×

Taiwan LGBT Pride งานแห่งเสรีภาพ ความรัก ความเท่าเทียม ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

31.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. read
  • ไม่เพียงแต่ไต้หวันกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกในเอเชียที่ออกกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม ปี 2017 ที่ผ่านมา ไต้หวันได้สร้างประวัติศาสตร์ในการที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน Taiwan Pride Parade สูงที่สุดเป็นจำนวนกว่า 123,000 คน
  • ในปีนี้องค์กรผู้จัดงาน Taiwan LGBT Pride Community ตั้งเป้าจะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเพศศึกษา (sex education) โดยมีสโลแกนว่า ‘Make Love, Not War-Sex Ed is the Way to Go’ โดยโฟกัสที่ ‘Gender Equity Education’ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้และเคารพปัจเจกบุคคลที่มีความแตกต่างทางเพศกำเนิด รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ
  • THE STANDARD ได้เก็บภาพบรรยากาศงาน Taiwan Pride Parade ครั้งประวัติศาสตร์ ณ ใจกลางกรุงไทเป พร้อมเก็บบทสนทนากับผู้เข้าร่วมงานถึงการเป็นส่วนหนึ่งในงานพาเหรดในปี 2017

 

 

     ไม่เพียงแต่ไต้หวันกำลังจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกในเอเชียที่ออกกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม ปี 2017 ที่ผ่านมา ไต้หวันได้สร้างประวัติศาสตร์ในการที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน Taiwan Pride Parade สูงที่สุดเป็นจำนวนกว่า 123,000 คน

     งานเกย์พาเหรดปีที่ 15 นี้ได้รับความร่วมมือจาก 160 องค์กรเอกชน องค์กรอิสระ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศกว่า 20 ประเทศ ซึ่งผู้จัดงานได้แบ่งเส้นทางการเดินในปีนี้เป็น 3 เส้นทางเพื่อรองรับจำนวนคนที่สนใจและอยากแสดงการสนับสนุน ในแต่ละเส้นทางนั้นมีชาว LGBT ทั้งจากไต้หวัน เพื่อนบ้านในเอเชียรวมทั้งชาวไทย และผู้คนที่เดินทางมาจากทั่วโลก รวมเป็นจำนวนมากกว่าแสนคน

 

 

     ไม่เพียงแต่งาน Taiwan LGBT Pride จะเป็นขบวนพาเหรดสร้างความสนุกสนานตื่นตาตื่นใจเท่านั้น แต่งานนี้ยังนับเป็นงานเดินขบวน (Pride March) ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว (movement) และเป็นการร่วมกันแสดงพลังของกลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ที่สนับสนุนความเท่าเทียม และเสรีภาพสำหรับทุกคนด้วย

     ในปีนี้องค์กรผู้จัดงาน Taiwan LGBT Pride Community ตั้งเป้าจะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเพศศึกษา (sex education) โดยมีสโลแกนว่า ‘Make Love, Not War-Sex Ed is the Way to Go’ โดยโฟกัสที่ ‘Gender Equity Education’ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้และเคารพปัจเจกบุคคลที่มีความแตกต่างทางเพศกำเนิด รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ (biological sexes, sexual orientations, gender identities and gender expressions) ซึ่งจะนำไปสู่การลดใช้ความรุนแรงด้วยกายและวาจาที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติ ซึ่งร่างแรกของกฎหมายมาตรานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000 โดยโฟกัสไปที่การรักต่างเพศ (heterosexuality) และชุดความคิดของการมีสองเพศ ตลอดมาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง

     แต่ถ้าหากการศึกษาให้คุณค่าแก่ความหลากหลายทางเพศ คนเราจะตระหนักว่าความแตกต่างของตนเองนั้นไม่ใช่ความผิดได้ตั้งแต่วัยเยาว์ และยังสามารถเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นความมั่นใจและอัตลักษณ์ที่ชัดเจนได้ต่อไป

 

 

     งานพาเหรดเริ่มต้นจากการรวมตัวที่บริเวณถนน Ketagalan Boulevard หน้าทำเนียบประธานาธิบดี แบ่งเป็น 3 เส้นทาง ผ่านหลายย่านสำคัญของไทเป ไม่ว่าจะเป็นย่านซีเหมินติง ซึ่งเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นและนักท่องเที่ยว ย่านสถาบันการศึกษา ดึงดูดความสนใจจากผู้คนที่สัญจรไปมาตลอดเวลากว่าสองชั่วโมง หลังจากนั้นก็เดินกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อร่วมกิจกรรมช่วงค่ำ มีการปาฐกถา และการแสดงโชว์และดนตรีบนเวทีจนถึงเวลาค่ำของวันเสาร์

 

 

     THE STANDARD ได้เก็บภาพบรรยากาศงาน Taiwan Pride Parade ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ณ ใจกลางกรุงไทเป พร้อมเก็บบทสนทนากับผู้เข้าร่วมงานถึงการเป็นส่วนหนึ่งในงานพาเหรดในปีนี้ รวมทั้งคำถามเกี่ยวกับกฎหมายแต่งงานสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน และข้อความที่อยากส่งผ่านไปถึงคนที่กำลังตัดสินใจจะเข้าร่วมงาน LGBT Pride ในโอกาสหน้า

 

 

     “พวกเรามางาน Pride เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ก่อนหน้านี้ไปงานที่เมืองไถหนานมา เราอยากจะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในประเทศ สำหรับปีนี้มีเส้นทางสำหรับขบวนพาเหรดมากกว่าปีก่อน คนก็เยอะมากขึ้นมาก ก็น่าจะมาจากการตื่นตัวที่กฎหมายกำลังจะผ่าน ซึ่งพวกเราก็ตื่นเต้นมากๆ กับข่าวดีนี้” Woot และ Sayal คู่รักที่ใช้เวลาร่วมกันมามากกว่า 3 ปี

 

 

     “การร่วมงาน Taiwan Pride ปีนี้เป็นครั้งแรกของพวกเรา ก่อนหน้านี้มักจะติดงานเสมอ พอปีนี้วันหยุดตรงกับวันงานพาเหรดเราก็ไม่ลังเลที่จะมาร่วมงานเลย หวังว่าพลังของพวกเราจะช่วยเร่งให้ทางรัฐเร่งกฎหมายแต่งงานของเพศเดียวกันให้เร็วขึ้น” Sean (ทางซ้าย) กล่าว Sean และ Issace เป็นเพื่อนที่รู้จักกันมากว่า 5 ปี ก่อนที่จะพัฒนาความสัมพันธ์เป็นคู่รัก

     เมื่อถามว่ามีข้อความอะไรอยากฝากไปถึงคนที่กำลังที่ตัดสินใจอยากร่วมงาน LGBT Pride เป็นครั้งแรก แต่ยังมีความกลัวอยู่ Sean ตอบว่า “ผมว่าจริงๆ แล้วมันโอเคนะที่คุณจะกลัว เพราะในวัฒนธรรมของเอเชียเรานี่มีความกดดันต่อชาว LGBT จากทั้งครอบครัวและทางสังคมสูงมากๆ มันไม่แปลกเลยที่คนจะกลัวกัน กลัวที่จะเปิดเผยตัวตน กลัวที่จะสนับสนุน ถ้าหากคุณเจอพื้นที่ที่สามารถเป็นตัวเองได้แม้จะต้องหลบซ่อนก็ยังดีกว่า แต่ที่สำคัญคือต้องไม่ทิ้งความเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งเราจะสามารถขยายพื้นที่นั้น และสามารถเป็นตัวเองได้ในทุกที่อย่างสบายใจ

     “ถึงแม้ผมจะมายืนอยู่ที่นี่วันนี้ ผมเองก็ยังมีความกลัว แต่ผมเลือกที่จะมาที่นี่เพื่อสนับสนุนความรักของผมและของทุกคนที่นี่ ผมมีครอบครัวที่ค่อนข้างหัวเก่า มีความคาดหวังให้ผมซึ่งเป็นลูกชายคนเดียวสืบสกุลต่อด้วยการแต่งงานมีครอบครัว ทุกวันนี้คิดว่าพวกเขาก็คงรู้เรื่องราวของผมแต่ไม่อยากพูดถึงมัน ผมรู้ว่าครอบครัวรักผม แต่ก็ยังหวังว่าวันหนึ่งจะได้รับการยอมรับในตัวตนของผมและความสัมพันธ์นี้” Issac ตอบเสริม

 

 

     “ฉันมาร่วมงาน Pride เป็นปีที่ 2 แล้ว รู้สึกว่าปีนี้จะเห็นชาวต่างชาติมากขึ้น คิดว่าคงเป็นเพราะมีข่าวว่าพวกเรากำลังจะมีกฎหมายการแต่งงาน ซึ่งสำหรับฉันนั้นเชื่อว่าพวกเราทุกคนควรออกมาแสดงจุดยืนเพื่อสิทธิของพวกเราเอง เช่นเดียวกับที่ทุกคนตรงนี้มารวมตัวกันเพื่อส่งข้อความออกไปว่า ‘รักคือรัก ไม่มีความแตกต่างกันในความรัก’ (Love is Love. There’s no differences.) ฉันรู้สึกว่าตอนนี้โลกของเรามันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่ากลัวตัวตนของตัวเองเลย ที่นี่มีคนมากมายที่พร้อมสนับสนุนตัวตนของคุณอย่างเต็มที่” Lynn ชาวไต้หวัน วัย 22 ปี ที่มาร่วมงานพร้อมเพื่อนสนิท

     เมื่อถามถึงข่าวที่ไต้หวันใกล้จะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานและมีผลทางกฎหมายได้นั้น Lynn เปิดใจว่า “ฉันรู้สึกตื่นเต้นมากๆ การแต่งงานถือเป็นความฝันของฉันเลย วันหนึ่งฉันก็อยากจะมีครอบครัว แพลนไว้ว่าจะเลี้ยงหมาสองตัวและแมวอีกสองตัว”

     ก่อนที่ Nate เพื่อนสาวคนสนิทจะกล่าวเสริมว่า “ฉันมาร่วมงาน Taiwan Pride ถึงแม้ฉันจะมีแฟนเป็นผู้ชาย แต่ก็อยากมาร่วมงานเพื่อสนับสนุนเพื่อนรักของฉัน และแฮปปี้ที่จะได้เห็นชาว LGBT ทุกคนจะสามารถแต่งงาน ฉันรู้สึกดีที่จะได้โลกที่มีความเท่าเทียมกัน”

 

 

     “ผมมาร่วมงานหลายครั้งแล้ว และผมชอบเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ‘Free Hugs’ ที่การโอบกอดได้ส่งต่อความอบอุ่นให้กับคนอื่น ผมรู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Taiwan LGBT Pride ทุกครั้ง แม้ผมจะเป็นคนมาเลเซียก็ตาม ซึ่งถ้าหากให้ผมเปรียบเทียบระหว่างไต้หวันและมาเลเซียมีความแตกต่างอย่างชัดเจน อย่างในอนาคตที่ไต้หวันจะผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน ยังไงก็จะมีคนที่ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดี แต่ด้วยความเข้มแข็งของประชาธิปไตยในไต้หวัน คนเหล่านั้นเขาก็ต้องเคารพเสียงข้างมาก และคิดถึงความเท่าเทียมกันของสิทธิประชนชนของคนอื่น แต่ในขณะที่มาเลเซียกลายเป็นรัฐศาสนาที่ตีความ LGBT เป็นความผิดทางศาสนา ทำให้ประชาชนไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้” หนุ่มชาวมาเลเซีย วัย 34 ปีที่ ปัจจุบันทำงานและพำนักในไต้หวันมานานมากกว่า 10 ปีเผยความรู้สึก

 

 

     “เรามาร่วมงานปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว แต่ปีนี้รู้สึกว่ามีชาวต่างชาติมาร่วมเยอะเป็นพิเศษ คงเห็นว่างาน Taiwan LGBT Pride เป็นงานใหญ่ รวมถึงข่าวที่เรากำลังจะมีกฎหมาย equal marriage ก็ทำให้เห็นถึงเสรีภาพในสังคมไต้หวัน รวมถึงความกล้าหาญของทุกคนที่มาจากความรัก” River (ทางขวา) กล่าว

     เมื่อถามถึงมุมมองในเรื่องการแต่งงานและกฎหมาย Emily (ทางซ้าย) นักศึกษาวัย 20 ปี แสดงความคิดเห็นว่า “เราเชื่อว่าการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันก็ไม่ได้แตกต่างจากคู่ชายหญิง เพราะมันก็คือความรักเหมือนกัน และมองว่าการเปลี่ยนกฎหมายก็คงไม่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป แต่การศึกษาต่างหากที่จะเปลี่ยนสังคม เราต้องสอนให้เด็กรุ่นใหม่มองโลกในมุมใหม่ที่ต่างออกไป สอนให้รู้จักถึงความเท่าเทียมในสังคม แล้วพวกเขาจะเข้าใจและยอมรับความแตกต่างในสังคมได้”

 

 

อ้างอิง:

FYI
  1.  
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X