หลังจากถูกแบนการส่งออกมังคุดจากไทยไปไต้หวัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ล่าสุด ทางอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า ทางไต้หวันอนุมัติให้ไทยนำเข้ามังคุดได้แล้ว หลังเสนอใช้ผลงานวิจัยกำจัดแมลงวันผลไม้ด้วยวิธีอบไอน้ำสยบไข่แมลงวันได้สำเร็จ พร้อมคาดการณ์ว่าไทยจะส่งมังคุดออกตลาดไต้หวันไม่ต่ำกว่า 65 ตัน หรือคิดเป็นรายได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
วันนี้ (17 พ.ค.) เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า เดิมทีมังคุดเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยและเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไต้หวัน ซึ่งในอดีตไต้หวันมักจะนำเข้ามังคุดจากประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ มาโดยตลอด ก่อนที่จะโดนสั่งเบรกและห้ามนำเข้าอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2546 เนื่องจากมังคุดเป็นพืชอาศัยของแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นศัตรูพืชกักกันของไต้หวัน จนถูกประกาศห้ามนำเข้ามังคุดจากประเทศไทยในที่สุด
โดยในปี พ.ศ. 2560 ทางกรมวิชาการเกษตรได้เสนอวิธีการจัดการความเสี่ยงต่อการป้องกัน และกำจัดแมลงวันผลไม้ให้ไต้หวันพิจารณาหลายวิธี โดยวิธีที่ทางไต้หวันให้การยอมรับ คือวิธีการอบไอน้ำปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 58 นาที ที่สามารถกำจัดระยะไข่ของแมลงวันผลไม้ตายได้อย่างหมดสิ้นก่อนการส่งออก ซึ่งวิธีการจัดการความเสี่ยงแบบนี้เป็นวิธีการเดียวกับที่ดำเนินการส่งออกมังคุดไปประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ทุกครั้งที่จะมีการส่งออกมังคุดสดนั้น ทางไต้หวันจะส่งเจ้าหน้าที่กักกันพืชของไต้หวันมาปฏิบัติงาน เพื่อร่วมตรวจสอบกระบวนการอบไอน้ำกับเจ้าหน้าที่กักกันพืชของไทย เพื่อควบคุมการส่งออกมังคุดให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยจะเริ่มมีการส่งออกมังคุดสดล็อตแรกในรอบ 16 ปี ได้ประมาณเดือนกรกฎฎาคมนี้ โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2562 ไต้หวันจะมีการนำเข้ามังคุดจากไทยไม่ต่ำกว่า 65 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
นอกจากนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้กล่าวต่อไปว่า “เรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีที่กรมวิชาการเกษตรสามารถเปิดตลาดส่งออกมังคุดไปไต้หวันได้อีกครั้ง หลังจากไต้หวันยกเลิกการนำเข้ามังคุดจากไทยมานานกว่า 16 ปี จึงขอแจ้งให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจะส่งออกมังคุดสดไปไต้หวันส่งข้อมูลโรงงานอบไอน้ำให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการจัดส่งให้ไต้หวันพิจารณาล่วงหน้า รวมทั้งผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกมังคุดไปไต้หวันแต่ไม่มีโรงงานอบไอน้ำ สามารถติดสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 02 940 6770 ต่อ 141, 142 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: