วันนี้ (28 มิ.ย.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) เปิดตัวโครงการสนับสนุนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี 2020: การสร้างความยั่งยืนผ่านกลไกทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย (NDC Support) มุ่งมั่นผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่กำหนดภายใต้ความตกลงปารีส
โดยมีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างกลไกทางการเงินเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีรัฐบาลเยอรมนีและสวีเดนให้การสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี รวมถึงการตั้งเป้าจัดทำกรอบการบริหารจัดการกลไกทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบูรณาการ อีกทั้งจะเพิ่มขีดความสามารถให้ทุกภาคส่วนมีการปรับตัวและรับมือกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม หรือสภาพอากาศร้อนจัด
จากรายงานขององค์กร Germanwatch ได้ระบุว่าประเทศไทยติดอันดับ 10 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุดในโลกในปี 2019 นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่การเกษตรกว่า 60% หรือประมาณ 90 ล้านไร่มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะฝนแล้งหรือน้ำท่วม ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการพัฒนาและการเติบโตของประเทศไทย
พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการ สผ. กล่าวแสดงความเห็นและเผยอีกว่าประเทศไทยได้มีการบูรณาการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบายและแผนพัฒนาของประเทศทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 รวมถึงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593
“ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มขีดความสามารถในการฟื้นตัวจากภาวะโลกร้อน”
ทั้งนี้การที่ประเทศไทยจะรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้นั้นจำเป็นต้องวางแผนดำเนินการให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อบูรณาการให้เกิดกลไกทางการเงินที่เป็นระบบสำหรับการจัดการปัญหาและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โครงการ NDC Support จึงตั้งเป้าที่จะริเริ่มการนำมิติทางสังคมและความเท่าเทียมทางเพศมาใช้ในการวางแผนงบประมาณภาครัฐที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้จะให้มีการประเมินมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่กระตุ้นให้เอกชนลงทุนในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือระยะยาวระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต
ขณะเดียวกัน เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่าเยอรมนีเป็นพันธมิตรกับไทยในระดับทวิภาคีในด้านการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการขยะ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มาตรการป้องกันน้ำท่วม หรือแม้กระทั่งการผลิตตู้เย็นประหยัดพลังงาน ที่ผ่านมาเยอรมนีให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่ไทยในการดำเนินโครงการในระดับทวิภาคีกว่า 60 ล้านยูโร
รวมถึงความตั้งใจที่จะสนับสนุนต่อไปในอนาคต และการให้ความสำคัญกับงบประมาณเป็นเรื่องจำเป็น แม้จะมีนักวิจารณ์หลายคนมองว่าการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป แต่ผมคิดว่าการไม่ทำอะไรเลยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพวกเราและคนรุ่นต่อไปมากกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม การเน้นย้ำให้มีการจัดการปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบบูรณาการ นอกจากจะทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มขีดความสามารถในการฟื้นตัวแล้วยังมีผลดีต่อความมั่นคงของประเทศไทยในอนาคตโดยรวมอย่างยั่งยืน
“ปัญหาโลกร้อนไม่ได้เป็นปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่คือความท้าทายที่ทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน ถ้าทุกคนร่วมมือกันกันอย่างจริงจัง เราจะสามารถทำให้เป้าหมาย NDC ประสบความสำเร็จได้ ผมมั่นใจว่าโครงการ NDC Support จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความร่วมมือกันในอนาคตเพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขภาวะโลกร้อน รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พิรุณกล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์