเติบโตดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้น หลังจาก LVMH เข้าซื้อกิจการ Tiffany & Co. ในปี 2021 ด้วยมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ จากนั้นได้เดินหน้าลงทุนทำการตลาดอย่างหนัก โดยได้คว้า Beyoncé และ Jay-Z เข้ามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ช่วยสื่อสารแบรนด์
และอีกหนึ่งข้อได้เปรียบ คือการที่บริษัทนำแบรนด์ Louis Vuitton มาจัดแสดงเสื้อผ้าผู้ชายบนสะพาน Pont Neuf ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับการเปิดตัว Pharrell Williams ครีเอทีฟแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายคนใหม่ และ Jay-Z นักร้องชื่อดัง เรียกว่าสร้างเสียงฮือฮาอย่างมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่มียอดรับชมมากกว่า 1 พันล้านครั้ง
เช่นเดียวกับ Kering บริษัทลักชัวรีที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดัง ทั้ง Saint Laurent, Gucci, Balenciaga, Bottega Veneta กำลังพยายามซื้อหุ้นใน Valentino หวังเพิ่มพอร์ตโฟลิโอ และล่าสุด Kering ได้แต่งตั้งดีไซเนอร์ Gucci คนใหม่
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ทำให้ Tapestry และ Capri ต้องทำตลาดอย่างหนัก เพราะไม่ได้ต่อสู้กับคู่แข่งในตลาดแฟชั่นด้วยกันเอง แต่ต้องสู้กับกำลังซื้อของผู้บริโภคด้วย ปัจจุบันความต้องการสินค้าหรู หรือสินค้าฟุ่มเฟือยกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดอเมริกา
แต่ Joanne Crevoiserat ประเมินว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าตลาดสินค้าหรูจะกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง แต่ขณะนี้ก็ต้องกระจายความเสี่ยง และประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ
อ้างอิง: