กลายเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของค่ายบันเทิงย่านอโศกอย่าง ‘จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่’ เมื่อธุรกิจทีวีได้มีการจัดทัพครั้งใหญ่ โดย ‘เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์’ ซึ่งมีธุรกิจในมืออย่าง ช่อง ONE 31, เอ็กแซ็กท์ ซีเนริโอ, แอ็กซ์ สตูดิโอ, มีมิติ ซึ่งได้ซุ่มเจรจาปิดดีลซื้อกิจการ ‘จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง’ อันประกอบไปด้วยบริษัทในเครืออย่าง เช้นจ์2561, จีเอ็มเอ็ม ทีวี, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย และจีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล
“เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ต่างก็เป็นพี่เป็นน้องกันอยู่แล้ว สาเหตุที่ทำให้เราอยากให้ดีลนี้เกิด เพราะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ ก่อให้เกิดการ Synergy ซึ่งการรวมกันจะสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ โดยสิ่งที่เราต้องการคือ 1+1 ต้องเท่ากับ 3” บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์กล่าว
ดีลดังกล่าวถูกพูดคุยกันมาเป็นระยะเวลาหลายเดือนก่อนที่จะได้ข้อสรุป โดยการเข้าซื้อครั้งนี้ใช้เงินทั้งสิ้น 2.2 พันล้านบาท ในฝั่งของเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ โครงสร้างการถือหุ้นยังเหมือนเดิมคือ ‘บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด’ ของกลุ่มปราสาททองโอสถ ถือหุ้น 50% ซึ่งเป็นการเข้าซื้อตั้งแต่ปลายปี 2559, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้น 31.27% และกลุ่มของบอย ถกลเกียรติ 18.73%
ในขณะที่ฝั่งของจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง เป็นการเข้าซื้อบริษัทแม่พร้อมบริษัทในเครืออีก 4 แห่ง พร้อมกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมคือ ‘บริษัท อเดลฟอส จำกัด’ ซึ่งถือหุ้นรายใหญ่โดย 2 ทายาทของ ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ นั่นคือ ฐาปน และปณต สิริวัฒนภักดี ได้ใช้เงิน 1 พันล้านบาทในการเข้ามาถือหุ้น 50% ในช่วงปลายปี 2560 ได้เทขายหุ้นที่มีอยู่ออกไปทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ดีลนี้ไม่ได้เข้าซื้อทั้งหมดตามโครงสร้างเดิมของจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง เพราะจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้ให้ บริษัท จี เอ็ม เอ็ม โฮลดิ้ง จํากัด ซึ่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ถือหุ้นอยู่ 100% เข้าซื้อบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จํากัด ซึ่งถือสัปทานของช่อง GMM 25, บริษัท คอนเทนต์ แอนด์ อาร์ตติสท์ เน็ตเวิร์ค จํากัด และ บริษัท เอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์ จํากัด แทน
นั่นจึงทำให้ ‘ช่อง GMM 25’ ยังมีอยู่ และไม่ถือเป็นบริษัทในเครือเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์แต่อย่างใด โดยช่อง GMM 25 ยังดำเนินการออกอากาศต่อไปตามปกติ และมี จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นเจ้าของ โดยกลุ่ม เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จะรับหน้าที่เป็นตัวแทนทำการตลาดและร่วมผลิตรายการ โดยใช้ประสบการณ์ของกลุ่มที่มีการตลาดที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจทีวีดิจิทัล เข้าไปเป็นตัวแทนทำการตลาดให้กับช่อง GMM 25 ให้มีความชัดเจนและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การปรับทัพครั้งนี้จะทำให้ธุรกิจทีวีที่อยู่ภายใต้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยช่อง ONE 31 จะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่กว้างกว่า (Mass Market) ส่วนช่อง GMM 25 มุ่งเน้นไปที่ตลาดกลุ่มเทรนดี้ที่มีความทันสมัยหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้บางคอนเทนต์ยังไม่ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายขนาดนั้น
“การที่เราเข้าไปจัดงานในแง่ของการทำตลาด จะทำให้เราสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายไม่ให้ฆ่า ขัด หรือแข่งกันเอง” แม่ทัพเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า บริษัทที่ซื้อเข้ามาต่างเป็นบริษัทที่ผลิตคอนเทนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ในแง่ของคอนเทนต์มีความแข็งแรงมากขึ้น
“คอนเทนต์วันนี้มีช่องทางออกอากาศมากมายทั้งทีวีหรือแพลตฟอร์มอื่นๆ สิ่งที่สำคัญมากๆ คือตัวคอนเทนต์ ที่หากเราทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เราต้องรู้ว่าคอนเทนต์จะออกที่ช่องทางไหนที่จะให้ประสิทธิผลมากที่สุด และทำให้คนเข้าถึงคอนเทนต์ได้มากที่สุด”
สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากดีลนี้จะทำให้ผังรายการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ปรับไปด้วย โดยสำหรับในส่วนของเช้นจ์2561 ซึ่งมี สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา เป็นหัวเรือใหญ่ซีรีส์ทั้งหมดจะถูกโยกไปอยู่ช่อง ONE 31 ขณะเดียวกันเช้นจ์2561 จะยังผลิตรายการให้อมรินทร์ทีวีช่อง 34 ซึ่งมีละครที่รอออนแอร์อีก 4 เรื่อง และยังมีรายการอื่นๆ อีก
จีเอ็มเอ็ม ทีวี จากเดิมที่ผลิตคอนเทนต์ออนแอร์ในช่อง GMM25 ช่วงวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เมื่อขยับมาช่อง ONE31 ทำให้ได้รับหน้าที่ผลิตคอนเทนต์ช่วงไพรม์ไทม์ วันจันทร์-อาทิตย์ โดยหัวเรือใหญ่อย่าง สถาพร พานิชรักษาพงศ์ ระบุว่า ปีหน้า จีเอ็มเอ็ม ทีวี จะผลิตซีรีส์วายให้มากขึ้น 1 เท่าตัว
นอกเหนือจากวิทยุแล้ว จีเอ็มเอ็ม มีเดียจะหันมาผลิตซีรีส์เพิ่มขึ้น เช่น พุธทอล์คพุธโทร เดอะ สตอรีส์ และอังคาร คลุมโปง นอกจากนี้ รายการแฉ ซึ่งถกลเกียรติระบุว่า “เป็นแม่เหล็กของช่อง GMM25 อย่างไรก็ไม่หลุดผังแน่นอน แต่จะแข็งแรงมากขึ้น” เพราะถูกโยกมาอยู่ภายใต้จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ที่นอกจากจะออนแอร์ในช่วงดึกแล้ว ยังเตรียมทำรายงานแฉในช่วงเช้าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาคือ การปรับทัพครั้งนี้อาจเป็นการเตรียมตัวก่อนจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เรื่องนี้ถกลเกียรติได้ทิ้งทายไว้ว่า “การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เรายังดูๆ อยู่ ถามว่ามีโอกาสไหมก็ถือว่ามีโอกาส แต่เรายังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นช่วงไหน”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล