×

ศาลจังหวัดนราธิวาสออกหมายจับ 6 จำเลยคดีตากใบ-ออกหมายเรียก ‘พิศาล’ สส. เพื่อไทย พร้อมส่งหนังสือขออนุญาตจับกุมไปยังสภา

โดย THE STANDARD TEAM
12.09.2024
  • LOADING...
คดีตากใบ

วันนี้ (12 กันยายน) เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดสอบคำให้การคดีอาญาตากใบ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ578/2567 ที่ผู้เสียหาย ได้แก่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ เป็นโจทก์ 48 คน ฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

 

โดยในนัดนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คน จำเลยในคดีที่จะต้องมารายงานตัวต่อศาลจังหวัดนราธิวาสตามหมายเรียกเพื่อสอบคำให้การ จำเลยทั้ง 7 ประกอบด้วย

 

จำเลยที่ 1 พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

 

จำเลยที่ 2 พล.อ. (ยศในขณะนั้น) เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ พล.ร.5

 

จำเลยที่ 3 พล.ต.อ. วงกต มณีรินทร์ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และอดีต สว.

 

จำเลยที่ 4 พล.ต.ท. (ยศในขณะนั้น) มาโนช ไกรวงศ์ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และอดีต สว.

 

จำเลยที่ 5 พล.ต.ต. ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรตากใบ

 

จำเลยที่ 6 ศิวะ แสงมณี ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

 

จำเลยที่ 7 วิชม ทองสงค์ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส

 

ให้ปรากฏตัวต่อหน้าศาล เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจริง เพื่อคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหาย คืนความเป็นธรรมให้พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนใต้ และร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด เพื่อคืนความยุติธรรมให้ประชาชนไทยทุกคนต่อไป

 

ทั้งนี้ศาลได้รอจำเลยทั้งหมดมาสอบคำให้การ จนกระทั่งเวลา 10.30 น. จำเลยทั้งหมด และทนายจำเลยที่ 1-6 ไม่มา และศาลสอบพนักงานอัยการในฐานะทนายจำเลยที่ 8 และ 9 แถลงว่า หลังจากศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ก็ไม่ได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 8 และ 9 อีกเลย

 

ศาลให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อทนายฝ่ายจำเลยตามหมายเลขที่เคยให้ไว้ ได้ความในลักษณะเดียวกันว่า หลังจากศาลอ่านคำสั่งว่าคดีมีมูลในนัดที่แล้ว ก็ไม่ได้รับการติดต่อจากลูกความอีกเลย จึงไม่ทราบความประสงค์ว่าจะให้เป็นทนายความในคดีต่อไปหรือไม่ และจะให้การอย่างไร

 

พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1, 3, 4, 5, 6, 8 และ 9 ทราบนัดโดยชอบแล้ว ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยที่ 3, 4, 5, 6, 8 และ 9 เพื่อนำตัวมาศาลภายในอายุความ 20 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คือภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567

 

ส่วนจำเลยที่ 1 เป็น สส. ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวน ในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด”

 

เมื่อขณะนี้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 จึงได้รับความคุ้มกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ศาลไม่มีอำนาจออกหมายจับ จึงให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

 

สำหรับรายงานกระบวนพิจารณา


  1. ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎรอนุญาตให้จับจำเลยที่ 1 โดยให้ถ่ายสำเนาคำฟ้องคดีนี้ คำสั่งคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ538/2567 (คดีนี้) และรายงานกระบวนพิจารณาฉบับนี้อย่างละ 1 ฉบับ รับรองสำเนาถูกต้องทุกรูปแนบไปด้วย

 

  1. หมายเรียกจำเลยที่ 1 มาศาลในนัดหน้า

 

  1. มีหนังสือด่วนที่สุดถึงจำเลยที่ 1 แจ้งว่า ศาลนี้ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคหนึ่ง และขอเชิญให้จำเลยที่ 1 แถลงต่อสภา เพื่อสละความคุ้มกัน และมาศาลในนัดหน้า เพื่อเข้าสู่การพิจารณาคดีนี้ การส่งหนังสือตามข้อ 1. ให้ส่งผ่านทางสำนักงานศาลยุติธรรม การส่งหมายเรียกตามข้อ 2. ให้ส่งทางเจ้าพนักงานศาล ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดและมีผลทันทีทางหนึ่ง กับส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอีกทางหนึ่ง เป็นหมายศาล และการส่งหนังสือตามข้อ 3. ให้ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอย่างหนังสือราชการของศาลนี้

 

การดำเนินการตามหมายจับในส่วนของจำเลยที่ 3, 4, 5, 6, 8 และ 9 ให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับ และเห็นสมควรให้พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วย โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุน ตามพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562 มาตรา 5 (5)

 

โดยให้เลื่อนนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยที่ 1, 3, 4, 5, 6, 8 และ 9 ตรวจพยานหลักฐาน และทำกำหนดวันนัดสืบพยาน กับติดตามผลการจับกุมจำเลยที่ 3, 4, 5, 6, 8 และ 9 และฟังผลการขออนุญาตจับกุมจำเลยที่ 1 ต่อสภา ในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น.

 

ด้านรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความฝ่ายโจทก์ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมอำเภอตากใบ กล่าวว่า กรณีจำเลยที่ 1 ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น สส. อยากให้สละความคุ้มกัน และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

 

แม้จำเลยทั้ง 7 จะรอให้คดีหมดอายุความโดยไม่ต้องรับผิด แต่ตนเชื่อว่าสิ่งที่กระทำยังคงติดอยู่ในใจของประชาชน ทั้งนี้หากคดีหมดอายุความโดยไม่สามารถจับกุมจำเลยทั้ง 7 ได้ จะถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมกับศาล

 

มาลิกี ดอเลาะ อายุ 48 ปี ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ ปัจจุบันกลายเป็นผู้พิการ กล่าวว่า ตนรอคอยความยุติธรรมมาเกือบ 20 ปี วันนี้แม้ศาลจังหวัดนราธิวาสจะออกหมายจับจำเลยทั้ง 7 คน แต่ตนยังคงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้เดินทางมาพบศาล

 

“เราตัดสินใจที่จะลุกขึ้นมาสู้กับความอยุติธรรม เราก็จะสู้และเดินหน้าให้ถึงที่สุด แม้ว่าสุดท้ายแล้วคดีจะหมดอายุความ แล้วคนที่เกี่ยวข้องจะไม่ได้รับโทษก็ตาม”

 

มาลิกีกล่าวต่อว่า หากจำเลยทั้ง 7 คนยืนยันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ผิดต่อประชาชนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ไม่ใช่รอให้คดีหมดอายุความ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising