×

ไม่อยากให้สมองไหล! ทางการไต้หวันและบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ลงขัน 9.8 พันล้านบาท ปั้น ‘แรงงานหัวกะทิ’ ป้อน ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ โดยเฉพาะ

16.07.2021
  • LOADING...
semiconductor industry

การมีพนักงานที่มีความสามารถจะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาอุตสาหกรรมชิปให้สามารถแข่งขันได้ กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทางการไต้หวันและบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ต่างลงขันด้วยงบประมาณอย่างน้อย 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 9.8 พันล้านบาท สำหรับปั้นแรงงานป้อนสู่ ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ โดยเฉพาะ

 

“บริษัทชิปหลายสิบแห่งที่มีตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์และการทดสอบ ได้เข้าร่วมการอภิปรายสำหรับการจัดตั้งโรงเรียนสอนชิป เนื่องจากพวกเขาคาดการณ์ว่าความต้องการผู้มีความสามารถด้านชิปที่มีทักษะสูงจะเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป และนั่นเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ต้องแก้ไขโดยเร็ว” แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวกับ Nikkei Asia 

 

ความเคลื่อนไหวของไต้หวันเกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังพยายามบุกเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านการเร่งแผนการบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านเซมิคอนดักเตอร์ของตนเอง

 

รายงานการตรวจสอบด้านซัพลายเชนโดยทำเนียบขาวเมื่อเดือนที่แล้วกล่าวว่า ดินแดนพญาอินทรี ‘มีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับแรงงานที่มีทักษะสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ เนื่องจาก 77% ของผู้บริหารที่อยู่ในบริษัทชิปกล่าวว่า อุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะสูง

 

“ในขณะที่จีนกำลังแสวงหาผู้มีพรสวรรค์จากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ การรักษาหัวกะทิเหล่านี้ไว้ในสหรัฐฯ ก็ช่วยสนับสนุนทั้งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ และป้องกันไม่ให้คู่แข่งดึงผู้ที่มีความสามารถไปช่วยให้ก้าวข้ามสหรัฐฯ ได้” รายงานระบุ

 

ในทางกลับกัน แดนมังกรได้กล่าวว่าการขาดผู้มีความสามารถทางด้านชิปเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในการสร้างอุตสาหกรรมชิปของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกจึงได้เพิ่มจำนวนโรงเรียนด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และกล่าวว่าจะต้องมีวิศวกรเพิ่มอีก 230,000 คน ภายในปี 2022 เพื่อให้ทันกับความต้องการ

 

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันซึ่งเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาจากขาดแคลนผู้มีความสามารถมาหลายปี ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า นักศึกษาสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีลดลงจาก 23,261 ในปี 2010 เป็น 16,950 ในปี 2020 แถมยังเกิดภาวะสมองไหลโดยมีดินแดนพญามังกรเป็นผู้ฉกตัวไป โดยในช่วงหลายปีมานี้มีผู้คนกว่า 3,000 คน ถูกดึงไปทำงานในแผ่นดินใหญ่

 

ดังนั้น บริษัทชิปในไต้หวันจึงเรียกร้องให้ทางการออกมาแก้ปัญหานี้ให้เร็วที่สุดก่อนจะถูกดึง ‘หัวกะทิ’ ไปเสียหมด ซึ่งล่าสุดทางการไต้หวันได้ออกมาขานรับข้อเรียกร้องด้วยการผ่อนคลายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และอนุญาตให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยที่สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระและขอเงินทุนจากบริษัทเอกชนได้ 

 

โดยการผ่อนคลายกฎหมายได้มาพร้อมกับการร่างข้อกำหนดที่ระบุว่า บัณฑิตวิทยาลัยที่จะตั้งขึ้นมาใหม่นี้ ‘ไม่สามารถทำงานร่วมกับบริษัทจีนหรือรับเงินทุนจากหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในจีนได้’ แถมยังต้องติดตามเส้นทางหลังจากที่นักศึกษาจบไปแล้ว และ ‘ควรแนะนำให้พวกเขาทำงานในไต้หวันเป็นแห่งแรก’

 

เบื้องต้นงบประมาณทั้งหมดจะอยู่ที่ราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสนับสนุนบัณฑิตวิทยาลัยที่เปิดขึ้นมาเรียนด้านชิปโดยเฉพาะจำนวน 4 แห่ง โดยหนึ่งในยักษ์ที่เข้าร่วมสนุบสนุนคือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก จะมอบเงินอย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์ไต้หวันต่อปี ให้กับบัณฑิตวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง เป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปีด้วยกัน 

 

และนอกเหนือจาก ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ แล้ว ทางการไต้หวันกำลังเล็งที่จะปั้นหัวกะทิในด้านปัญญาประดิษฐ์ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และฟินเทค เพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X