อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของ ไต้หวัน กำลังคุกคามแหล่งรวมหัวกะทิด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ส่งผลให้เกาะแห่งนี้หันมาพึ่งพานักศึกษาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย เพื่อเติมเต็มแรงงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหมิงซิน ตั้งอยู่ชานเมืองซินจู๋ เมืองที่ได้รับฉายาว่า ‘Silicon Valley ของไต้หวัน’ นักศึกษาที่นี่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์จริง
นักศึกษายังสามารถฝึกงานกับบริษัทชิปชั้นนำ เช่น Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. (TSMC), ASE Technology Holding และ Powertech Technology
สาขาด้านเซมิคอนดักเตอร์ของ MUST ซึ่งได้รับการขนานนามว่า ‘Mini TSMC’ มุ่งเป้าไปที่การผลิตผู้เชี่ยวชาญที่จะกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับนายจ้างในอนาคต นักศึกษาเกือบ 700 คนจากจำนวน 2,300 คนมาจากเวียดนาม
นักศึกษาเวียดนามคนหนึ่งในหลักสูตรปริญญาโทเลือกเรียนต่อที่ไต้หวันเพื่อเรียนรู้จากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก ชายหนุ่มวัย 23 ปีวางแผนที่จะทำงานในบริษัทไต้หวันเป็นเวลา 3 หรือ 4 ปีหลังจากสำเร็จการศึกษา เพื่อสั่งสมประสบการณ์
โครงการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนผู้มีความสามารถในบริษัทเทคโนโลยีของไต้หวัน ซึ่งต้องการแรงงานอีกหลายหมื่นคนเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
อัตราค่าจ้างที่หยุดนิ่ง ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และแรงกดดันอื่นๆ ส่งผลให้อัตราการเกิดของไต้หวันลดลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนทารกเกิดใหม่ต่อปีลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์เหลือประมาณ 1.35 แสนคนในปี 2023 จากกว่า 3 แสนคนในช่วงทศวรรษ 1990
ในขณะเดียวกัน การแข่งขันเพื่อค้นหาหัวกะทิในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น TSMC เพียงแห่งเดียวปัจจุบันจ้างพนักงานมากกว่า 6,000 คนต่อปี
คาดว่าความต้องการชิปจะเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความก้าวหน้าของ Generative AI และเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งการพึ่งพาอุตสาหกรรมชิปของไต้หวันทำให้รัฐบาล ธุรกิจ และสถาบันการศึกษา ต้องเผชิญกับแรงกดดันในการหาแนวทางระยะยาวเพื่อแรงงานที่มีทักษะสูง
นักศึกษาต่างชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆ ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชัน ไต้หวันประกาศแผนเมื่อปีที่แล้วที่จะใช้จ่าย 5.2 พันล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ประมาณ 6 พันล้านบาท) ภายในปี 2028 เพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ 3.2 แสนคนภายในปี 2030 โดยเน้นไปที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการรับนักศึกษาในอัตราเพิ่มขึ้น 2 เท่า
ไต้หวันยังเปิดตัวกรอบการทำงานใหม่ในปีนี้ โดยรัฐบาลและนายจ้างให้การสนับสนุนทางการเงินแก่นักศึกษาต่างชาติเพื่อแลกกับการทำงานในไต้หวันเป็นระยะเวลาหนึ่งหลังจากสำเร็จการศึกษา เป้าหมายคือการให้นักศึกษาต่างชาติประมาณ 70% ทำงานในไต้หวันหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีตัวเลขราว 40%
อ้างอิง: