×

‘ฟรังก์สวิส’ ไม่สามารถรักษาสถานะ Safe Haven ได้ในช่วงเกิดวิกฤต Credit Suisse

26.03.2023
  • LOADING...

ฟรังก์สวิสไม่สามารถรักษาสถานะสกุลเงินปลอดภัย (Safe Haven) ไว้ได้ ระหว่างการล่มสลายของธนาคาร Credit Suisse เนื่องจากนักลงทุนต่างแห่ไปหาที่หลบภัยอื่น

 

นักลงทุนแห่ทิ้งเงินฟรังก์สวิสซึ่งเคยขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสกุลเงินปลอดภัยของโลก ในอัตราที่เร็วสุดในรอบ 2 ปี ทำให้ฟรังก์สวิสอ่อนค่าลง 0.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ในช่วงสัปดาห์ที่นำมาสู่การเทกโอเวอร์ Credit Suisse โดย UBS


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยในสัปดาห์เดียวกัน เงินเยนของญี่ปุ่นซึ่งถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งหลุมหลบภัย แข็งค่าขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่เกิดปัญหาขึ้นที่ Silicon Valley Bank เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เงินเยนแข็งค่าขึ้นมากกว่า 5.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์

 

หลังจากวันที่ 19 มีนาคม ธนาคารกลางแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) ได้จัดทำข้อตกลงมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ เพื่อให้ UBS ซื้อคู่แข่งอย่าง Credit Suisse โดยมีหลักประกันสูงถึง 2.6 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีรัฐบาลและธนาคารกลางหนุน (Back)

 

Kirstine Kundby-Nielsen นักวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จาก Danske Bank กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของฟรังก์สวิสเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในภาคการธนาคารอย่างแน่นอน

 

พร้อมกล่าวเสริมว่า เงินฟรังก์สวิสยังคงมีคุณสมบัติการป้องกันความเสี่ยงและเป็นหลุมหลบภัยในบางแง่มุม แต่ฟรังก์สวิสได้รับผลกระทบอย่างมากเมื่อความเสี่ยงนั้นกระจุกตัวอยู่ในเศรษฐกิจและภาคการเงินของสวิตเซอร์แลนด์

 

ด้าน Francesco Pesole นักกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจาก ING กล่าวว่า ถ้าไม่ใช่ Credit Suisse แต่เป็นธนาคารในยุโรปแห่งอื่นๆ ที่ประสบปัญหา คุณคงเห็นเงินฟรังก์สวิสพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วไปแล้ว เพราะฟรังก์สวิสจะเป็นที่หลบภัยสำหรับความเสี่ยงในยุโรป

 

ขณะที่ Michael Cahill นักกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนอาวุโสของ Goldman Sachs กล่าวว่า ฟรังก์สวิสไม่ใช่หลุมหลบภัย ‘สำหรับทุกสภาพอากาศ’ และจนถึงตอนนี้เรายังไม่ได้รับแรงกดดันจากตลาดที่จะนำไปสู่การแข็งค่าของฟรังก์สวิส

 

ฟรังก์สวิสเคยผ่านมาหลายวิกฤต

 

จากการวิจัยของ SNB ในปี 2016 พบว่า ในวิกฤตการณ์ครั้งก่อนๆ Flow จะหลั่งไหลเข้าสวิตเซอร์แลนด์และฟรังก์สวิส โดยข้อมูลฟิวเจอร์สแสดงให้เห็นว่า นักเก็งกำไรได้เทเงินลงในการเดิมพันแบบขาขึ้นสำหรับฟรังก์สวิส ทั้งหลังจากเกิดเหตุฟองสบู่ดอทคอมแตกในช่วงต้นปี 2000, หลังจากเหตุ 9/11 ในปี 2001, เหตุวิกฤตการเงินในปี 2008, เหตุวิกฤตหนี้ยูโรโซนในปี 2011-2012 และวิกฤตโควิด-19

 

ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานของสวิตเซอร์แลนด์ในด้านความเป็นกลางทางการเมือง ไปจนถึงการผนวกรวมเศรษฐกิจโลกอย่างแข็งขัน ยังช่วยให้ประเทศกลายเป็นแหล่งพักพิงในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูงขึ้น

 

แนวโน้มนี้ยังถูกพิสูจน์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 เมื่อฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้น 5% เมื่อเทียบกับเงินยูโรในช่วง 2 สัปดาห์ หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน

 

ฟรังก์สวิสยังคงเป็น Safe Haven

 

แม้ฟรังก์สวิสจะสูญเสียความชื่นชอบจากหมู่นักลงทุนในช่วงวิกฤตที่มีสวิตเซอร์แลนด์เป็นศูนย์กลาง แต่ทีมนักกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนของ Barclays นำโดย Lefteris Farmakis มองว่าการที่เงินฟรังก์สวิสจะสูญเสียสถานะเป็นหลุมหลบภัย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นฐานในงบดุลของประเทศ โดยสัดส่วนของสินทรัพย์ที่ออกโดยสวิตเซอร์แลนด์ในมูลค่าหนี้สินต่างประเทศ (External Liabilities) จะต้องลดลง และเผชิญกับการไหลออกครั้งใหญ่อย่างยั่งยืน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X