ทันทีที่ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ให้สัมภาษณ์ว่า เขามีแผนจะสร้างภาคต่อของ Taklee Genesis ภาพยนตร์ยาวเรื่องล่าสุดที่ยังไม่ได้ออกฉาย ทันใดนั้นคณะทัวร์ก็ออกมารุมสับภาพยนตร์กันอย่างมากมาย ซึ่งก็ดูจะไม่ค่อยแฟร์กับคนทำภาพยนตร์สักเท่าไร เพราะยังไม่มีใครได้ดูภาพยนตร์เต็มเลยด้วยซ้ำ
ในกรณีของ Taklee Genesis การถูกปรามาสทั้งหมดก็อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์โดยตรงเสียทีเดียว หากแต่โดนหางเลขในฐานะภาพยนตร์ที่เปิดตัวด้วยคำว่า ‘ไซไฟ’ ซึ่งหลายคนก็รู้ดีว่านี่เป็นหนึ่งในคำแสลงของวงการภาพยนตร์ไทยเหมือนกับคำว่า ‘ภาพยนตร์ชายรักชาย’ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การโปรโมตแบบนี้เลยย่อมเข้าใจได้ว่า ทำไมภาพยนตร์ถึงกลายเป็นประเด็นร้อนให้พูดถึงตั้งแต่ก่อนฉาย
แง่หนึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เลยเป็นเหมือนตัวชี้วัดที่สำคัญสำหรับคนทำและนายทุน ว่าพวกเขาควรจะลงแรง ลงเงิน เพื่อปั้นภาพยนตร์ไซไฟต่อไปในอนาคตหรือไม่ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ เราจะได้เห็นภาพยนตร์ในทำนองนี้เพิ่มขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และการตัดสินจากแค่ตัวอย่างก็ดูจะด่วนสรุปเกินไป เพราะภาพยนตร์เกือบทุกเรื่องของมะเดี่ยวมีความยอกย้อนอยู่เสมอ และที่สำคัญมันมักจะชอบล่อลวงคนดูด้วยความเรียบง่าย ก่อนที่จะพาผู้ชมเข้าไปยังอีกโสตหนึ่งของเนื้อหาที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
Taklee Genesis ว่าด้วยเรื่องของ สเตลล่า (พอลล่า เทเลอร์) แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ชีวิตกำลังตกที่นั่งลำบากเนื่องจากความระหองระแหงของครอบครัว ทำให้เธอต้องดูแลลูกสาวอย่าง วาเลน (นีน่า-ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน) ตามลำพัง ก่อนที่จะได้รับโทรศัพท์จาก อิษฐ์ (ปีเตอร์-คอร์ป ไดเรนดัล) เพื่อนสมัยเด็กของเธอ เรื่องอาการป่วยไข้ของ ดวงพร (เจนจิรา พงพัศ) ผู้เป็นแม่ ที่ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านดอนหาย ซึ่งเป็นสถานที่ที่หญิงสาวในวัยเด็กได้พบเจอกับเรื่องลึกลับภายในป่าพร้อมกับการหายตัวไปของพ่อ
การมายังบ้านเกิดครั้งนี้ของเธอเลยไม่ได้เป็นแค่การกลับมาเยี่ยมแม่ หากแต่เป็นการกลับมาเพื่อค้นหาความจริงในอดีตที่ จำนูญ (ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล) ผู้เป็นหัวหน้าชุมชน ได้บอกกล่าวว่า พ่อของเธอแค่หนีไป และสิ่งที่เห็นก็เป็นเพียงความฝันที่เธอจินตนาการขึ้นมา แต่ในเวลาเดียวกันการได้พบกับ ก้อง (วอร์-วนรัตน์ รัศมีรัตน์) ลูกชายของจำนูญ ก็ยิ่งทำให้เธอรู้สึกประหลาดใจ เพราะก้องดูไม่แก่ลงเลยจากภาพจำของสเตลล่าในวัยเด็ก ส่วนในเวลานี้กลับเป็นเธอที่ดูเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับก้อง
ไม่เพียงแค่นั้น การได้ยินเสียงพ่อผ่านวิทยุสื่อสารยุคสงครามเวียดนามที่เคยมอบเอาไว้ให้กับเธอเมื่อ 30 ปีก่อน ก็ยิ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่เห็นในตอนนั้นเป็นความจริง สเตลล่ากับอิษฐ์เลยมาโน้มน้าวให้ก้องเข้าไปขโมยกำไลข้อมือของพ่อ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำทางพวกเขาเพื่อเข้าไปเก็บแหวนวิเศษและเปิดเครื่องตาคลีเจเนซิส เพื่อพาพ่อของเธอที่หายตัวไปกลับมายังช่วงเวลาปัจจุบันอีกครั้ง
เป้าหมายของสเตลล่าเลยเป็นแก่นหลักที่คอยขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมดภายในเรื่อง ซึ่งก็เหมือนกับภาพยนตร์ผจญภัยข้ามเวลาเรื่องอื่นๆ ที่ตัวเอกจะต้องพบเจอกับอุปสรรคบางอย่างที่ขวางกั้นระหว่างพวกเขากับความสำเร็จ และสถานการณ์นี้ก็ได้บีบบังคับให้ทั้ง 3 คนต้องก้าวเท้าเข้าไปยังช่วงเวลาต่างๆ เพื่อนำวงแหวนกลับมา
ซึ่งในระหว่างทางที่ภาพยนตร์มุ่งหน้าไปในทิศทางของไซไฟอย่างเต็มตัว เนื้อแท้ของมันก็ค่อยๆ เผยโฉมออกมานั่นคือ บรรดานัยทางการเมืองที่ซุกซ่อนเอาไว้ผ่านการเดินทางของตัวละคร ที่ในมุมหนึ่งมันทั้งโจ่งแจ้งและปราศจากความกลัว ซึ่งเป็นประเด็นที่มะเดี่ยวให้ความสนใจมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะนอกจากหน้าโปสเตอร์และแคมเปญโปรโมตภาพยนตร์ การที่ชื่อของเขาปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อบ่อยครั้งก็มาจากความเห็นทางการเมืองด้วยเช่นกัน
หน้าภาพยนตร์อีกแบบหนึ่งที่ซ้อนทับอยู่ในความเป็นไซไฟเลยเป็นสิ่งที่ประดังเข้ามาพร้อมๆ กับเส้นเรื่องของการเดินทางข้ามเวลา ทั้งการทดลองในช่วงสงครามเวียดนาม ภูมิหลังของสัตว์ประหลาดในป่า การต่อสู้ โลกที่พังทลาย แนวคิดที่แตกต่างกัน การหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง ความหวังในการมีชีวิตที่ดีขึ้น และเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งเป็นบาดแผลครั้งสำคัญของการเมืองไทย ที่ในทางหนึ่งยังคงคาบเกี่ยวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ภาพการสังหารหมู่นักศึกษาที่โลดแล่นอยู่บนจอเลย เป็นการนำประวัติศาสตร์กลับมาฉายวนซ้ำอีกครั้ง แง่หนึ่งก็เพื่อย้ำเตือนให้เห็นถึงความอำมหิตของมัน ส่วนอีกแง่ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการไปตามยุคสมัย และในทำนองเดียวกัน เสียงหัวเราะของคนที่ยินดีปรีดากับเรื่องที่เกิดขึ้นก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความไร้หัวใจ เมื่อความตายของผู้อื่นยังคงมีคนบางกลุ่มมองเป็นเรื่องตลกได้อย่างไม่ไยดี แต่ครั้นจะบอกว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงแค่อดีตที่เราควรเรียนรู้และจดจำ ภาพก็ตัดกลับไปที่การเมืองไทยในปัจจุบัน ที่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าอะไรน่าเศร้ามากกว่ากันระหว่างภาพยนตร์กับชีวิตจริง
แต่ก็นั่นแหละ ด้วยความที่รายละเอียดส่วนใหญ่มีความเป็นการเมืองซุกซ่อนอยู่ ข้อแลกเปลี่ยนของมันก็คือ การที่ภาพยนตร์ตกสำรวจความสัมพันธ์ของตัวละคร ซึ่งส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของไดเรกชันบางอย่างดูลดน้อยถอยลง เพราะคนดูอาจไม่ได้รู้สึกคล้อยตามในสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าเสียทีเดียว โดยเฉพาะการแต่งองค์ทรงเครื่องของพวกเขาในโลกอนาคตที่ดูโดดเด่นกว่าบริบททางสังคม คอนเซปต์ของภาพยนตร์เลยมีความแข็งแรงกว่าแบ็กกราวด์ ตัวละคร อีกทั้งสัตว์ประหลาดที่ปรากฏตัวออกมาในเรื่องก็เหมือนจะมีหน้าที่เพียงแค่รับใช้คอนเซปต์นั้น
ถึงแม้นัยของภาพยนตร์จะต่อติดเชื่อมโยงง่าย แต่ความเป็นไซไฟที่ผลักดันประเด็นการเมืองให้ออกมาอยู่หน้าฉาก ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เงื่อนไขนั้นเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และในเวลาเดียวกันก็เป็นจุดที่คนทำสอดแทรกแนวคิดเรื่องการส่งต่อโลกที่ดีขึ้นผ่านการตัดสินใจของตัวละครอย่างอิษฐ์และก้อง ที่เปรียบเสมือนภาพแทนของคนที่มีหน้าที่คอยสั่งสอนและเป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นหลัง แต่ด้วยน้ำหนักของเรื่องราวที่ปูมาตลอดทางยังเบาบาง ตัวตนของพวกเขาเลยไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเรื่องราวเท่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ดี ความหวังนี้ดูจะไม่ได้ครอบคลุมอยู่แค่ในงานเท่านั้น หากแต่เป็นเหมือนประตูบานสำคัญที่พิสูจน์แล้วว่า การเมืองนั้นสามารถอยู่ในภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ได้จริงโดยที่ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป
แต่ท่ามกลางงานโปรดักชันที่เด่นสะดุดตาด้าน CG การถ่ายทอดอารมณ์ในฐานะตัวละครหลักของ พอลล่า เทเลอร์ ก็ดูจะเป็นสะเก็ดแผลที่กวนใจอยู่ไม่น้อย เมื่อพิจารณาจากตัวละครรอบข้างอย่าง วอร์-วนรัตน์ รัศมีรัตน์, นีน่า-ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน หรือ ปีเตอร์-คอร์ป ไดเรนดัล ที่ถึงแม้ตัวละครของเขาจะดูติดตลกจนทำให้ภาพยนตร์เสียความกลมกล่อมไปหน่อย แต่ก็ยังถือว่าสร้างอารมณ์ร่วมได้ดีกว่า ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากบทภาพยนตร์ที่ไม่เอื้อให้กับเธอด้วย
ถึงกระนั้นทุกคนที่กล่าวมาก็อาจจะต้องหลีกทางให้กับตัวละครที่ ‘น้อยแต่มาก’ ของ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ ที่ตลอดทั้งเรื่องเธอรับบทเป็นคนบ้านเชียงที่สื่อสารได้เพียงไม่กี่คำ และทุกครั้งที่ปรากฏตัวก็มักจะมีมวลอารมณ์บางอย่างที่ห้อมล้อมอยู่รอบตัวเธอเสมอ การแสดงของทรายเลยโดดเด่นมากกว่านักแสดงคนอื่นๆ ด้วยเงื่อนไขที่ว่า อารมณ์ของเธอจะต้องถูกสื่อสารออกมาผ่านสีหน้า แววตา และภาษากาย ซึ่งข้อจำกัดนี้ทำให้ตัวละครของเธอกลายเป็นคนที่น่าจดจำมากที่สุดในเรื่องไปโดยปริยาย
อีกคนที่น่าหยิบยกขึ้นมาพูดถึงก็คือ เจนจิรา พงพัศ นักแสดงคู่บุญของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ถึงจะโผล่มาแค่ไม่กี่ฉาก แต่การแสดงที่จริงใจของเธอก็ทิ้งความรู้สึกบางอย่างเอาไว้ในหัวใจของผู้ชม และดีไม่ดีก็อาจเป็นตัวละครที่ทำให้เสียน้ำตาได้เหมือนกัน
จริงอยู่ที่กรอบส่วนใหญ่ของภาพยนตร์เป็นไซไฟที่สอดไส้ด้วยนัยทางการเมือง แต่เมื่อตีความจากความสัมพันธ์ของตัวละครก็อาจบอกได้ว่า แนวทางของภาพยนตร์ที่ต้องการหยิบยกเอาเรื่องครอบครัวและคนรอบข้างมาใช้ ยังดูเป็นตัวเลือกที่ยังไม่ค่อยรัดกุมนัก และนั่นอาจเป็นช่องโหว่ของภาพยนตร์ที่ทำให้เราสงสัยในความสัมพันธ์ของตัวละครอยู่ตลอดเวลาว่า เหตุใดพวกเขาถึงดูไร้ชีวิตกว่าที่ควรจะเป็น และในที่สุดเมื่อภาพยนตร์ขมวดรวบยอดปิดท้ายด้วยเหตุการณ์นองเลือดในอดีต ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ดูจะหยุดลงที่ตรงนั้น กลายเป็นว่าพัฒนาการของตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเท่าที่ควร
แต่ถึงอย่างนั้นเราก็อาจจะบอกได้ว่า Taklee Genesis เป็นภาพยนตร์ที่มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางนัก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะปมเรื่องที่ถูกใส่เข้ามามากมายในเวลาที่จำกัด ทำให้ต้องเลือกตัดบางส่วนออกเพื่อให้ความสำคัญกับอีกส่วน และตัวภาพยนตร์ที่เป็นไซไฟก็เป็นเหมือนเปลือกนอกที่คอยห่อหุ้มความจริงอันแสนเจ็บปวดเอาไว้ ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยเป็นทั้งงานคราฟต์และความบันเทิงแฟนตาซีที่หัวใจหลักยังคงยึดโยงอยู่กับความจริงในสังคม ที่ถึงแม้จะยังไม่สมบูรณ์ดีแต่ก็น่าสนใจ ไม่ว่าความทะเยอทะยานของมันจะให้น้ำหนักไปที่การเมืองหรือไซไฟมากกว่าก็ตาม
Taklee Genesis เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่าง Taklee Genesis ได้ที่: