ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันหลังรัฐธรรมนูญ 1947 มีใครบ้าง
นี่คือโฉมหน้าของประธานาธิบดีไต้หวันทั้ง 7 คน ภายหลังจากที่ไต้หวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 1947
เจียงไคเชก (เจี่ยงเจี้ยสือ) นักปฏิวัติและนักการเมืองฝ่ายชาตินิยมจีน สังกัดพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย ทั้งในมิติการเมือง การบริหาร รวมทั้งการทหาร ได้รับเลือกจากสมัชชาแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหญ่ หลังจากที่รัฐบาลจีนคณะชาติพ่ายแพ้ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของ เหมาเจ๋อตง ทำให้สูญเสียการปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ และต้องลี้ภัยมายังเกาะไต้หวัน
เหมาเจ๋อตงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ พร้อมทั้งสถาปนา ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ ขึ้นบนจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1949 ขณะที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนในช่วงเวลานั้นได้ประกาศย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงไทเป ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ก่อนที่เจียงไคเชกจะประกาศใช้กฎอัยการศึกในปีเดียวกันนั้น และถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันในปี 1975
เหยียนเจียกั้น รองประธานาธิบดีไต้หวันในสมัยเจียงไคเชก ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 2 ของไต้หวัน หลังจากที่เจียงไคเชกถึงแก่อสัญกรรม โดยเหยียนเจียกั้นนั่งเก้าอี้ผู้นำไต้หวันจนครบวาระของอดีตประธานาธิบดีเจียงไคเชกในช่วงกลางปี 1978
ก่อนที่ เจี่ยงจิงกั๋ว ลูกชายคนโตและลูกชายเพียงคนเดียวของเจียงไคเชก ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐจีน ได้รับเลือกจากสมัชชาแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 3 ของไต้หวัน นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 1947 เป็นต้นมา โดยไต้หวันภายใต้การนำของเจี่ยงจิงกั๋วนับว่ามีการพัฒนาอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ที่มีส่วนผลักดันให้ไต้หวันเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว อีกทั้งกระบวนการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในไต้หวันก็ค่อยๆ เติบโต จนนำไปสู่การประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกที่เคยบังคับใช้ตั้งแต่สมัยเจียงไคเชก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกฎอัยการศึกที่บังคับใช้ยาวนานที่สุดในโลก (เกือบ 4 ทศวรรษ) ก่อนที่เจี่ยงจิงกั๋วจะถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่งเช่นเดียวกับพ่อของเขาในปี 1988
หลี่เติงฮุย รองประธานาธิบดีไต้หวันในสมัยเจี่ยงจิงกั๋ว ซึ่งสังกัดพรรค KMT ได้รับมติเห็นชอบจากสมัชชาแห่งชาติให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันต่อจากเจี่ยงจิงกั๋วผู้ล่วงลับ โดยหลี่เติงฮุยถือเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวันที่เกิดบนแผ่นดินของเกาะไต้หวัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นถือเป็นยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบานอย่างมากในไต้หวัน
ในปี 1996 ไต้หวันจัด ‘การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยหลี่เติงฮุย ประธานาธิบดีไต้หวัน ลงชิงชัยเก้าอี้ผู้นำไต้หวันเป็นสมัยที่ 2 ในนามพรรค KMT ก่อนคว้าชัยในการเลือกตั้งเหนือผู้สมัครจากพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ขาดลอย 54% ต่อ 21% ส่งผลให้ผู้แทนจากพรรค KMT ยังคงครองอำนาจนำในการเมืองไต้หวัน นับตั้งแต่สมัยของเจียงไคเชกเป็นต้นมา จนถึงกับมีการตั้งฉายาให้กับหลี่เติงฮุยว่า ‘Mr.Democracy’ (นายประชาธิปไตย)
หลังจากที่หลี่เติงฮุยหมดวาระลงในปี 2000 การเมืองไต้หวันเปิดกว้างอย่างมาก หลายพรรคการเมืองเติบโต ประชาชนชาวไต้หวันที่มีสิทธิเลือกผู้นำของตนเองตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อนมีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันปี 2000 สูงถึงเกือบ 83% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนหน้าราว 7% โดยผลการเลือกตั้งในปีนั้น ผู้สมัครจากพรรค KMT พ่ายแพ้การเลือกตั้ง และครองอันดับ 3 จากผลคะแนนเสียงรวมทั้งหมด ขณะที่ชัยชนะตกเป็นของ เฉินสุยเปี่ยน ผู้สมัครจากพรรค DPP ที่ชูนโยบายแข็งกร้าวต่อจีน โดยเขาถือเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดของไต้หวันในช่วงเวลานั้น อีกทั้งยังเป็นประธานาธิบดีคนแรกของไต้หวันที่มาจากพรรคฝ่ายค้านอีกด้วย ก่อนที่เขาจะชนะการเลือกตั้งอีกสมัยในปี 2004 และนั่งเก้าอี้ผู้นำไต้หวันจนถึงช่วงต้นปี 2008
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันครั้งที่ 12 ที่จัดขึ้นในปี 2008 พรรค KMT ส่งหัวหน้าพรรคอย่าง หม่าอิงจิ่ว สู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในครั้งนั้น และชนะเลือกตั้ง ทำให้พรรค KMT กลับมาครองอำนาจนำในเกมการเมืองไต้หวันได้สำเร็จ หลายฝ่ายมองว่าท่าทีของหม่าอิงจิ่วดูเป็นมิตรกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่ารัฐบาลไต้หวันชุดก่อนหน้า ก่อนที่หม่าอิงจิ่วจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเป็นสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งปี 2012 โดยคว้าชัยเหนือ ไช่อิงเหวิน หัวหน้าพรรค DPP ในช่วงเวลานั้น ไปด้วยคะแนนเสียง 51.60% ต่อ 45.63%
ไช่อิงเหวิน กลับมาแก้มือใหม่อีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันปี 2016 ด้วยการชูนโยบายที่แข็งกร้าวกับจีน และเน้นกระชับความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา พร้อมประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นทำให้ไช่อิงเหวินสร้างประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ เธอก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไต้หวัน เธอคว้าชัยเหนือ อีริก ชู ผู้สมัครจากพรรค KMT ขาดลอย ก่อนที่จะย้ำชัยชนะอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันปี 2020 โดยคว้าชัยเหนือ หานกั๋วอวี๋ ผู้สมัครจากพรรค KMT อย่างขาดลอยเช่นเดียวกัน
และในปี 2024 นี้ ชาวไต้หวันเดินทางมาถึงทางแยกอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาจะต้องใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกผู้นำคนใหม่ในวันที่ 13 มกราคมนี้ โดยผู้สมัครที่น่าจับตามองจาก 3 พรรคการเมือง ได้แก่ ไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีไต้หวัน และหัวหน้าพรรค DPP ปัจจุบัน, โหวโหย่วอี๋ นายกเทศมนตรีนิวไทเป สังกัดพรรค KMT และ เคอเหวินเจ๋อ หัวหน้าพรรคไถวันหมินจ้งตั่ง (TPP)
ส่วนประธานาธิบดีไต้หวันคนที่ 8 นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 1947 จะเป็นใคร รู้พร้อมกันวันที่ 13 มกราคมนี้
#เลือกตั้งไต้หวัน2024
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คู่มือเลือกตั้ง 101: เลือกตั้งไต้หวัน 2024 อะไรที่เราควรรู้?
- ใครเป็นใคร เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน 2024
- เช็กคะแนนนิยมโค้งสุดท้ายเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ใครนำ-ใครตาม
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ