×

Tame Impala วงดนตรีจากออสเตรเลียที่ผลักดันให้แนวเพลง ‘ไซคีเดลิกร็อก’ ได้มีบทบาทสำคัญในวงการดนตรี

17.04.2019
  • LOADING...
Tame Impala

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เดิมทีจุดเริ่มต้นของวง Tame Impala เกิดขึ้นจากโปรเจกต์เล็กๆ ตอนที่ เควิน ปาร์กเกอร์ ฟรอนต์แมนของวงเริ่มทำเพลงด้วยตัวเองเมื่อปี 2007 โดยใช้บ้านของตัวเองเป็นสตูดิโอบันทึกเสียง หลังจากนั้นเขานำเพลงทั้งหมดไปโพสต์ลงในสื่อโซเชียลมีเดียยุคบุกเบิกอย่าง Myspace
  • กันยายน ปี 2008 หลังจากเซ็นสัญญากับค่ายเพลงได้ไม่นาน เควินและผองเพื่อนก็เปิดตัวในฐานะวง Tame Impala อย่างเป็นทางการ โดยออกอีพีอัลบั้มชื่อเดียวกับชื่อวง และทะยานขึ้นอันดับ 1 ของชาร์ต Australian Independent Record Labels ได้ แถมยังมีโอกาสได้ออกทัวร์ร่วมกับวงดนตรีอย่าง The Black Keys, You Am I และ MGMT อีกด้วย
  • Currents (2015) สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 3 ของวง กลายเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ Tame Impala ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของรายได้หรือคำวิจารณ์ โดย Same Old Mistakes เพลงหนึ่งในอัลบั้ม ได้ถูกสาวริฮานนานำไปคัฟเวอร์ใหม่ลงอัลบั้มของเธอ Anti (2016) อีกด้วย

 

Tame Impala

ที่งานเทศกาลดนตรี Coachella ปี 2019

Photo: Valerie Macon / AFP

 

ถ้าพูดถึงวงดนตรีสัญชาติออสเตรเลียที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คนฟังเพลงที่มีอายุอานามมากหน่อยคงจะต้องนึกถึง AC/DC, Nick Cave & The Bad Seeds, Wolfmother, The Temper Trap, INXS ฯลฯ แต่มาในยุคนี้ชื่อของ Tame Impala ได้กลายเป็นอีกหนึ่งขวัญใจของคนรุ่นใหม่ที่สามารถมอมเมาสติสัมปชัญญะของเหล่านักฟังเพลงทั่วโลกด้วยดนตรีแนวไซคีเดลิก พวกเขาได้รับการยอมรับอย่างมากในฐานะวงดนตรีมากฝีมือและมีผลงานโดดเด่นมาตลอด

 

Tame Impala คือวงดนตรีแนวไซคีเดลิกร็อกจากเมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย มีสมาชิกด้วยกันทั้งหมด 5 คน ประกอบไปด้วย โดมินิก ซิมเปอร์ (กีตาร์, ซินธิไซเซอร์), เจย์ วัตสัน (กีตาร์, ซินธิไซเซอร์), แคเมอรอน อเวรี (เบส), จูเลียน บาร์บากัลโล (กลอง) และฟรอนต์แมน เควิน ปาร์กเกอร์ (กีตาร์, ร้องนำ) อัจฉริยะทางด้านดนตรีผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างและเปรียบเสมือน ‘หัวใจ’ ของวงดนตรีวงนี้ เพราะเขานี่ล่ะคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและกระบวนการทำเพลงทุกอย่างของวง ไล่ตั้งแต่เขียนเพลง โปรดิวซ์ บันทึกเสียง ร้อง และเล่นดนตรีในบางครั้งบางคราว การเหมาทุกตำแหน่งของเควินจึงอาจทำให้ภาพของ Tame Impala กลายเป็น The One Man Band หรือ Kevin Parker Band

 

ซึ่งนั่นถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากใครหลายคนจะคิดแบบนั้น เพราะเดิมทีจุดเริ่มต้นของวง Tame Impala เกิดขึ้นจากโปรเจกต์เล็กๆ ตอนที่เควินเริ่มทำเพลงด้วยตัวเองเมื่อปี 2007 โดยใช้บ้านของเขาเป็นสตูดิโอบันทึกเสียง หลังจากนั้นเขานำเพลงทั้งหมดไปโพสต์ลงในสื่อโซเชียลมีเดียยุคบุกเบิกอย่าง Myspace จนทำให้ชื่อของ เควิน ปาร์กเกอร์ เริ่มเป็นที่สนใจจากค่ายเพลงต่างๆ สุดท้ายเขาเลือกเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัด Modular Recordings ค่ายเพลงอิสระของประเทศออสเตรเลียที่เปิดโอกาสให้เขานำเพลงเหล่านั้นไปทำการแสดงสด โดยมีนักดนตรีแบ็กอัพที่ภายหลังกลายมาเป็นสมาชิกวง Tame Impala ในปัจจุบัน

 

“ผมรู้สึกเขินๆ น่ะ ผมแค่คิดว่าหากผู้คนเห็นภาพพวกเราแบบเป็นวงมันน่าจะสนุกกว่า และผมไม่คิดว่าตัวเองจะมีอะไรที่ทำให้ดูเป็นศิลปินเดี่ยวได้เลยนะ” เควินกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของวง Tame Impala

 

 

 

กันยายน ปี 2008 หลังจากเซ็นสัญญากับค่ายเพลงได้ไม่นาน เควินและผองเพื่อนก็เปิดตัวในฐานะวง Tame Impala อย่างเป็นทางการ โดยออกอีพีอัลบั้มชื่อเดียวกับชื่อวง และทะยานขึ้นอันดับ 1 ของชาร์ต Australian Independent Record Labels ได้ แถมยังมีโอกาสได้ออกทัวร์ร่วมกับวงดนตรีอย่าง The Black Keys, You Am I และ MGMT อีกด้วย ย่างก้าวในครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญก่อนที่ในอนาคต Tame Impala จะกลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีไซคีเดลิกร็อกที่ดีและมีชื่อเสียงมากที่สุดวงหนึ่งของโลก

 

ช่วงปี 2010 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นไล่ล่าความสำเร็จของวงอย่างแท้จริง พวกเขาออกเดบิวต์อัลบั้มซึ่งเป็นอัลบั้มเต็มชุดแรกในชีวิตชื่อ Innerspeaker อัลบั้มที่บรรจุเพลงอย่าง Desire Be Desire Go, Alter Ego, Why Won’t You Make Up Your Mind?, Solitude Is Bliss เอาไว้ ทั้งยังเป็นอัลบั้มที่ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์มากมาย ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ การันตีด้วยยอดขายระดับแผ่นเสียงทองคำและติดชาร์ตเพลงอันดับต้นๆ ในออสเตรเลียบ้านเกิด

 

Tame Impala

ที่งานเทศกาลดนตรี Vive Latino ในประเทศเม็กซิโก ปี 2013

Photo: Alfredo Estrella / AFP

 

 

ก่อนที่อีก 2 ปีถัดมาพวกเขาจะโด่งดังเป็นพลุแตกทั้งในและนอกประเทศ เมื่อ Lonerism (2012) สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 2 ของวงถูกปล่อยออกมา แล้วมันก็ประสบความสำเร็จมากกว่าอัลบั้มชุดแรก เรียกได้ว่าเป็นงาน ‘แจ้งเกิด’ เต็มตัวและทำให้โลกได้รู้จักกับ Tame Impala อย่างเป็นทางการ และแน่นอนว่าตัวอัลบั้มก็กวาดรางวัลและคำชื่นชมไปได้อย่างล้นหลามเหมือนเช่นตอนออกอัลบั้มเดบิวต์ เพียงแต่ว่าครั้งนี้มันมากกว่าเดิมหลายเท่า

 

ในปีนั้น Tame Impala คว้ารางวัลอัลบั้มแห่งปีของออสเตรเลีย ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่ ซึ่งเป็นรางวัลทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอเมริกาในสาขา Best Alternative Music Album รวมถึงการได้รับเลือกจากนิตยสารดนตรีหัวใหญ่ฝั่งอังกฤษอย่าง Rolling Stone และ NME ให้เป็นอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี 2012

 

Lonerism อัลบั้มที่ทำให้โลกได้รู้จักกับเพลงอย่าง Elephant, Mind Mischief, Apocalypse Dreams และ Feels Like We Only Go Backwards เพลงชาติปัจจุบันของชาวไซคีเดลิก ซึ่งถือว่าเป็นเพลงดังที่สุดของวง Tame Impala

 

Tame Impala

ที่เทศกาลดนตรี Primavera Sound ในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ปี 2016

Photo: Christian Bertrand / Shutterstock

 

 

‘ไซคีเดลิกร็อก’ คือแนวเพลงที่ทางวงยึดมั่นใช้เป็นหลักเดินบนเส้นทางสายดนตรีเสมอมาจนมันกลายเป็นตัวตนและคำนิยามของวง สำหรับแฟนเพลงทั่วโลก เพลงของ Tame Impala เป็นเพลงที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อพาให้เหล่าคนฟังได้เดินทางไปพบกับประสบการณ์อันเหนือจินตนาการที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ในยามปกติ

 

ดนตรีของพวกเขาเน้นความสวยงามของเมโลดี้และให้ความเคลิบเคลิ้มล่องลอยแก่คนฟัง เป็นเพลงในรูปแบบที่ทำให้เราหลุดเข้าไปสู่ห้วงเวลาแห่งความผิดเพี้ยนแต่งดงาม และเป็นเพลงที่ถึงแม้จะฟังเนื้อร้องไม่รู้เรื่องเลยก็ตาม แต่ก็ยังสามารถสนุกและเพลิดเพลินกับความสร้างสรรค์ของซาวด์ที่เกิดขึ้นจากการบรรเลงเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ เบส กลอง โดยเฉพาะซินธิไซเซอร์หรือเครื่องสร้างเสียงสังเคราะห์ชนิดต่างๆ ที่ทำให้เพลงของ Tame Impala มีเอกลักษณ์โดดเด่นและแตกต่างจากวงดนตรีวงอื่น

 

เควิน ปาร์กเกอร์ ฟรอนต์แมนของวงบอกว่าจริงๆ แล้วตัวเขาสนใจในแนวทางการทำเพลงหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นป๊อป ร็อก อิเล็กทรอนิกส์ หรือชูเกซ โดยมีวงดนตรีอย่าง The Flaming Lips, My Bloody Valentine หรือแม้แต่ศิลปินเพลงป๊อปตัวแม่ชาวอเมริกันอย่าง บริตนีย์ สเปียร์ส เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

 

“แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงของผมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับผมมากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นกับผมมากกว่าหนึ่งครั้ง แสดงว่ามันก็อาจจะเกิดขึ้นกับคนอื่นด้วยเหมือนกัน” เควินกล่าวถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง

 

 

 

หากพูดกันแบบตรงไปตรงมา ทุกวันนี้เพลงแบบที่ Tame Impala ทำยังเข้าถึงคนได้ไม่มากเท่าไร มันยังมีความเฉพาะกลุ่มอยู่เยอะพอสมควร อาจจะด้วยความที่มันฟังยากกว่าดนตรีกระแสหลักหรือเพลงป๊อปทั่วไป อารมณ์ประมาณว่าถ้าใครชอบก็จะชอบเลย และถ้าใครเกลียดก็คงเกลียดแบบเข้าไส้ไปเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธความจริงที่ว่า Tame Impala คือหนึ่งในวงดนตรีไซคีเดลิกร็อกแถวหน้าของวงการเพลงปัจจุบันไม่ได้อยู่ดี

 

Currents (2015) สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 3 ของวง อัลบั้มที่มีเพลงฮิต The Less I Know The Better, Let It Happen, Cause I’m A Man, Eventually, Yes, I’m Changing กลายเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ Tame Impala ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของรายได้หรือคำวิจารณ์ หลายฝ่ายยกให้เป็นอัลบั้มที่ฟังง่าย ป๊อป และเข้าถึงคนได้มากที่สุด แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และตัวตนของวงได้เป็นอย่างดี ส่วนอีกสิ่งที่น่าสนใจคือ New Person, Same Old Mistakes เพลงหนึ่งในอัลบั้ม Currents ได้ถูกสาวริฮานนานำไปคัฟเวอร์ใหม่ลงอัลบั้มของเธอ Anti (2016) ในชื่อ Same Ol’ Mistakes อีกด้วย

 

ตลอดเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา Tame Impala ออกอัลบั้มเต็มมาทั้งหมด 3 ชุด ได้แก่ Innerspeaker, Lonerism และ Currents ก่อนที่พวกเขาจะหายหน้าหายตาไปจากวงการเพลงถึง 4 ปี โดยในช่วงเวลา 4 ปีนั้นทางวงก็ได้ใช้ไปกับการออกทัวร์คอนเสิร์ตตามเฟสติวัลต่างๆ นอกจากนี้หัวเรือใหญ่ของวงอย่างเควินยังมีโปรเจกต์ยิบย่อยที่เขาได้ร่วมทำงานกับศิลปินมากหน้าหลายตา เช่น มิเกล, เลดี้ กาก้า และมาร์ก รอนสัน ซึ่งนั่นอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Tame Impala ไม่มีเวลาเข้าสตูดิโอทำเพลงใหม่กันเสียที

 

Tame Impala

ที่เทศกาล Mad Cool Festival ในมาดริด ประเทศสเปน ปี 2018

Photo: Mariano Regidor / Shutterstock

 

 

ในปีนี้นอกจากที่ทางวงกำลังจะได้ขึ้นโชว์ ณ เทศกาลดนตรีและศิลปะสุดยิ่งใหญ่ซึ่งประกาศไลน์อัพออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปีอย่าง Coachella แล้ว มีนาคม 2019 เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากปล่อยให้เหล่าสาวกต้องรอคอยกันมาอย่างยาวนาน Tame Impala กลับมาพร้อมกับซิงเกิลล่าสุดอย่าง Patience เพลงที่พวกเขาทำให้เราได้เห็นกันอีกครั้งว่าพลังของดนตรีไซคีเดลิกนั้นสวยงามมากขนาดไหน และที่สำคัญคือเพลงนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในอัลบั้มชุดใหม่ของพวกเขาด้วย

 

สุดท้ายนี้เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ทางวงตั้งชื่อเพลงนี้ว่า Patience นั้นเป็นเพราะพวกเขาตั้งใจจะสื่อสารกับแฟนเพลงว่าขอบคุณที่ ‘อดทน’ รอมาตลอด 4 ปี หรือเป็นการตั้งให้เข้ากับเนื้อหาของเพลง หรือก็แค่ตั้งไปแบบนั้นเฉยๆ

 

แต่จะอย่างไรก็ช่าง เราเชื่อว่าสำหรับแฟนเพลงของ Tame Impala นี่ถือเป็นการอดทนรอคอยที่ค่อนข้าง ‘คุ้มค่า’ เพราะฝีมือการทำเพลงของเควินและผองเพื่อนยังคงยอดเยี่ยมเหลือร้ายเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยน

 

ภาพเปิด: Christian Bertrand / Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X