วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) ที่หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 310 ผู้แทนจากสถานทูตฟิลิปปินส์ และผู้แทนจากทางการไต้หวัน โดยสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เดินทางมาติดต่อเพื่อขอรับตัวเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ที่ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา และต่อมาได้รับการช่วยเหลือส่งกลับมาที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ประกอบด้วยชาวฟิลิปปินส์ 16 คน แบ่งเป็นชาย 8 คน หญิง 8 คน และชาวไต้หวัน 5 คน แบ่งเป็นชาย 4 คน หญิง 1 คน
เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดตาก ดำเนินการตรวจสอบเอกสาร ซึ่งสถานทูตต้องนำเอกสารยืนยันตัวตนมาเพื่อขอรับตัวเหยื่อกลับประเทศด้วยเช่นกัน จากนั้นจังหวัดตากจะออกหนังสือส่งตัวคืนให้กับสถานทูต เพื่อใช้ประกอบการเดินทางกลับประเทศตนเอง
ทีมข่าวพูดคุยกับผู้แทนจากสถานทูตฟิลิปปินส์ ได้รับข้อมูลว่า เมื่อทางการรับตัวเหยื่อแล้ว จะพากลับไปที่กรุงเทพฯ เพื่อรอเดินทางกลับด้วยเครื่องบินไปฟิลิปปินส์ และเมื่อไปถึงฟิลิปปินส์ เหยื่อทั้งหมดจะเข้าสู่การสอบสวนและคัดกรองตามขั้นตอนของประเทศ เพราะยอมรับว่าทางการฟิลิปปินส์ไม่ได้ปักใจเชื่อทั้งหมดว่าชาวฟิลิปปินส์ที่ถูกระบุว่าเป็นเหยื่อจะเป็นเหยื่อทั้งหมดจริงๆ การข่าวเชื่อว่ามีคนในขบวนการสแกมเมอร์แฝงอยู่ด้วย
เจมส์ หนึ่งในชาวฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวภายใต้การกำกับดูแลของผู้แทนจากสถานทูตฟิลิปปินส์ ระบุว่า ได้รับการชักชวนให้เดินทางมาทำงานที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อถึงกรุงเทพฯ ผู้ชวนแจ้งว่าต้องเดินทางต่ออีก ทราบอีกครั้งคืออยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีเจ้าหน้าที่ทหารพาพวกของตนเองข้ามแม่น้ำ (แม่น้ำเมย) และมีทหารอีกชุดหนึ่งมารับช่วงต่อ จากนั้นถูกบังคับให้ทำงานในบริษัทสแกมเมอร์ วันละ 16-17 ชั่วโมง หากไม่ทำตามจะถูกลงโทษให้วิ่งในสนามกีฬา
จากนั้นเจมส์เปิดเสื้อให้ทีมข่าวดูบาดแผลจากการถูกทำร้าย ซึ่งเกิดจากการที่เขาและเพื่อนพยายามหลบหนีจากอาคารแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ถูกจับได้ โดยบาดแผลที่ทีมข่าวเห็นคือรอยฟกช้ำจากการถูกทารุณ
“ตอนนี้มีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจจะ 400-1,000 คน แต่ส่วนมากที่สุดคือคนจีน ส่วนตัวหวังว่าจะไม่มีคนฟิลิปปินส์เหลืออยู่ในนั้นแล้ว เพราะมันไม่ปลอดภัยสำหรับใครก็ตาม แต่ตอนนี้ผมเองปลอดภัยแล้ว รู้สึกมีความสุข ผมรอเวลานี้มานานมาก รอที่จะมีการช่วยเหลือ” เจมส์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้แทนจากทางการไต้หวันสอบถามเจ้าหน้าที่ พม. จังหวัดตาก ถึงชาวไต้หวัน 2 คน ที่ถูกตำรวจไทยระบุว่าเข้าข่ายร่วมในกระบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์และถูกแยกตัวออกไปก่อนหน้านี้ ว่าทางการไทยจะทำอย่างไร เจ้าหน้าที่ พม. จังหวัดตาก จึงอธิบายว่า ชาวไต้หวัน 2 คนที่ถูกแยกออกไป จะถูกดำเนินการตามกฎหมายไทยก่อนตามขั้นตอน หลังจากนั้นจะผลักดันออกจากประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ไทยจะประสานกับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง