วันนี้ (25 ตุลาคม) กัณวีร์ สืบแสง ประธานยุทธศาสตร์ และรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม ร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบ ความสูญเสียที่มีจุดเริ่มต้นที่หน้าสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547
กัณวีร์ระบุว่า เวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ความเจ็บปวดต่อกรณีดังกล่าวต่อญาติผู้เสียชีวิตกว่า 80 คน รวมถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนในพื้นที่ คงไม่สามารถลืมเลือนไปจากความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ซ้ำร้ายเพราะความไม่กระจ่างชัดของฝ่ายรัฐบนความคลุมเครือต่อบทลงโทษผู้กระทำผิดในเหตุการณ์วันนั้น ยิ่งทำให้ความเจ็บช้ำบาดลึกลงไปในรอยร้าวของความแตกแยกของคนในพื้นที่ต่อรัฐราชการไปทุกวัน
“ผมค่อยๆ นึกถึงสถานการณ์ก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เนื่องจากผมได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ในการดูแลเรื่องนโยบายและแผนงานความมั่นคงต่างๆ ในพื้นที่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และได้อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในช่วงเวลานั้นด้วย”
ความทรงจำค่อยๆ กลับคืนมาถึงรายงานสถานการณ์ในช่วงระยะเวลานั้น โดยเฉพาะเรื่องการที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยรวมถูกเพ่งเล็งจากหน่วยความมั่นคงว่า เป็นผู้มอบอาวุธที่ได้รับจากทางราชการให้แก่กลุ่มขบวนการ จึงเป็นเหตุที่มาสำคัญของการจับกุมชุด ชรบ. ที่ประกอบไปด้วยชาวบ้านทั้ง 6 คน และเป็นเหตุชนวนให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ จนถึงการเสียชีวิตของชาวบ้านจำนวนมากกว่า 80 คนที่หน้า สภ. และระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมงในการเดินทาง
“หากความทรงจำของผมยังไม่เลือนลาง ผมยังจำคำพูดที่ว่า มันใกล้ค่ำแล้ว หากยังช้าอยู่การเคลื่อนย้ายคนเป็นพันจากตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหารอาจมีอันตรายแน่ ระหว่างทางอาจเกิดปัญหาหากมันค่ำไป กำลังพลมาสมทบคงไม่พอ อีกอย่างรถที่เอาไปก็ไม่พอ มีแต่รถบรรทุกเพียงไม่กี่คัน ทางเดียวที่ทำได้คือ เคลื่อนย้ายโดยเร็ว จับมือไพล่หลัง แล้วมัดต่อๆ กัน แล้วรีบนำตัวใส่รถบรรทุกวางเรียงๆ กัน…เห็นคนหลายคนพยายามเบียดเสียดกันขึ้นมาเพื่อเอาอากาศหายใจ แต่หยุดรถไม่ได้ เพราะหยุดขบวนจะกระทบทั้งหมด…”
นี่อาจเป็นความทรงจำเหตุการณ์ตากใบที่ถูกฝังอยู่ในใจผู้คนจำนวนมาก ซึ่งภายหลังในการชันสูตรพลิกศพที่ยังค้นหาข้อมูลจากสิ่งของต่างๆ จากผู้เสียชีวิต และพยายามตีเป็นทฤษฎีอะไรต่างๆ ที่ดูและฟังแล้วอยู่เหนือความจริงไปเสียมาก ผมคงไม่สามารถพูดอะไรมากในที่นี้ได้
“ยิ่งเขียนยิ่งเจ็บปวด เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รอยบาดแผลแห่งความอยุติธรรมนี้คงไม่มีวันเลือนหาย ถึงแม้ผู้กระทำผิดจะถูกนำตัวมาลงโทษก็ตาม มันคงไม่สามารถลบล้างความอดสู และความไม่เป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความละเอียดอ่อนในเชิงสังคมและการเมืองได้”
แต่ที่เลวร้ายกว่า กลับพบว่า 18 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยยังไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนและความละเอียดอ่อนในบริบทพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แต่อย่างใด ผมเดินทางรอบโลกและกลับมาทำงานอีกครั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (แต่คนละบริบท) ผมยังเห็นว่ารัฐไทยยังย่ำอยู่กับการใช้รูปแบบการแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริงและความละเอียดอ่อนของพื้นที่
รัฐไทยยังไม่สามารถถอดบทเรียนในการสร้างสันติภาพที่ควรใช้ Smart Power ให้ได้อย่างถูกบริบทกับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย
“ผมยังเห็นการขยายตัวและการสร้างอาณาจักรของหน่วยความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ทั้งในรูปกำลังพล งบประมาณ และโครงสร้างที่ซ้ำซ้อนและยุ่งเหยิงของทางการไทย มันสะอึกจนไม่รู้จะพูดอย่างไรกับภาครัฐของไทย หากยังไม่เปลี่ยน อย่าหวังว่าสันติภาพที่อ้างว่าจะเห็นจะบังเกิด”
กัณวีร์ระบุว่า จากเหตุการณ์หน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตนขอรำลึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดและญาติของทุกคนที่ควรจะต้องได้รับการเคารพจากรัฐไทย และต้องเป็นวันที่เราต้องร่วมกันรำลึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก
“ผมจะเร่งทำงานเพื่อปฏิวัติรูปแบบการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทยกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทั้งหลายที่ผมมีให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เหตุการณ์ตากใบจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีกต่อไป หากเรามีสันติภาพที่แท้จริงในพื้นที่ และสันติภาพนี้ต้องเป็นสันติภาพที่กินได้ และมนุษยธรรมต้องนำการทหารและการเมืองด้วยครับ” กัณวีร์กล่าวในที่สุด