“มันหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ทางก็ต้องขายใช้หนี้เขาไป มันไม่เหลืออะไรแล้ว ทำมาทั้งชีวิต” จินตนา แจ่มจำรัส เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในวัย 70 กว่าปี บอกเล่าระหว่างพาชมฟาร์มสุกรที่ร้างมากว่า 2 ปี หลังจากที่สุกรในฟาร์มติดเชื้อที่จินตนาเชื่อว่าเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตายไปหลายตัว จนต้องทยอยนำสุกรออกจากฟาร์ม และยุติการเลี้ยงสุกร นำที่ดินที่เคยซื้อไว้ไปขายเพื่อใช้หนี้ธนาคาร
จินตนาเริ่มประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรตั้งแต่อายุ 17 ปี กว่า 50 ปีบนเส้นทางอาชีพเลี้ยงสุกรต้องเผชิญกับการระบาดของโรคหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่ต้องปล่อยให้ฟาร์มสุกรร้างยาวนานขนาดนี้
จินตนาเล่าย้อนกลับไปราวๆ ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 ถึงการมาของโรค ASF ในสุกรที่เข้ามาระบาดในฟาร์มของเธอว่า “หมอที่ขายยาเกี่ยวกับฟาร์ม (สุกร) เขาก็จะบอก มาถึงตรงนั้นแล้วนะ ตรงนี้แล้วนะ ป้าต้องระวัง ต้องฆ่าเชื้อ ต้องจุ่มเท้า นกไม่ให้เข้า ป้าก็คลุมหมด ระวังทุกอย่าง”
ทว่าทั้งหมดที่เธอพยายามระวังเอาไม่อยู่ เมื่อลูกสุกรในฟาร์มเริ่มตายติดต่อกันทุก 2-3 วัน โดยมีจุดสังเกตสำคัญคือตัวจะม่วงเหมือนโรคเพิร์ส หรือ PRRS ก่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคนใกล้ชิดจะนำสุกรในฟาร์มที่ตายไปตรวจ ก็พบว่าติดเชื้อ ASF จริง แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการเก็บเอกสารยืนยันไว้
ขณะที่ จำรัส เอี้ยงเจียม เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยอีกรายในจังหวัดนครปฐม ประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรมาตั้งแต่ปี 2539 ก็โดนผลกระทบในลักษณะเดียวกัน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับฟาร์มของเธอเร็วมาก แม้จะพยายามป้องกันอย่างดี แต่แล้วชะตากรรมก็ไม่ต่างจากเพื่อนร่วมอาชีพในละแวกเดียวกัน
จำรัสสะท้อนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ขณะนี้ยังไม่มีการยอมรับว่ามีการระบาดของโรค ASF และยังไม่มีแนวทางการรับมือช่วยเหลือเกษตรกรสั้นๆ ว่า “อย่างป้าตอนนี้ไม่กระทบ เพราะไม่มีเงินจะเลี้ยงแล้ว แต่คนอื่นที่เขาต้องการเลี้ยงอยู่ก็อาจจะกระทบ”
ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม แทบจะไม่มีผู้ประกอบอาชีพทำฟาร์มสุกรแล้ว ทำให้สุกรฟาร์มจากผู้ประกอบการรายย่อยขาดตลาด ทั้งนี้จินตนาและจำรัสประกอบอาชีพปลูกผักและทำสวนเพื่อให้พอมีรายได้จุนเจือ แม้จะมีลูกที่ส่งเงินมาให้ใช้จ่ายบ้าง แต่ทั้งคู่ยังยืนยันอยากกลับไปเลี้ยงสุกรเช่นเดิม เพียงแต่ต้องการมาตรการของรัฐบาลที่ชัดเจนในการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ส่วนเรื่องการกู้เงินนั้นไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรรายย่อยมากนัก