×

ถอดบทเรียนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสมรสเท่าเทียม LGBT ของ NGO ไต้หวัน ย้อนมองไทย ทำไมยังไม่คืบหน้า

19.06.2019
  • LOADING...
lgbtq ngo taiwan

HIGHLIGHTS

14 Mins. Read
  • เสรีประชาธิปไตยไต้หวันเป็นบรรยากาศแห่งสิทธิเสรีภาพ เป็นสิ่งที่ชาวไต้หวันหวงแหนและภาคภูมิใจ ซึ่งสายเลือดแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวไต้หวันเกิดจากการต่อสู้ถึงแก่ชีวิตของบรรพบุรุษของพวกเขาในอดีตจนถึงปัจจุบัน
  • เสรีประชาธิปไตยที่สุกงอมของไต้หวันนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของชนกลุ่มน้อย รวมถึง LGBT ไต้หวันตั้งแต่ปี 1986
  • ฉีเฉียเหวย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงไทเป เนื่องจากไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับคู่รักชายเพศเดียวกันได้ เหตุการณ์นั้นส่งผลให้เขาถูกจำคุกเกือบ 6 เดือน แต่ก็เป็นการเริ่มต้นการเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมของ LGBT ในไต้หวัน
  • คงมีผู้สงสัยไม่น้อยว่าผ่านมาแล้วเกือบ 8 ปี เหตุใดกฎหมายสมรสเท่าเทียมของ LGBT จึงยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ทำความรู้จักไต้หวันกันสักนิด

ไต้หวัน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Republic of China ถือเป็นรัฐอิสระ เนื่องจากมีองค์ประกอบของรัฐครบทั้ง 4 ประการคือ มีดินแดน มีประชากร มีรัฐบาล และมีอำนาจอธิปไตย

 

ไต้หวันเป็นดินแดนที่จีนแผ่นดินใหญ่อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ก็มีพรรคการเมืองไต้หวัน ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ต้องการให้ไต้หวันเป็นรัฐอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับจีน (โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, 2560)

 

เหตุการณ์ 228 (The 228 Incident) หรือเหตุการณ์ทมิฬขาว (The White Terror) ในไต้หวัน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1947 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คนจากการเข่นฆ่าโดยรัฐเผด็จการในขณะนั้น เป็นประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้เพื่อต่อต้านรัฐเผด็จการในสมัยของ นายพล เจียงไคเชก แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ประชาชนไต้หวันเห็นถึงความอยุติธรรมในการจับกุม ทำร้าย ทุบตี และเข่นฆ่าประชาชน เพียงเพราะชาวบ้านขายบุหรี่โดยไม่มีใบอนุญาต จนนำไปสู่การเรียกร้องและเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐเผด็จการจนเกิดการสังหารหมู่กวาดล้างประชาชน และมีการประกาศกฎอัยการศึก

 

การต่อสู้เพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 1987 ใช้เวลา 40 ปี ไต้หวันจึงสามารถยกเลิกกฎอัยการศึกและเริ่มเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยนับแต่นั้นเป็นต้นมา กว่า 30 ปีแล้วที่เสถียรภาพทางประชาธิปไตยของไต้หวันเติบโตถึงปัจจุบัน (Morris, 2019)

 

จึงไม่น่าแปลกใจว่าเสรีประชาธิปไตยของไต้หวัน บรรยากาศแห่งสิทธิเสรีภาพ จึงเป็นสิ่งที่หวงแหนและภาคภูมิใจ ด้วยสายเลือดแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวไต้หวันที่เกิดจากการต่อสู้ถึงแก่ชีวิตของบรรพบุรุษของพวกเขาในอดีตจนถึงปัจจุบัน

 

lgbtq ngo taiwan

ฉีเฉียเหวย ในวัย 60 ปี ณ ปัจจุบัน

 

ฉีเฉียเหวย ชายผู้จุดประกายการต่อสู้ของ LGBT ไต้หวัน

เสรีประชาธิปไตยที่สุกงอมของไต้หวันนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของชนกลุ่มน้อย รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในไต้หวัน (LGBT)

 

ปี 1986 ฉีเฉียเหวยได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงไทเป เนื่องจากไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับคู่รักชายเพศเดียวกันได้ เหตุการณ์นั้นส่งผลให้เขาถูกจำคุกเกือบ 6 เดือน เนื่องจากรัฐบาลเชื่อว่าเขาเป็นผู้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล (Radio Free Asia, 2019)

 

ฉีเฉียเหวยเริ่มการต่อสู้อีกครั้งราวปี 2012 ด้วยการขอจดทะเบียนสมรสกับคู่รักชายที่สำนักงานเขตว่านหัว เขาถูกปฏิเสธอีกครั้ง ซึ่งครั้งนั้นเขายื่นฟ้องต่อศาลปกครองทันที

 

ต่อมาศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องในปี 2014 ฉีเฉียเหวยตระหนักว่าเขาต้องเดินหน้าสู้ต่อโดยการฟ้องศาลสูง และนั่นคือจุดเริ่มต้นให้เขาพบกับ TAPCPR องค์กร NGO ไต้หวัน หนึ่งในหลายองค์กรผู้อยู่เบื้องหลังการต่อสู้เพื่อการสมรสเท่าเทียมของ LGBT ไต้หวัน (Forum Asia, 2019)

 

lgbtq ngo taiwan

ชีเชียวเหวิน (ขวา) และเจียเชียเฉียน (ซ้าย) ผู้ก่อตั้ง TAPCPR ในวันจดทะเบียนสมรสวันแรก 24 พฤษภาคม 2019 ณ สำนักงานทะเบียนท้องถิ่น กรุงไทเป ไต้หวัน

 

หลากกลยุทธ์ของ TAPCPR หนึ่งในหลาย NGO ของไต้หวันผู้อยู่เบื้องหลังการต่อสู้เพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมของ LGBT

TAPCPR (Taiwan Alliance to Promote Civil Partnership Rights) เป็น NGO ไต้หวันที่ก่อตั้งในปี 2009 โดยคู่รักหญิงรักหญิงนักกฎหมาย ชีเชียวเหวิน และเจียเชียเฉียน

 

TAPCPR ใช้เวลาศึกษาวิจัยกฎหมายสมรสเท่าเทียมของ LGBT ต่างประเทศกว่า 3 ปี จนกระทั่งปี 2012 TAPCPR ได้เสนอผลการวิจัยในรูปแบบของกฎหมายเพื่อครอบครัวเพศหลากหลาย ดังนี้

 

1. กฎหมายสมรสเท่าเทียม (Equal Marriage / Marriage Equality) คือกฎหมายที่ให้บุคคลทุกเพศ ทุกรสนิยมทางเพศ สามารถจดทะเบียนสมรส มีศักดิ์และสิทธิในฐานะคู่สมรสเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ และได้รับสิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน

 

2. กฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต (Partnership System) คือกฎหมายที่ให้บุคคลทุกเพศ ทุกรสนิยมทางเพศ จดทะเบียนเป็นหุ้นส่วนชีวิต โดยจะต้องมีการทำสัญญาการเป็นคู่ชีวิตเพื่อจัดการทรัพย์สิน หนี้สินร่วมกัน และอุปการะซึ่งกันและกัน

 

3. กฎหมายรับรองการใช้ชีวิตร่วม (Multiple-Person Household) คือกฎหมายที่รับรองสถานะของบุคคลสองคนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์แบบคนรัก เช่น เพื่อน พี่น้อง สามารถจดทะเบียนรับรองการใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อจัดการทรัพย์สิน หนี้สินร่วมกัน และอุปการะซึ่งกันและกัน

 

lgbtq ngo taiwan

การทำงานภาคสนามของ TAPCPR ในปี 2012

 

ในปี 2012 TAPCPR ได้รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนกฎหมายเพื่อครอบครัวเพศหลากหลายได้กว่า 150,000 รายชื่อ พร้อมกับองค์กรภาคประชาสังคมอีกกว่า 400 รายชื่อ พวกเขาได้รับฉันทามติในแนวทางแรกคือกฎหมายสมรสเท่าเทียม (Equal Marriage / Marriage Equality) และได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองและภาคประชาสังคม

 

เนื่องจากคำว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นคำที่ชัดเจน ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ในขณะที่แนวทางอื่น เช่น กฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิต และกฎหมายรับรองการใช้ชีวิตร่วม เป็นแนวทางที่ซับซ้อน การบังคับใช้ยากกว่าแนวทางแรก และขาดความเท่าเทียมกับการสมรสตามกฎหมายแพ่งไต้หวัน (Victoria, 2015)

 

lgbtq ngo taiwan

ยูเมนี สมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวัน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

 

lgbtq ngo taiwan

เชงลีจุน สมาชิกสภานิติบัญญัติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

 

TAPCPR ได้เคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกฎหมายเพื่อครอบครัวเพศหลากหลายผ่านการล็อบบี้นักการเมืองและสมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวัน

 

ในปี 2012 เป็นต้นมา สมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวันแห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ามีบทบาทในการผลักดันกฎหมายดังกล่าว

 

ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน ได้ประกาศต่อชุมชน LGBT ไต้หวันตอนรณรงค์หาเสียงสมัยปี 2012 ถึงปัจจุบัน (กว่า 8 ปี) ว่าเธอสนับสนุนสิทธิการสมรสเท่าเทียมของ LGBT นอกจากนั้นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ยูเมนี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน เชงลีจุน ได้ออกมาสนับสนุนการผ่านกฎหมายดังกล่าวอย่างเต็มที่

 

ในปี 2013 สภานิติบัญญัติไต้หวันได้ผ่านการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระที่ 1 จากทั้งสิ้น 3 วาระ โดยเห็นชอบร่างกฎหมายแนวทางแรกที่ TAPCPR ผลักดัน คือการแก้ไขกฎหมายแพ่งเพื่อขยายคำนิยามของการสมรสให้บุคคลสองคนทุกเพศและทุกรสนิยมทางเพศสามารถสมรสกันได้

 

ทว่าองค์กรทางศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ ได้มีการต่อต้านการผ่านกฎหมายดังกล่าวอย่างแข็งกร้าว เนื่องจากเกรงว่าจะทำลายสถาบันครอบครัวดั้งเดิม มีการก่อตั้งองค์กรเครือข่ายศาสนาเพื่อปกป้องครอบครัวแห่งไต้หวัน (Taiwan Religious Alliance to Protect families) เพื่อต่อต้านกฎหมายสมรสเพื่อครอบครัวเพศหลากหลาย (Victoria, 2015), (Doris, 2017)

 

lgbtq ngo taiwan

TAPCPR เคลื่อนไหวกดดันกระทรวงยุติธรรมไต้หวันให้เร่งออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2013

 

ในปี 2013 สมาชิกสภาบริหารไต้หวัน เฉินมินตัง สังกัดพรรคก๊กมินตั๋ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมไต้หวันและสมาชิกพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นคัดค้านมิให้แตะต้องหรือแก้ไขกฎหมายแพ่งไต้หวัน และเสนอให้ออกกฎหมายเฉพาะในรูปแบบของกฎหมาย ‘การจดทะเบียนคู่ชีวิต’ เพื่อปกป้องสถาบันครอบครัวและรูปแบบการสมรสแบบดั้งเดิม จึงมีการชะลอพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวโดยอ้างเหตุผลว่าขอให้ประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่มีการยอมรับ LGBT มากขึ้นก่อน ร่างดังกล่าวจึงหยุดชะงัก

 

ในปี 2015 TAPCPR จึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกดดันกระทรวงยุติธรรมไต้หวันให้เร่งออกกฎหมาย แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

 

lgbtq ngo taiwan

กิจกรรมสมรสหมู่ LGBT ณ สำนักงานทะเบียนท้องถิ่น กรุงไทเป ไต้หวัน ปี 2014

 

TAPCPR ได้จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 พวกเขาร่วมจัดงานสมรสหมู่ LGBT ไต้หวันกับสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นกรุงไทเป แม้ว่าทุกคนต่างทราบดีว่าจะถูกปฏิเสธจากนายทะเบียน

 

หลังจากความชื่นชมยินดีที่ได้แสดงถึงสัญลักษณ์ของเสรีภาพของการสมรส สิ่งที่หลงเหลือคือใบคำร้องการจดทะเบียนสมรสที่ถูกปฏิเสธโดยเจ้าหน้าที่และน้ำตาแห่งความเศร้า พร้อมคำถามว่าเหตุใดพวกเขาถึงไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้

 

ทีมทนายความ TAPCPR ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันในปี 2016

 

ปี 2016 ฉีเฉียเหวยและ TAPCRP นักสู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ได้มาพบกันฉีเฉียเหวยและกรุงไทเป (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันเพื่อให้วินิจฉัยว่าการจำกัดสิทธิการสมรสแก่ LGBT ไต้หวันขัดต่อหลักการสิทธิในความเสมอภาคและสิทธิการสมรสตามรัฐธรรมนูญไต้หวัน

 

ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2017 ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันได้มี ‘คำวินิจฉัยที่ 748 คดีการสมรสเพศเดียวกัน’ ว่าการห้ามมิให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญไต้หวัน มาตรา 22 ว่าด้วยสิทธิในการสมรส และมาตรา 7 ว่าด้วยสิทธิในความเสมอภาค และมีคำสั่งให้รัฐดำเนินการแก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ภายใน 2 ปี หากเกิน 2 ปี ให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายได้โดยการยื่นคำขอจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนท้องที่ไต้หวัน (Judicial Yuan, 2017)

 

การชุมนุมเพื่อเรียกร้องกฎหมายสมรสเท่าเทียมของ Marriage Equality Coalition Taiwan (equallovetw) ณ กรุงไทเป ไต้หวัน ก่อนวันที่สภานิติบัญญัติไต้หวันจะพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย 17 พฤษภาคม 2019

 

เบื้องหลังความสำเร็จของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า TAPCPR มิได้ทำงานเคลื่อนไหวเพียงลำพัง แต่มีความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภายในชุมชน LGBT ไต้หวัน ได้แก่ เครือข่ายการสมรสเท่าเทียมไต้หวัน (Marriage Equality Coalition Taiwan or equallovetw) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ประกอบไปด้วย NGO ไต้หวันอีกหลายองค์กร ทั้ง TAPCPR และ equallovetw ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่อาจมีวิธีการเคลื่อนไหวแตกต่างกัน

 

อีกทั้ง TAPCPR ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างประเทศด้วย โดยในเดือนตุลาคม 2018 TAPCPR มีการจัดงาน International Forum Connect the Rainbow Dots Marriage Equality and LGBT Movement in East Asia ณ กรุงไทเป ไต้หวัน โดยได้เชิญนักกิจกรรม LGBT จากทั่วเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี และไทย มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของ LGBT ร่วมกัน (THE STANDARD, 2018)

 

TAPCPR ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำถามพ่วงประชามติผ่านสื่อโทรทัศน์ไต้หวัน ก่อนวันลงประชามติ 24 พฤศจิกายน 2018

 

lgbtq ngo taiwan

Marriage Equality Coalition Taiwan (equallovetw) รณรงค์ภาคสนามเพื่อขอการสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่สถานีรถไฟ ณ กรุงไทเป ไต้หวัน ก่อนวันลงประชามติ 24 พฤศจิกายน 2018

 

หลังข่าวดีจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันไม่นาน ในปี 2018 องค์กรที่ต่อต้านการสมรสเท่าเทียมได้ผลักดันคำถามพ่วงในการทำประชามติสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น

 

องค์กรที่ต่อต้านฯ เสนอคำถามนำเพื่อต่อต้านการขยายคำนิยามของการสมรสตามกฎหมายแพ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งไต้หวัน ตัวอย่างคำถามนำ ได้แก่ คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรสควรสงวนไว้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น ซึ่งหากผู้ตอบว่า ‘เห็นด้วย’ ย่อมหมายถึงการไม่เห็นด้วยต่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมของ LGBT

 

TAPCPR และ equallovetw แม้ว่าจะเป็นคนละองค์กร แต่มีเป้าหมายเดียวกัน ได้ร่วมกันตอบโต้การผลักดันคำถามพ่วงขององค์กรต่อต้านฯ ด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น TAPCPR ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำถามพ่วงประชามติผ่านสื่อโทรทัศน์ไต้หวัน ส่วน equallovetw ดำเนินการระดมทุนจากมวลชนเพื่อใช้ในการรณรงค์และจัดกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้ลงประชามติ

 

อาสาสมัครของ equallovetw จำนวนมากได้ออกรณรงค์ภาคสนาม แจกแผ่นพับ อธิบายข้อเท็จจริง และรณรงค์ประชาชนตามท้องถนนให้ลงประชามติโดยการตอบ ‘ไม่เห็นด้วย’ เพื่อสนับสนุนการสมรสเท่าเทียม บางคนใช้การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ บางคนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะลงประชามติก็ได้ร่วมรณรงค์กับญาติมิตร เพื่อนฝูง และประชาชนตามท้องถนน เพื่อขอการสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยเช่นกัน

 

ถึงแม้ว่า TAPCPR และ equallovetw จะทำงานรณรงค์อย่างหนัก แต่พวกเขาก็พ่ายแพ้ เพราะผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2018 ผู้ลงประชามติ 7.65 ล้านคนได้ตอบ ‘เห็นด้วย’ จำนวน 4.75 ล้านคน (62% ของผู้ตอบคำถาม) และตอบว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ จำนวน 2.90 ล้านคน (38% ของผู้ตอบคำถาม) (Central Election Commission Taiwan, 2018)

 

TAPCPR ได้ออกแถลงการณ์หลังผลประชามติว่า


1. ชุมชน LGBT ไต้หวันยังคงยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในการสมรสและการให้การศึกษาเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศต่อไป


2. ขอให้ฝ่ายบริหารของรัฐบาลปฏิบัติตามคำวินิจฉัยที่ 748 ของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกคนมีเสรีภาพในการสมรส และได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมาย


3. ขอประณามการกระทำขององค์กรที่ฉวยโอกาสในกระบวนการประชามติเพื่อเอาชัยชนะโดยมิชอบ แทนที่จะใช้การเจรจาด้วยหลักการและเหตุผล

 

lgbtq ngo taiwan

lgbtq ngo taiwan

 

วันที่ 17 พฤษภาคม 2019 สภานิติบัญญัติไต้หวันได้ผ่านกฎหมายที่ชื่อว่า กฎหมายประกอบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 748 (ขอย่อว่า ‘กฎหมาย 748’) โดยสาระสำคัญของกฎหมายคือให้บุคคลสองคนที่มีเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนตามกฎหมายนี้ในรูปแบบของกฎหมายเฉพาะ และเมื่อจดทะเบียนแล้ว บุคคลทั้งสองถือเป็น ‘คู่สมรส’ เหมือนกับคู่สมรสชายหญิงที่จดทะเบียนตามกฎหมายแพ่ง (โปรดดูตารางเปรียบเทียบ)

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนการผ่านร่างกฎหมาย TAPCPR ได้ออกแถลงการณ์ต่อร่างกฎหมาย 748 ว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ถือเป็นความเสมอภาคที่แท้จริง (True Equality) ด้วยเหตุผลคือ

 

1. กฎหมาย 748 อนุญาตให้คู่สมรสตามกฎหมายนี้รับบุตรบุญธรรมร่วมกันเฉพาะเด็กที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่กฎหมายแพ่งไม่มีข้อจำกัดนี้ ทำให้คู่สมรส LGBT ไม่สามารถรับเด็กอื่นที่มิใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของอีกฝ่ายเป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ เช่น การรับเด็กที่ถูกทอดทิ้งในสถานรับเด็กกำพร้าหรือลูกของญาติมาเป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

 

2. กฎหมาย 748 มิได้บัญญัติอนุญาตให้คู่สมรสทั้งสองสามารถมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (อุ้มบุญ) ได้

 

3. กฎหมาย 748 จำกัดการสมรสเฉพาะบุคคลสัญชาติไต้หวันทั้งสองฝ่าย กรณีที่อีกฝ่ายเป็นคนต่างชาติ จะต้องเป็นประเทศที่มีกฎหมายสมรสสำหรับบุคคลเพศเดียวกันเท่านั้น ในขณะที่กฎหมายแพ่งมิได้มีข้อหวงห้ามดังกล่าว

 

หลังจากวันจดทะเบียนสมรสคู่รัก LGBT วันแรก ณ ถนนไข่ต๋าเก๋อหลัน (Ketagalan Boulevard) กรุงไทเป เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2019 TAPCPR จัดให้มีงานเลี้ยงแบบโต๊ะจีน มีคู่สมรส LGBT ที่ได้ไปจดทะเบียนสมรสแล้วกว่า 100 คู่เข้าร่วมงาน

 

ผู้ก่อตั้ง TAPCPR ชีเชียวเหวินและเจียเชียเฉียนให้สัมภาษณ์ว่า “การต่อสู้ระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาถือว่านานเพียงพอ ถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะไม่ได้ตามที่ต้องการ แต่เธอก็ถือว่าดีที่สุดในสถานการณ์และบริบทของสังคมในขณะนี้ การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคที่แท้จริงยังไม่สิ้นสุดจนกว่า LGBT ไต้หวันจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ มีความภาคภูมิใจที่จะออกมาเปิดเผยตัวตนอย่างไม่มีความหวาดกลัว เธอจำได้ว่าในปี 2013 TAPCPR ได้จัดงานเลี้ยงเพื่อระดมทุนที่ถนนไข่ต๋าเก๋อหลันเช่นเดียวกัน และเคยสัญญาว่าเราจะจัดงานเลี้ยงที่นี่พร้อมกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกครั้ง และในปี 2019 เธอได้ออกมาทำตามสัญญา และเธอตั้งปณิธานว่ายังคงทำงานต่อไปอีกเรื่อยๆ เพื่อความเสมอภาคที่แท้จริงต่อไป”

 

TAPCPR พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยจนได้เป้าหมายที่ชัดเจน และเมื่อได้เป้าหมายที่ถูกต้องและทุกฝ่ายเห็นชอบแล้ว TAPCPR และเครือข่ายองค์กรฯ ได้มุ่งไปสู่เป้าหมายโดยใช้ทุกวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าวิธีการของแต่ละองค์กรอาจแตกต่างกัน แต่เมื่อมีเป้าหมายเดียวกันแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแม้จะไม่ถึงเป้าหมายอย่างสมบูรณ์แบบก็เป็นรางวัลตอบแทนที่คุ้มค่า

 

นอกจากนั้นการรวมตัวของชุมชน LGBT และชายหญิงทั่วไปของไต้หวันจำนวนนับแสนคน ทั้งในการเรียกร้องประจำปีในงานไต้หวันไพรด์ และการเรียกร้องเพื่อการสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นได้จากหัวใจแห่งเสรีประชาธิปไตย หัวใจที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเท่าเทียม อาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและกฎหมาย การเคลื่อนไหวเรียกร้องผ่านระบบอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน อันประกอบด้วย ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จในการผ่านกฎหมาย 748 นั่นเอง

 

กลับมาที่เมืองไทย ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นไม่น้อยที่แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์การเคลื่อนไหว การเรียกร้องสิทธิการสมรสเท่าเทียมของ LGBT ไทย เช่น

 

ปี 2012 คู่ชายรักชายคู่หนึ่งขอจดทะเบียนสมรสที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ถูกปฏิเสธ

 

ปี 2013 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเสนอร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตร่างแรก

 

ปี 2015 คู่รักชายรักชาย กอร์ดอน เลก ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (คำร้อง 463/2558) ว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการไม่สามารถปกครอง ด.ญ.คาร์เมน ที่เกิดจากการอุ้มบุญ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขอเวลาศึกษาวิจัยประเด็นดังกล่าว

 

ปี 2018 คู่รัก LGBT คู่หนึ่งยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตาม พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อวินิจฉัยว่าบุคคลทั้งสองถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เนื่องจากไม่สามารถสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2019 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (ForSogi) ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การห้ามไม่ให้คู่รัก LGBT สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ว่าด้วยความเสมอภาคของบุคคล

 

คงมีผู้สงสัยไม่น้อยว่าผ่านมาแล้วเกือบ 8 ปีนับแต่คู่รักชายรักชายถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสที่เชียงใหม่ในปี 2012 เหตุใดเมืองไทยจึงยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือแม้แต่กฎหมายรูปแบบอื่นใดที่จะคุ้มครองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ของพลเมือง LGBT ไทย

 

ทั้งที่รัฐบาลไทยได้เคยให้คำมั่นสัญญาในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review – UPR) แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2559 ว่าจะทบทวนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยที่จำกัดสิทธิการสมรส LGBT ไทย

 

อีกทั้งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (สมัยรัฐบาล พ.ศ. 2557-2561) ก็เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะผ่านกฎหมายรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ของ LGBT ภายในปี 2561

 

หรือว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรี ความเท่าเทียมในฐานะพลเมืองชาวไทยตามระบอบประชาธิปไตยของเรายังไม่เพียงพอ?

 

ภาพประกอบ: Dreaminem

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง

FYI

ขอขอบคุณ:

  • หวังเชนเหอ สนับสนุนข้อมูลไต้หวันและช่วยสอบทานภาษาจีน
  • อ.ติณพัฒน์ แก้วยอดทิวัตถ์ ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี – ช่วยแปล
  • ภาพประกอบและข้อมูลจาก

社團法人台灣伴侶權益推動聯盟

尤美女立委

鄭麗君

 

สืบค้นกฎหมายจาก

 

ไต้หวัน:

 

ประเทศไทย:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X