ไต้หวันได้รับเสียงชื่นชมจากความสำเร็จในการควบคุมโควิดเมื่อปีที่แล้ว ด้วยสถิติไม่พบผู้ติดเชื้อในชุมชนติดต่อกันยาวนานถึง 200 วัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า แล้วเหตุใดไต้หวันซึ่งเคยคุมโควิดได้จึงกลับมาเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ ทั้งยังเป็นการระบาดที่รุนแรงอีกด้วย โดยเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตที่อยู่ในระดับสูงอย่างน่าตกใจ
แม้ไต้หวันมีผู้เสียชีวิตจากโควิดรวมไม่ถึง 800 ราย แต่ที่น่าตกใจคือ 500 รายในจำนวนนี้เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว ทำให้อัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อในไต้หวันสูงพอๆ กับอิตาลีและสหราชอาณาจักรในช่วงเดือนแรกๆ ของปี 2020 ที่ไวรัสเพิ่งเริ่มระบาด โดยรวมแล้วอัตราการเสียชีวิตตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดในไต้หวันอยู่ที่ 5% ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ในเอเชีย เช่น ฮ่องกง ซึ่งอยู่ที่ 1.8% และ 0.1% ในสิงคโปร์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายรายแสดงความเห็นว่า ที่ไต้หวันมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดสูงนั้นเป็นเพราะไต้หวันไม่ได้เตรียมความพร้อม
ลัม ชิงชอย แพทย์ชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้นำฮ่องกง และเป็นสมาชิกของคณะทำงานด้านการฉีดวัคซีนของรัฐบาลฮ่องกง กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงว่า ฮ่องกงดำเนินนโยบายคุมเข้มชายแดนและการกักกันที่เข้มงวดในลักษณะเดียวกันกับไต้หวัน โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาในดินแดน ฮ่องกงใช้การระบาดระลอกที่ 4 เพื่อเรียนรู้และสร้างขีดความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุข แต่ดูเหมือนว่าไต้หวันไม่ได้ดำเนินการมากพอที่จะเพิ่มการตรวจหาเชื้อ เตรียมความพร้อมของระบบการแพทย์ หรือการจัดหาวัคซีน
“ผมรู้สึกผิดหวัง บางทีผมอาจเข้าใจผิดที่คิดไปว่าไต้หวันจะใช้เวลาในปีที่แล้วเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการรองรับ” แพทย์ชาวฮ่องกงกล่าว
ไต้หวันมีอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ป่วยโควิดสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งอัตราการเสียชีวิตในระดับสูงของไต้หวันตอกย้ำถึงให้เห็นถึงความเสียหายจากการที่รัฐบาลไม่ฉวยโอกาสในช่วงที่ยอดผู้ติดเชื้อนิ่งด้วยการเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีน ปรับปรุงความสามารถในการตรวจโรค และเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาล โดยในส่วนของการจัดหาวัคซีนที่เป็นปัญหา ส่วนหนึ่งเองก็เป็นเพราะรัฐบาลลงนามในคำสั่งซื้อช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
จำนวนผู้เสียชีวิตที่ค่อนข้างมากในช่วงเวลาอันสั้นยังแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของหลายประเทศในเอเชียที่ใช้กลยุทธ์ ‘COVID Zero’ เพื่อจำกัดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศให้เป็นศูนย์ โดยเฉพาะประเทศและเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว เช่น ฮ่องกง นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ที่กำลังพยายามสกัดสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดเร็วและแรงไปทั่วโลก
โดยถึงแม้มีการคุมเข้มพรมแดนอย่างเคร่งครัด แต่สายพันธุ์เดลตาก็ยังเล็ดลอดเข้าไปแพร่ระบาดในออสเตรเลียได้ คล้ายกับที่ไต้หวันซึ่งมีการกักตัวและใช้ข้อจำกัดต่างๆ กับผู้เดินทางเป็นเวลาหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ดีขณะนี้ไต้หวันได้ปรับนโยบาย จากเดิมตั้งเป้าที่จะไม่ให้มีผู้ติดเชื้อจากภายนอกเข้ามาในไต้หวันได้เลย เปลี่ยนเป็นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำที่ทางการสามารถจัดการได้
ฉวง เจวินเซียง โฆษกศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตที่สูงในไต้หวันเกิดจากการระบาดระลอกนี้เกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุ โดย 90% ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นยังสร้างความตึงเครียดให้กับโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข ทำให้มีผู้ติดเชื้อถูกทิ้งไว้ตามบ้านหรือในสถานที่กักตัวส่วนกลาง
“ไต้หวันเหมือนกับอีกหลายประเทศที่ไม่สามารถปรับระบบการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดการระบาด ส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตสูงในไต้หวันและทั่วโลก” ฉวงกล่าว “ไม่ว่าจะมีเตียงในโรงพยาบาลกี่เตียงก็ไม่เคยพอ เรามีแผนฉุกเฉิน แต่ต้องใช้เวลาในการตอบสนอง”
นอกจากนี้ระบบการรักษาพยาบาลของไต้หวันยังได้รับงบประมาณที่จำกัด ทำให้โรงพยาบาลและคลินิกทุกแห่งมีเพดานการใช้จ่ายต่อปี ทั้งยังต้องแข่งขันกันเองเพื่อหาทุน ไม่เหมือนในสหราชอาณาจักรหรือแคนาดาที่แต่ละองค์กรมีงบประมาณของตัวเอง ฉวง หงเจวิน ศาสตราจารย์วุฒิคุณจากสถาบันสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัย National Yang Ming Chiao Tung และอดีตหัวหน้าศูนย์ควบคุมโรคไต้หวันกล่าว
อย่างไรก็ดีอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อนั้นแปรเปลี่ยนไปเมื่อเวลาผ่านไป ยกตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรและอิตาลีที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงในการระบาดระลอกแรก ก็มีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงในการระบาดระลอกต่อๆ มา เนื่องจากผู้บริหารประเทศและแพทย์ได้เรียนรู้วิธีรับมือกับโรคนี้มากขึ้นเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย
โดยถึงแม้ยังคงอยู่ตามหลังพื้นที่อื่นๆ ของเอเชีย ซึ่งรวมถึงฮ่องกงและสิงคโปร์ แต่อัตราการฉีดวัคซีนของไต้หวันเริ่มกระเตื้องขึ้นหลังได้รับบริจาควัคซีนจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เชื่อว่าหากเกิดการระบาดระลอกใหม่หลังจากนี้ ไต้หวันก็ไม่น่าจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากแบบที่ผ่านมา โดยปัจจุบันไต้หวันฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปแล้วกว่า 60% ขณะที่อัตราส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสเพิ่มขึ้นเป็น 27.4%
ทั้งนี้ไต้หวันไม่พบผู้เสียชีวิตรายใหม่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา และจำนวนผู้ป่วยโควิดในห้อง ICU ของโรงพยาบาลลดลง 60% จากระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 169 ราย
“มันยากที่จะเตรียมการล่วงหน้าหากไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง” โทนี่ เฉิน อาจารย์จากวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน กล่าว “เราหวังว่าไต้หวันจะได้เรียนรู้บทเรียนนี้”
ภาพ: Walid Berrazeg / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: