×

ญาติห่างๆ ของไดโนเสาร์กินเนื้อ ‘ทีเร็กซ์’ เคยอาศัยอยู่ในดินแดนไทยเมื่อ 145 ล้านปีก่อน

โดย Mr.Vop
13.07.2024
  • LOADING...
ไดโนเสาร์

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และพิพิธภัณฑ์สิรินธร พบฟอสซิลที่เป็นฟัน ไดโนเสาร์ กินเนื้อจำนวน 3 ซี่ จากแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นับอายุย้อนหลังไปไกลถึง 145 ล้านปี

 

ฟันทั้ง 3 ซี่นี้มีลักษณะเป็นซี่ฟันที่แยกต่างหากออกจากฟันซี่อื่นๆ (Fossil isolated teeth) ของเทโรพอด ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อจำพวกซอริสเชียน (สะโพกกิ้งก่า) ที่มีชีวิตอยู่บนโลกเราตั้งแต่ยุคจูราสสิก ถือเป็นบรรพบุรุษห่างๆ ของไดโนเสาร์ทีเร็กซ์อันโด่งดัง

 

ไดโนเสาร์ในกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มไทแรนโนซอรอยเดีย “พวกมันอาศัยอยู่ในมหาทวีปลอเรเซียเป็นหลักตลอดยุคจูราสสิกตอนกลางมาจนถึงช่วงปลายยุคครีเทเชียส” ดร.ฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา หนึ่งในทีมงานผู้ค้นพบอธิบาย

 

“ไทแรนโนซอรัสในเอเชียส่วนใหญ่พบในจีนและมองโกเลีย โดยฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดในกลุ่มไทแรนโนซอรอยเดียนั้นจะมีอายุอยู่ในช่วงกลางยุคจูราสสิก และถูกค้นพบในพื้นที่ยุโรปมาจนถึงเอเชีย บ่งบอกว่าพวกมันมีต้นกำเนิดอยู่ในบริเวณนี้”

 

 

ฟันฟอสซิลที่ค้นพบใหม่มีลักษณะเฉพาะที่บ่งบอกว่าไม่ใช่ฟันของไดโนเสาร์ชนิดใดที่เคยค้นพบมาก่อนหน้านี้ ทางทีมงานผู้ค้นพบระบุว่า น่าจะอยู่ในยุคทิโทเนียน ซึ่งจะเป็นระยะเวลาประมาณปลายยุคจูราสสิก ก่อนจะเข้าสู่ยุคครีเทเชียส หรือถ้าจะนับเป็นปีก็ถือว่าเก่าแก่ถึง 145 ล้านปีเลยทีเดียว

 

ไดโนเสาร์

 

บริเวณภูน้อย ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมวดหินภูกระดึง ถือเป็นหนึ่งในแหล่งขุดค้นสัตว์มีกระดูกสันหลังในยุคโซโซอิกที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ทีมงานอธิบาย

 

มีผู้พบฟอสซิลของสัตว์โบราณมากมายที่ไม่ใช่ไดโนเสาร์ บ่งบอกว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นแหล่งน้ำโบราณ เพราะมีทั้งซากฉลามน้ำจืด ปลากระเบน ปลาปอด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ําหลายชนิดไปจนถึงเต่าและจระเข้”

 

สำหรับไดโนเสาร์นั้น เคยมีผู้พบฟอสซิลไดโนเสาร์มาก่อนหน้านี้ถึง 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ‘เมไตร แอโครแคนโทซอรัส’ ซึ่งเป็นเทโรพอดหรือไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ‘มาเมนชีซอรัส’ ไดโนเสาร์กินพืชที่คอยาวที่สุด และ ‘มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส’ ไดโนเสาร์กินพืชสะโพกนกขนาดเล็ก ที่มีข่าวไปก่อนหน้านี้

 

แต่ฟอสซิลฟันเทโรพอด 3 ซี่จากบริเวณภูน้อยที่ทีมงานพบล่าสุดนั้น แสดงลักษณะทางทันตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสามารถแยกความแตกต่างจากเมไตร แอโครแคนโทซอรัส ไดโนเสาร์กินเนื้อที่ค้นพบก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน มันมีลักษณะแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับ ‘โปรเซราโทซอรัส แบรดลีย์’ ซึ่งเป็นไทแรนโนซอรอยด์ที่เคยพบฟอสซิลในยุโรปมากกว่า

 

การค้นพบฟอสซิลฟันไดโนเสาร์กินเนื้อในกลุ่มไทแรนโนซอรอยด์ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการค้นพบไดโนเสาร์กลุ่มนี้เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังอธิบายได้ถึงนิเวศวิทยาบรรพกาลของหมวดหินภูกระดึงตอนล่างของไทย ไปจนถึงการกระจายตัวเชิงชีวภูมิศาสตร์บรรพกาลของไดโนเสาร์กลุ่มไทแรนโนซอรอยด์ในช่วงยุคจูราสสิก และโอกาสที่จะพบฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ๆ ในอนาคตที่บริเวณแหล่งขุดค้นนี้อีกด้วย

 

ทีมงานตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบครั้งนี้ลงในวารสาร: https://li01.tci-thaijo.org/index.php/tnh/article/view/261261

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising