จะเรียกว่าเป็นเรื่องเล็กที่ถูกทำให้เป็นเรื่องใหญ่คงไม่ผิดนัก สำหรับกรณีดราม่าที่เกิดขึ้นในร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งที่ลูกค้าสาวชาวไต้หวัน 2 คนรู้สึกไม่พอใจการบริการ และปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ซึ่งเรื่องคงจบแค่ตรงนั้นถ้าทั้งสองฝ่ายไม่โพสต์คลิปวิดีโอประจานการกระทำของกันและกันในโลกโซเชียล
แต่เรื่องกลับไปไกลกว่าที่คิด จนสำนักข่าวในไทยและในเอเชียหลายแห่งหยิบยกไปเล่น เหตุเพราะคู่กรณีชาวไต้หวันเป็นผู้ประกาศข่าวทีวีชื่อดังที่มีผู้ติดตามนับแสน เช่นเดียวกับเจ้าของร้านเสริมสวยที่มีจำนวนแฟนๆ ที่ติดตามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
แม้จะเป็นเรื่องวิวาทเล็กๆ ในร้านเสริมสวยที่มีผู้เกี่ยวข้องไม่กี่คน แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลกลับลุกลามไปไกลถึงคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ตามมาด้วยการ ‘เหมารวม’ และเข้าใจไปว่านี่คือธรรมชาติที่แท้จริงของคนไต้หวันที่คนไทยอาจไม่เคยรู้
ความเข้าใจเช่นนี้เองในฐานะนักแปลและล่ามที่คลุกคลีและร่วมงานกับคนไต้หวันมานาน อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี จึงต้องออกมาโพสต์สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับคนไต้หวัน และนี่คือสิ่งที่คนไทยควรจะต้องเรียนรู้
คนไต้หวันไม่มีวัฒนธรรม ‘ชักดาบ’
สิ่งที่อนุรักษ์มองเห็นได้อย่างชัดเจนจากดราม่าครั้งนี้คือ กรณีนี้เป็นเพียงความเข้าใจผิดจากการสื่อสาร และไม่ใช่ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมอย่างแน่นอน และประเด็นที่ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจอย่างมากในฐานะผู้ประสานงานด้านวัฒนธรรมที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของทั้งสองประเทศคือการที่คนไทยหลายคนปักใจเชื่อว่า คนไต้หวันมีนิสัย หรือธรรมเนียมปฏิบัติแบบนี้เหมือนกันทั้งประเทศ
“หลายคนพูดทำนองว่าจะลองไปใช้วิธีนี้ในไต้หวันดูบ้าง ถ้าไม่พอใจก็ร้องเรียน แล้วไม่ต้องจ่ายเงิน แม้เราจะรู้ว่าเขาพูดประชด แต่นี่คือความเข้าใจผิด และเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของกันและกันผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์”
ถามว่าคนไต้หวันเป็นคนอย่างไร อนุรักษ์ตอบว่า วัฒนธรรมไต้หวันเป็นวัฒนธรรมสากล ที่ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง อาจจะดีกว่าจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ไม่ชัดเจนเท่าคนญี่ปุ่น ซึ่งมองว่าหากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในไต้หวันก็คงเป็นไวรัลในโลกออนไลน์เช่นกัน
“คนไต้หวันส่วนใหญ่น่ารัก ต้องดูกันเป็นรายบุคคล เขามีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบช่วยเหลือคนอื่น เนื่องจากประเทศเขาเพิ่งเปิดในเรื่องของวัฒนธรรมการท่องเที่ยวไม่นาน ด้วยวัฒนธรรมของเขาจะมีกึ่งๆ ความเป็นญี่ปุ่นผสมกับจีนนิดหน่อย เพราะเขาเคยอยู่ใต้อาณัติการปกครองของทั้งจีนและญี่ปุ่น แต่ความชาตินิยมของเขาก็พยายามจะเอาตัวเองออกห่างจากจีน เขาจึงมีความไม่เหมือนคนจีนค่อนข้างมาก นี่คือความเป็นคนไต้หวันเท่าที่เราได้สัมผัสมา”
นอกจากนี้อนุรักษ์ยังยืนยันว่าเรื่องนี้คือนิสัยส่วนบุคคล และไม่อยากให้เหมารวมว่านี่คือสิ่งที่คนไต้หวันทำกันจนกลายเป็นวัฒนธรรม
“เคสนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล แล้วเรื่องก็จบตั้งแต่ต่างฝ่ายต่างขอโทษและจับมือกันถ่ายรูปแล้ว แต่ไม่จบเพราะมีบางเพจทำคลิปแล้วใช้คำว่าเป็นความเข้าใจผิดทางวัฒนธรรม แต่ประเด็นก็คือไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ในไต้หวันแน่นอน แล้วมันกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ก้าวข้ามเรื่องของคู่กรณีไปแล้ว คนก็วิพากษ์วิจารณ์กันสนุกสนานว่าคนไต้หวันเป็นแบบนั้น คนไทยเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่จริงๆ มันไม่มีอะไรเลย”
คนไต้หวันไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้
เช่นเดียวกับสังคมโลกออนไลน์ในบ้านเราที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหมู่คนไต้หวัน ซึ่งจากการสำรวจกระแสโซเชียล อนุรักษ์ให้ข้อมูลว่า สาวชาวไต้หวันสองคนกำลังถูกคนไต้หวันพิพากษาไม่ต่างจากคนไทย
“ตอนนี้ในไต้หวันเองก็กำลังกระพือข่าวนี้ และสองคนนี้ก็กำลังถูกคนไต้หวันด่าเละอยู่เหมือนกัน สำนักข่าวมาเลเซีย จีน สิงคโปร์ ก็เล่นข่าวนี้กันหมด เพราะถือเป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของคนไต้หวันเสื่อมเสีย เขาบอกถึงขั้นว่าเป็นการเอาวัฒนธรรมห่วยแตกของตัวลูกค้าเองมาใช้ที่เมืองไทย สังเกตว่ากระแสตีกลับอย่างเดียวเลย ไม่มีใครเข้าข้างเขา ซึ่งทางต้นเรื่องก็โพสต์ขอโทษโดยบอกว่าเป็นการเข้าใจผิด”
นอกจากนี้ยังมีคนไต้หวันจำนวนมากที่พยายามมาอธิบายให้คนไทยเข้าใจในคอมเมนต์ของคลิปวิดีโอต่างๆ ซึ่งอนุรักษ์ยืนยันว่าคนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าข้าง หรือเห็นด้วยกับการกระทำของผู้หญิงสองคนนี้ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิด และทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสื่อมเสีย
“เราอยากให้ทั้งสองประเทศมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน ไม่อยากให้เรื่องนี้ลุกลามจนกลายเป็นการเหมารวม เพราะนี่คือวัฒนธรรมส่วนตัว ไม่ใช่วัฒนธรรมของชาวไต้หวันแน่นอน” อนุรักษ์ทิ้งท้าย