×

เงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่า 9% ใน 2 วัน จากแรงเทขายของผู้ส่งออก จับตาสถานการณ์ Plaza Accord 2.0

07.05.2025
  • LOADING...

ตลาดการเงินทั่วโลกกำลังจับตามองค่าเงิน ดอลลาร์ไต้หวัน (TWD) อย่างใกล้ชิด หลังเผชิญความผันผวนอย่างหนักในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม โดยแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง 9% ใน 2 วัน ก่อนจะย่อตัวลงอย่างรวดเร็วในวันอังคารที่ผ่านมา (6 พฤษภาคม) ท่ามกลางกระแสคาดการณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการแทรกแซงของธนาคารกลาง และนัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในวงกว้าง

 

ปรากฏการณ์แข็งค่าทุบสถิติ สู่การย่อตัวฉับพลัน

 

ในช่วงเปิดสัปดาห์ (จันทร์ที่ 5 พฤษภาคม) ค่าเงินดอลลาร์ไต้หวันสร้างความประหลาดใจด้วยการแข็งค่ารายวันที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่อย่างน้อยปี 1981 ตามข้อมูลของ LSEG 

 

และเมื่อรวมกับการปรับตัวขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน (1-2 พฤษภาคม) ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ไต้หวัน ทะยานขึ้นรวมกว่า 9% ในช่วงเพียงสองวันทำการ แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ก่อนที่จะ อ่อนค่าลงกว่า 3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในวันอังคาร (6 พฤษภาคม) 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการย่อตัวลง แต่หากนับตั้งแต่ต้นปี ดอลลาร์ไต้หวันยังคงแข็งค่าขึ้นกว่า 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงในสัดส่วนเดียวกัน

 

เดวิด เชา นักกลยุทธ์ตลาดโลกของ Invesco ให้ความเห็นว่า “เรากำลังเห็นการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่ผันผวนมากกว่าที่เราเคยเห็นในช่วงวิกฤตการเงินเอเชียเสียอีก”

 

เบื้องหลังการแข็งค่าอย่างรวดเร็ว 

 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การทะยานขึ้นอย่างรุนแรงของดอลลาร์ไต้หวันในช่วงก่อนหน้า มีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญหลายประการ ได้แก่

 

  1. ผู้ส่งออกเร่งแปลงดอลลาร์สหรัฐ: ข้อมูลเศรษฐกิจไต้หวันที่แข็งแกร่ง (GDP ไตรมาส 1/68 เติบโตดี) และการฟื้นตัวของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ประกอบกับบทความในนิตยสารท้องถิ่นที่จุดประเด็นว่ารัฐบาลไต้หวันอาจยอมให้ค่าเงินแข็งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ส่งออกไต้หวันรีบเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่ถือครองอยู่ออกมาเพื่อแลกกลับเป็นสกุลเงินท้องถิ่นอย่างหนัก

 

  1. บริษัทประกันชีวิตเร่งป้องกันความเสี่ยง (Hedging): บริษัทประกันชีวิตไต้หวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดในเอเชีย (มีสินทรัพย์ต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นหนี้สหรัฐฯ มูลค่ากว่า 23 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 7.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ (ราว 65% ณ สิ้นปีที่แล้ว) ได้เร่งทำการป้องกันความเสี่ยงจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มแรงซื้อดอลลาร์ไต้หวัน

 

บทบาทของธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) และเกมการเจรจาการค้า

 

การที่ธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) ดูเหมือนจะนิ่งไปอย่างผิดสังเกตในช่วงที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง ได้จุดกระแสคาดการณ์ว่าทางการไต้หวันอาจกำลัง “อดทน” ต่อการแข็งค่าของค่าเงินเพื่อหวังผลประโยชน์หรือข้อได้เปรียบในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ 

 

สเตฟาน แองกริก หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นและตลาด Frontier ของ Moody’s Analytics ให้ความเห็นว่า “ธนาคารกลางมีท่าทีนิ่งเฉยอย่างผิดปกติท่ามกลางปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่พุ่งสูง”

 

แม้ว่าเมื่อวันจันทร์ (5 พฤษภาคม) นายหยาง จิน-หลง ผู้ว่าการธนาคารกลางไต้หวัน จะแถลงข่าวว่า CBC ได้เข้าแทรกแซงเพื่อสกัดกั้นสิ่งที่เห็นว่าเป็นกระแสเงินทุนไหลเข้าที่มากเกินไป พร้อมทั้งปฏิเสธข่าวลือที่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ แต่นายแองกริกกลับมองว่า อัตราแลกเปลี่ยนอาจ “ถูกหยิบยกขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาอย่างเงียบๆ ในการพูดคุยเรื่องการค้าในภาพรวมระหว่างสหรัฐฯ-ไต้หวัน”

 

ขณะที่ ไมเคิล วัน นักกลยุทธ์ FX ของ MUFG Bank มองว่า การย่อตัวของดอลลาร์ไต้หวันในวันอังคารเป็นผลมาจากแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐที่กลับมาของผู้นำเข้า และเชื่อว่า CBC ยังไม่ได้เข้าแทรกแซงอย่างจริงจังมากนัก

 

มีรายงานว่า คณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินของไต้หวัน (FSC) ได้เรียกประชุมบริษัทประกันรายใหญ่บางแห่งเพื่อประเมินความเสี่ยงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงต่อพอร์ตลงทุนพันธบัตรสหรัฐฯ ของพวกเขา โดยมีบริษัทประกัน 3 แห่งแจ้งว่าระดับเงินกองทุนตามความเสี่ยง (RBC) ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานผลกระทบต่อผู้ส่งออกไต้หวัน และความหวั่นใจ ‘Plaza Accord 2.0’

 

การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของดอลลาร์ไต้หวันได้สร้างแรงกดดันต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี หุ้นของ TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยร่วงลงเกือบ 2% ในวันอังคาร 

 

เบรดี้ หวัง (ผู้อำนวยการสมทบของ Counterpoint Research ประเมินว่า ทุกๆ 1% ที่ดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าขึ้น จะส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของ TSMC ลดลงประมาณ 0.4% เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของ TSMC อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ฐานการผลิตหลักอยู่ในไต้หวัน โดย TSMC คาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 2 โดยอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32.5 TWD/USD

 

อย่างไรก็ตาม แองกริก เสริมว่า อุปสงค์ชิปทั่วโลกที่ยังคงแข็งแกร่งจากกระแส AI และความต้องการชิปขั้นสูง อาจช่วยลดทอนผลกระทบได้บ้าง เนื่องจากไต้หวันยังคงเป็นซัพพลายเออร์สำคัญที่มีคู่แข่งน้อยราย ขณะที่ เฟลิกซ์ ลี นักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของ Morningstar ชี้ว่า ผู้ส่งออกรายใหญ่จำนวนมาก เช่น TSMC มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินที่ดีพอสมควร

 

ปรากฏการณ์นี้ยังทำให้เกิดความกังวลถึง ‘Plaza Accord 2.0’ โดย จู วัง หัวหน้าฝ่าย FX และอัตราดอกเบี้ยภูมิภาคจีนของ BNP Paribas ระบุว่า “สกุลเงินของประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงมีความเสี่ยงต่อความกลัวเรื่อง ‘Plaza Accord 2.0’ มากที่สุด และดอลลาร์ไต้หวันก็อยู่ในอันดับต้นๆ ของรายการนี้” โดย Plaza Accord คือข้อตกลงในปี 1985 ที่กลุ่ม G5 ตกลงลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินมาร์คเยอรมันและเยนญี่ปุ่น

 

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่ามีโอกาสที่สกุลเงินในเอเชีย รวมถึงดอลลาร์ไต้หวัน จะแข็งค่าขึ้นได้อีก โดยคาดว่ามาตรการภาษีของทรัมป์อาจส่งผลกระทบย้อนกลับต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง และสัญญาณความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน อาจช่วยฟื้นฟูการค้าในภูมิภาคและหนุนอุปสงค์ต่อสินทรัพย์เอเชีย 

 

คริสโตเฟอร์ หว่อง นักกลยุทธ์ค่าเงินของ OCBC Bank กล่าวว่า “โมเมนตัมการแข็งค่าของดอลลาร์ไต้หวันอาจดำเนินต่อไปได้ หากทิศทางการลดความตึงเครียดทางการค้ายังคงอยู่ และหากผลกระทบของภาษีต่อการเติบโตสามารถจัดการได้ดีกว่าที่กังวล การที่ดอลลาร์ไต้หวันเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้นอาจเป็นประโยชน์ระหว่างการเจรจาการค้า”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising